จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๑๓) พรรษาประวัติศาสตร์ (ปี ๒๕๖๕) .. ณ นครตักศิลา

  • สู่ .. ร่องรอยอารยธรรมพุทธศาสนา ในอาณาจักรกุษาณะ (เปศวาร์/ปุรุษปุระ)

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... จากที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้ว... อัศวโฆษ เป็นกวีเอก เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.๕๐๐ เศษ ในสกุลพราหมณ์ แต่ละทิ้งสกุลมาบวชเป็นสงฆ์ในพุทธศาสนานิกาย สรวาสติวาทิน (นิกายที่ดัดแปลงเล็กน้อย) ความเป็นนักปราชญ์เอกมีคารมคมคาย จึงได้เอาเรื่องพุทธประวัติมาแต่งให้เป็นนิทานที่สนุกตื่นเต้นเร้าใจ บทกวีที่ไพเราะเรื่องแรกให้ชื่อว่า “พุทธจริต” เป็นภาษาสันสกฤต เรื่องที่สองแต่งเป็นทำนองนิยายรักแทรกคติธรรม ชื่อว่า “เสานทรานนท์กาพย์” เป็นเรื่องระหว่างหนุ่มรูปหล่อชื่อนนทะพุทธอนุชา กับสาวงามสุนทรีคู่หมั้นที่ต้องเลิกร้างกันทั้งรัก เพราะพระพุทธองค์นำเอานนทะไปบวชเสียในวันที่จะแต่งงานนั้นเอง ต่างฝ่ายต่างก็เศร้าโศกคร่ำครวญจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ พระพุทธองค์จึงพานนทะไปชมนางฟ้าบนสวรรค์ที่สวยงามกว่านางสุนทรีคู่หมั้น ทำให้นนทะคลายความคิดถึงคู่หมั้นลง จึงมุ่งหน้าบำเพ็ญเพียรศีล, สมาธิ, ปัญญา หวังว่าเมื่อตายแล้วเกิดใหม่จะได้ขึ้นสวรรค์ได้พบกับนางฟ้า ในที่สุดพระอานนท์มาเตือนสติว่าการขึ้นสวรรค์นั้นยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงเท่าพระนิพพาน พระนนทะได้สติจึงไปทำความเพียรในป่าจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เตรียมการจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน (หมายถึงนิพพานตาย) แต่พระพุทธองค์มาขอร้องไว้อย่าเพิ่งนิพพาน (ตาย) ขอให้ช่วยบำเพ็ญศีลของ พระโพธิสัตว์ เทศนาสั่งสอนมหาชนจนกว่าจะเป็นสุขทั่วโลก พระนนทะพุทธอนุชาก็รับคำด้วยความเต็มใจ นับว่าเป็นต้นเค้าของนิกายมหายานที่ถือเอา พระโพธิสัตว์ เป็นบุคคลสำคัญของลัทธิจึงเรียกกันว่า “โพธิสัตว์ยาน”

บทประพันธ์เรื่องที่ ๓ ชื่อ สูตราลังการ ชักชวนหญิงให้ไปนิพพาน ยกพระนางโคตมีพุทธมาตุจฉา เป็นตัวอย่าง อ้างเอาคัมภีร์ของศาสนาไชนะ ศาสนาพราหมณ์ไว้ในเรื่องนี้ เปรียบเทียบเป็นทำนองชักชวนให้ผู้นับถือศาสนาไชนะและพราหมณ์เข้ามานับถือพุทธศาสนา ซึ่งก็ได้ผลดีมีมหาชนนิยมสนับสนุน ทำให้พุทธศาสนาแบบใหม่หรือแบบปฏิรูปเป็นมหายานอย่างนี้อยู่ในอินเดียได้อย่างปลอดภัย และเมื่อผู้หญิงเลื่อมใสศรัทธาก็สะดวกเรื่องอาหารบิณฑบาต

นอกจากบทประพันธ์อันเลื่องลือทั้ง ๓ เรื่องนั้นแล้ว อัศวโฆษยังแต่งพระสูตรและคัมภีร์อันเป็นต้นเค้าของพุทธศาสนามหายาน นำไปขยายกิ่งก้านสาขาในอนาคตได้มากมาย แต่ถึงจะเอาใจพราหมณ์เพียงใด ก็ยังมีการโจมตีการแบ่งชั้นวรรณะของพราหมณ์อยู่ด้วย

ในยุคอัศวโฆษนี้ ทำให้เกิดยุคเรื่องจริงอิงนิยายที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาขึ้นตามมามากมาย ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาต่างๆ เช่น ในภาษาเยอรมัน ได้ทราบว่ามีมาก เช่น เรื่องกามนิตกับวาสิฏฐี ที่เราเคยอ่านจากภาษาไทย เป็นต้น อ่านสนุกจนบางคนเชื่อว่าเรื่องจริง

นาคารชุน เกิดขึ้นภายหลังอัศวโฆษ ราว ๑๐๐ ปีเศษ เป็นพราหมณ์โดยกำเนิด บ้านเกิดอยู่ในอินเดียภาคใต้ ศึกษาแตกฉานไตรเภทแล้ว ที่เข้ามาบวชในพุทธศาสนาก็โดยความจำใจ เพราะความเป็น Play boy นัยว่ามีวิทยากลหรืออุบายเล่ห์กลที่อ้างว่าหายตัวได้ แอบเข้าไปในฮาเร็มแล้วพลาดท่าถูกจับได้ พระราชาจะลงทัณฑ์สถานหนัก นาคารชุนขอร้องให้ลงทัณฑ์สถานเบา คือทำทัณฑ์บนไว้ว่าจะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก และยอมสละเพศวรรณะพราหมณ์อันสูงขอไปบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา โกนหัวโล้นห่มผ้าเหลืองเป็นการไถ่โทษ พระราชาเป็นผู้ใจบุญเห็นแก่พุทธศาสนาจึงยอมตามคำขอ นาคารชุนจึงบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา โดยลักษณะการแปลกประหลาดอย่างนี้ทั้งที่ไม่เคยเลื่อมใสมาก่อน แต่ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาเล่าเรียน อาศัยที่เป็นคนฉลาดหลักแหลม จึงจับจุดเด่นจุดแปลกของพุทธศาสนาได้ว่าคือหลักอนัตตา ซึ่งอนัตตานั้น หมายถึงว่า อัตตานั้นมีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่ให้มองด้วยปัญญาว่า มันไม่เที่ยงแท้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คือ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นอัตตาเที่ยงแท้ จะทำให้เกิดความทุกข์ใจ แต่คงเป็นการยากที่จะอธิบายหลักอนัตตาที่แท้จริงให้มหาชนที่ยึดอัตตาแน่นแฟ้นให้เข้าใจได้ แกจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ เรียก ศูนยตา ตั้งนิกายพุทธศาสนามหายานขึ้นใหม่ว่านิกายศูนยวาท (Shunayavada) สอนประชาชนว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกย่อมเป็นของศูนย์ ปฏิเสธภาวะความมีความเป็นของมันโดยเด็ดขาด ถ้าแยกออกแล้วไม่มีตัวตนจริงๆ แต่ที่เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นนั่น เป็นนี่ เพราะการปรุงแต่งด้วยเหตุด้วยปัจจัย เมื่อหยุดปรุงแต่งสิ้นเหตุสิ้นปัจจัย ทุกสิ่งก็ศูนย์หมด หลักการของนิกายศูนยวาทนี้ใช้ได้ทุกระดับ ไม่ว่าโลกียธรรมหรือโลกุตตรธรรม

เมื่อเริ่มประกาศหลักการใหม่อย่างนี้ มหาชนแตกตื่นกันมาก เพราะค้านกับหลักอัตตาเที่ยงแท้ เวียนว่ายตายเกิดของพราหมณ์อย่างตรงกันข้าม เพราะเกิดทำให้คนเชื่อใหม่ว่าตายแล้วศูนย์ แต่สำหรับเราชาวพุทธที่เข้าใจหลักอนัตตา อาจหยิบฉวยเอาหลักการของนาคารชุนมาประยุกต์เข้ากับของเราได้ ถ้าหากว่า ศูนยตานั้น หมายถึง การสูญสิ้นไปแห่ง อหังการมมังการ (ตัวกู-ของกู) ซึ่งทำให้อุปาทานขันธ์ (ตัวทุกข์รวบยอด) นั้นดับไป คำว่าศูนยตาวิหารในบาลีนั้นหมายความว่าอย่างนี้

แต่ในสมัยนาคารชุนนั้น ในอินเดียคงหาพระเถระฝ่ายพุทธศาสนาที่เข้าใจหลักอนัตตาได้ยาก ถึงแม้ว่าในชั้นต้นมหาชนตื่นเต้นในนิกายศูนยวาท แต่เมื่อถูกพราหมณ์ต่อต้านหนักเข้า นาคารชุนจึงเปลี่ยนชื่อนิกายเสียใหม่ว่า นิกายมัธยะมิกะ เลี่ยงไปว่าเป็นสายกลาง โดยอิงคำว่าทางสายกลางของ มรรคมีองค์ ๘ แล้วอธิบายเสียใหม่ว่า คนที่ตายแล้ววิญญาณหรืออัตตาย่อมไปรวมอยู่กับ บรมศูนยตาของโลก ทำนองเดียวกับ ลัทธิไชนะที่สอนว่า คนตายแล้ววิญญาณหรืออัตตาจะไปรวมอยู่กับบรมอัตตา ของโลก แต่ที่ตั้ง บรมศูนยตา ขึ้นมาใหม่ ก็ เพื่อผ่อนคลายมติเดิมที่ว่าตายแล้วสูญสิ้น เป็นว่าตายแล้วยังไม่สูญสิ้น ยังจะต้องไปรวมกับบรมศูนยตาของโลกอีกทีหนึ่ง จะได้อธิบายเรื่องกรรมดีกรรมชั่วได้ ไม่ขาดสูญเสียทีเดียว แต่แล้วก็ศูนย์ในที่สุด

ในชั้นแรกเมื่อตั้งนิกายศูนยวาทขึ้นนั้น เมื่อถูกพราหมณ์ต่อต้านเข้า แกก็หาทางต่อสู้ โดยแต่งเป็นนิทานขึ้นว่า ปรัชญาศูนยวาท นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พญานาคแล้ว พญานาคซึ่งมีอายุยืนมากเก็บรักษาพุทธวจนะไว้ (คงท่องจำไว้) รอเวลาจนเมื่อ นาคารชุนอุบัติขึ้นตามพุทธทำนาย หลังพุทธกาลราว ๕๐๐ ปี เพื่อให้นาคารชุน ซึ่งเป็นเทพเจ้าอวตารลงมาเป็นมนุษย์เพื่อสอนชาวโลก (เลียนแบบคำสอนของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์ไม่กล้าค้าน) จึงทำให้พวกพราหมณ์เองก็หลงเชื่อนิทานของนาคารชุนกันไปพักใหญ่

แต่สำหรับปัญญาชนอย่างพวกเรา เมื่อเราพิจารณาชื่อของนาคารชุนจะเห็นว่าเป็นคำสนธิกันระหว่าง นาค-อาคาร-อรชุน ซึ่งอรชุนเป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งในอินเดีย พ่อของนาคารชุน ตั้งชื่อลูกชายให้ชื่อว่า เจ้านาค ที่เกิดในบ้านใต้ต้นไม้อรชุนนั่นเอง นาคารชุนเป็นคนฉลาดหลักแหลม จึงผูกนิทานให้เกี่ยวข้องพญานาคที่มีฤทธิ์ คนจะได้เกรงกลัว และเห็นว่าแกเป็นคนสำคัญ ครั้นมีคนหัวหมอไปซักถามว่า ทำไมพญานาคจึงไม่สอนประชาชนเสียเอง เฉยอยู่ได้ตั้ง ๕๐๐ ปี แกก็แก้ว่า พญานาคมีฤทธิ์มาก คนกลัว และสอนไม่เก่ง อธิบายไม่เป็น ได้แต่จำไว้เป็นนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น จึงต้องรอตัวแกซึ่งเป็นเทวดามาเกิดตามคำบัญชาของเทพเจ้าสูงสุดบนสวรรค์ พราหมณ์ก็ต้องจำนนไม่กล้าซักต่อไปว่าแล้วทำไมเทพเจ้าบนสวรรค์จึงสั่งให้แกมาเกิด เพราะเทพเจ้ามีฤทธิ์อำนาจหาประมาณมิได้ จะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนเป็น นิกายมัธยะมิก แล้ว คำสอนของนาคารชุนก็ตั้งอยู่ในอินเดียได้ไม่นาน เพราะสู้อิทธิพลพราหมณ์ไม่ได้ นิกายศูนยวาทหรือมัธยะมิกก็ค่อยๆ เสื่อมสูญไปจากอินเดีย กลับไปเจริญงอกงามในจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี ในชื่ออื่นๆ

การที่นาคารชุนตั้งชื่อนิกายของตนว่า มัธยะมิก นั้น มีความหมายที่ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า เป็นนิกายที่ เชื่อมต่อระหว่างพุทธมติดั้งเดิม (เถรวาทิน) กับนิกายก้าวหน้า (มหาสังฆิกะ) แต่ส่วนดีของนาคารชุนนั้นก็มีอยู่ เพราะเมื่อแกบวชเป็นภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาแล้วก็มีความประพฤติเรียบร้อย อยู่ในพระวินัย เป็นผู้สงบระงับ ไม่ข่มขู่ลัทธิอื่น เป็นแต่คิดโฆษณาเรื่องพุทธศาสนาตามแนวความคิดของตัว เพื่อให้ประชาชนสนใจเลื่อมใส ถึงจะผิดแผกแหวกแนวไป ก็ยังดีที่ยัง ไม่มีคำแบ่งแยกเรียกว่าหีนยานกับมหายานในยุคนี้

แต่ครั้งในยุคหลังรุ่นศิษย์นาคารชุน จึงมีการโฆษณาทับถมยกตนข่มท่านกันบ้างตามกิเลสของคน ศิษย์เอกของนาคารชุน ชื่อ เทวะ เป็นนักโต้วาทีที่มีชื่อเสียงสามารถเอาชนะพวกพราหมณ์ได้ทั่วไป ทำให้มหาชนหันมาเลื่อมใสในนิกาย มัธยะมิก เป็นจำนวนมาก ในที่สุด ถูกพราหมณ์ที่ริษยาฆ่าเสียตาย อมตะนิพนธ์ของเทวะชื่อว่า “ศตศาสตร์” หลังจากนั้นศิษย์รุ่นหลังๆ ของนาคารชุนที่สืบต่อ และมีชื่อเสียงที่สมควรกล่าวนามก็คือ อารยะเทพ และ อมเรนทร์ ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดเมื่อถึงยุคมหายานรุ่งเรือง เพราะ ๒ คนนี้แต่งคัมภีร์ใหม่เพิ่มเติมจากปรัชญาของนาคารชุนต้นนิกายอีกมากมาย...”

ในช่วง พ.ศ.๔๐๐-พ.ศ.๗๐๐ นี้ จึงเป็นช่วงของความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาในความเป็นมหายานเริ่มต้น.. จึงได้เห็นศิลปะคันธาระ.. ไม่ว่าการจัดสร้างพระสถูป.. พระพุทธรูป ออกมา.. ให้ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชา..กันมากขึ้น

ดังในห้วงเวลาที่อาตมา (MV.) รับนิมนต์มาที่เมืองเปศวาร์ครั้งนี้ จึงได้ศึกษา ศิลปะคันธาระ ที่พิพิธภัณฑ์เปศวาร์ได้จัดเก็บไว้ เพื่อให้บุคคลที่สนใจได้มาทัศนศึกษา.. ตลอดจนถึงการได้เดินทางไปเยี่ยมชมศาสนสถานโบราณอันเป็นมรดกโลกของพุทธศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยพระเจ้ากนิษกะ.. ราชวงศ์กุษาณะ เช่น การไปเยือนศาสนสถานมรดกโลก “ตักอิบาหิ” (Takht-i-Bahi) เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๕.. ซึ่งพัฒนาไปมากในทุกด้าน ให้เห็นถึงคุณค่าอันดำรงอยู่ของพุทธสถานมรดกโลกตักอิบาหิ (Takht-i-Bahi) แห่งนี้ ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าศึกษา ดังนี้... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่