...แนวคิดปัญหาพระทุศีล .. ในสังคมชาวพุทธ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ข่าวสารแวดวงการเมืองในบ้านเรา กำลังเพิ่มอุณหภูมิขึ้นตามประสาวิถีโลก.. แม้ในแวดวงของศาสนาก็หนีไม่พ้นเรื่องราวข่าวฉาวโฉ่ ไม่น่ายินดีของพระทุศีล “ทุมมังกุ” บางรูป.. ที่ผุดขึ้นมาประปรายไม่ขาดสาย เสมือนพรายน้ำในแม่น้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล ที่ย่อมมีความหลากหลายในสายน้ำนั้น.. อันผู้ตั้งใจบริโภคใช้ประโยชน์ ควรแก่การพิจารณาก่อนจะใช้น้ำในแม่น้ำนั้น..

คำว่า “โมฆบุรุษ” จะปรากฏด้วยทิฏฐิของตนเอง.. ที่ผิดเพี้ยนไปจากสัจธรรม.. ที่วิปริตผิดไปจากธรรม ที่สื่อสารออกมาด้วยการพูด การกระทำ ที่โน้มนำไปทางอกุศลกรรมบถ

คำว่า “กรรมบถ” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นคนประเภทใด..

เมื่อกล่าวถึง.. เรื่องของ กรรม .. ชาวพุทธจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างนี้ มีการนำมาใช้เพื่ออ้างอิงต่อการดำเนินชีวิตตามความรู้ ความเข้าใจ ที่สื่อให้เห็นถึงความเป็นสัตบุรุษหรือโมฆบุรุษ..

สัตบุรุษ.. จะคำนึงถึงกรรม โดยคติ ที่เรียก กรรมคติ

โมฆบุรุษ.. จะคำนึงถึงกรรม โดยความเป็น กรรมลิขิต

คน ๒ ประเภทนี้มีทิศทางที่ต่างกัน แม้เดินทางไปบนหนทางเดียวกัน

จึงได้เห็นการใช้ หลักกรรม ไปในทางที่มีประโยชน์และไร้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของคนเราในสังคม

พระพุทธศาสนามีคำสั่งสอนในเรื่องของกรรมไว้ดังนี้ คือ กรรมเก่า กรรมใหม่ การดับกรรม และวิธีการดับกรรม...

โดยมีธรรมาธิบายเรื่องนี้ว่า..

กรรมเก่า (ปุราณกัมมะ) คือ.. สิ่งที่ได้มาแล้วในอัตภาพนี้ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.. อันควรเห็นเป็น ปุราณกัมมะ (กรรมเก่า) ที่เป็น อภิสังขตะ หมายถึง อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อภิสัญเจตยิตะ หมายถึง อันปัจจัยทำให้รู้สึกขึ้น.. และ เวทนียะ หมายถึง มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้ .. ดังนี้เรียกว่า กรรมเก่า จึงกล่าวได้ว่า สภาพการรับรู้ของคนเราจะแตกต่างกันหรือคล้ายกัน จะมีคุณภาพดีหรือเลว.. กรรมเก่ามีส่วนเป็นต้นทุนชีวิตในเรื่องการรับรู้ต่อความรู้สึกในอารมณ์นั้นๆ...

ในส่วนของ “กรรมใหม่” (นวกัมมะ) นั้น.. คือการกระทำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีต้นทุนมาจากกรรมเก่า ที่แสดงออกด้วยเจตนาแห่งการกระทำทาง กาย วาจา และใจ ในกาลปัจจุบันนั้นๆ.. อันนี้เรียกว่า กรรมใหม่..

ส่วนการ “ดับกรรม” คือการทำกรรมให้หมดเชื้อ.. สิ้นปัจจัยคือกิเลสปรุงแต่ง ที่เรียกว่า “กัมมนิโรธ” ดังกล่าวว่า “ข้อที่บุคคลถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันใด อันนี้เรียกว่า กัมมนิโรธ” ซึ่งต้องเข้าใจในภาษาธรรมชั้นสูงของคำว่า ความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม.. ว่า ดับอย่างไรเป็นสำคัญ!!

เมื่อมี การดับกรรม ก็ต้องมี วิธีการดับกรรม.. นี่เป็นสัจธรรมที่แสดงความจริงในธรรมชาติว่า ไม่มีอะไรบังเอิญเกิดขึ้นมาเองอย่างไม่มีเหตุ.. ไม่มีปัจจัย.. เพราะทุกอย่างเป็น อภิสังขตะ คือ ความมีปัจจัยปรุงขึ้นแต่งขึ้น.. และเมื่อมีปัจจัยปรุงขึ้นแต่งขึ้น ก็ย่อมปรุงให้เกิดความรู้สึกขึ้นได้.. ที่เรียกว่า อภิสัญเจตยิตะ .. เพื่อการรับรู้อารมณ์นั้นๆ ..ได้ ที่เรียกว่า เวทนียะ

วิธีการดับกรรม จึงต้องมุ่งไปสู่การดับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น.. ให้มีขึ้น.. ซึ่งปรากฏมีเฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาเท่านั้นใน วิธีการดับกรรม ที่เป็นจริง พิสูจน์ได้ตามกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า วิธีปฏิบัติเพื่อข้อปฏิบัติเป็นไปเพื่อการดับแห่งกรรม ที่ชื่อ “กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา” ซึ่งก็คือ อริยมรรค อันมีองค์ธรรมแปดประการ ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

ประการสำคัญยิ่ง.. ของการเรียนรู้เรื่อง กรรมเก่า กรรมใหม่ การดับกรรม และวิธีการดับกรรม.. ในพระพุทธศาสนานั้น.. แสดงความเป็นจริงอยู่ข้อหนึ่งว่า เราท่านทั้งหลาย ต้องพึ่งตนเอง มีตนเองเป็นที่พึ่ง และจงพึ่งธรรม.. มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ..

การพึ่งตนเอง .. เป็นความหมายของธรรมเพื่อชีวิต ที่แสดงความยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกอันเสมอกันภายใต้กฎแห่งกรรม.. ว่า.. ทุกคน.. ทุกสัตว์ มีขีดความสามารถพอที่สามารถพึ่งตนเองได้.. ถ้าเรียนรู้เข้าใจ “ธรรม” ที่เป็น สัจธรรม อันถูกยกขึ้นเป็น พระสัทธรรม ในพระพุทธศาสนา ที่แสดงความจริงอันประเสริฐ เรียกว่า อริยสัจธรรม..

ฉะนั้น.. การเรียนรู้เรื่องกรรม.. ในพระพุทธศาสนา.. มีประโยชน์ยิ่งต่อการปลุกเร้าให้ตื่นขึ้นมาขับเคลื่อนชีวิตอย่างมีกำลัง.. มีพลังที่ยิ่งใหญ่ ให้คุณค่ากับธรรม.. มองดูตนเองอย่างมีคุณค่า.. ไม่ดูถูกดูแคลนตนเองว่าอ่อน ด้อย ล้า กว่าใครๆ.. และไม่ยกตนเองว่า ดี เลิศ ประเสริฐ กว่าใครๆ... ด้วยเข้าใจในคุณค่าของทุกชีวิต อันเสมอกันภายใต้กฎแห่งกรรม...

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเรื่องดังกล่าวว่า.....

 “ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้.. นั่นเรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนของเราแก่เธอทั้งหลาย”

จากพระพุทธดำรัสดังกล่าว แสดงให้เห็นความเป็นจริงของพุทธศาสนาว่า.. มีหลักธรรมคำสั่งสอนที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงด้วยตนเอง.. และตนเองต้องเป็นผู้กระทำด้วย “การพึ่งตนเอง.. พึ่งธรรม” เท่านั้น.. ไม่มีใครสามารถทำให้ใครได้.. ดังที่พระพุทธองค์ยังได้ตรัสในเรื่องนี้ว่า

“ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา

ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา”

แปลว่า ท่านทั้งหลายต้องทำความเพียรเอง ตถาคตเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ผู้มีปกติเพ่งพินิจปฏิบัติแล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของมารได้...

จึงสรุปได้ชัดเจนว่า.. กรรมของใคร.. กรรมของผู้นั้น.. ผูกเองก็ต้องแก้เอง.. หากแก้ไม่เป็น ก็ไปเรียนรู้จากผู้รู้ ครูบาอาจารย์ ที่ท่านมีธรรมวิธีแก้ปัญหานั้นๆ ได้จริง.. รับฟังคำสั่งสอน.. เรียนรู้ให้เข้าใจ ปฏิบัติให้ได้จริง.. ก็ย่อมสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ด้วยตนเอง ดังในพระพุทธศาสนาที่สอนวิธีการดับกรรมให้กับมนุษยชาติอย่างเสมอกัน.. ส่วนใครจะดับได้.. ดับไม่ได้นั้น เป็นเรื่องของปัจเจกชน.. บุคคลนั้นๆ...

การเรียนรู้ให้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม.. ตามพุทธวิธีในพระพุทธศาสนา จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อมนุษยชาติทุกหมู่เหล่า เพราะหากคนเราเข้าใจเรื่อง กฎเกณฑ์กรรม จริง ๆ.. แล้ว จะไม่ทำชั่ว ประพฤติชั่ว โดยเด็ดขาด.. เพราะทราบดีว่า ทำไปแล้วต้องรับผลกรรมนั้น.. และเมื่อรับผลกรรมแล้วนั้น ก็ไม่สามารถที่จะเรียกร้องวิงวอนให้ใครๆ .. เทวดาหน้าไหนมาช่วยเหลือได้... เพราะทุกชีวิตอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ด้วยอำนาจแห่งธรรมอันเสมอกัน

สัตว์โลกเข้าใจเช่นนี้แล้ว.. จึงไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายทำลายกัน ด้วย กาย วาจา ใจ ทุจริต.. จะหันกลับมาเมตตากรุณาต่อกัน.. มีมุทิตาต่อกัน.. และวางจิตไว้ที่อุเบกขาธรรม.. เพื่อไม่หวั่นไหวไปตามกระแสกรรมของบุคคลนั้นๆ สัตว์นั้นๆ.. ที่จะต้องเป็นไปตามกรรม...

ดังพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนเรา.. หมู่สัตว์ที่แหวกว่ายอยู่ในกรรมวัฏฏะ ว่า.. เราท่านทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล.. มีกรรมเป็นแดนเกิด.. มีกรรมเป็นผู้ติดตาม.. จักทำกรรมอันใดไว้ จักต้องรับผลกรรมนั้น

ชาวพุทธเรา จึงมีหน้าที่ ศึกษา เรียนรู้ ให้เข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนให้ชัดเจน ที่เป็น “กรรมวาที” และต้องปฏิบัติให้ตรงกับหลักธรรมคำสั่งสอน.. หากตั้งความปรารถนาเป็นไปเพื่อ พระนิพพาน!

มิฉะนั้น.. ก็คงเป็นไปตามที่พระพุทธองค์ตรัสกับพราหมณ์ท่านหนึ่งว่า..

 “ดูก่อนพราหมณ์ นิพพานก็ตั้งอยู่อย่างนั้นแหละ.. หนทางนิพพานก็ตั้งอยู่.. เราผู้แนะนำก็ตั้งอยู่..

ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ สาวกทั้งหลายของเรา เราก็ตักเตือนอย่างนี้ พร่ำสอนอย่างนี้

บางพวกบรรลุนิพพานอันมีความสำเร็จส่วนเดียว บางพวกก็ไม่บรรลุ...

ดูก่อนพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้...

ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกทาง..

 ใครถามทางแล้วก็บอกให้..

บุคคลทั้งหลายปฏิบัติอยู่ด้วยตน พึงพ้นได้เอง!

คำว่า.. ต้อง “ศึกษาปฏิบัติ” จึงเป็นธรรมศึกษาในพระพุทธศาสนา จนกว่าจะบรรลุผล.. และเมื่อได้ผลแล้ว ต้องมีหน้าที่สืบต่อพระพุทธศาสนา ในการสั่งสอน ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ดังคำกล่าวที่ว่า “พระสงฆ์ย่อมมีฉันทะ อัชฌาสัยเดียวกับพระพุทธองค์.. จะเอ่ยเทศนาสั่งสอนธรรมแด่หมู่ชนนิกรนั้นๆ .. ให้ละความเห็นผิด อันเป็นโทษทุจริต... สถิตตั้งมั่นในความเห็นชอบ อันเป็นคุณธรรมความดีงาม เป็นไปเพื่อความดับทุกข์”

สำคัญอย่างยิ่ง.. เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขให้ได้.. เพื่อรักษาพระพุทธศาสนาให้ยิ่งกว่าชีวิตของตน

เพราะฉะนั้นต้องมี การณวสิกตา คือ

ต้องรู้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

มีปัญญาไตร่ตรอง.. รู้จักพิจารณาโดยแยบคาย ด้วยวิธีแห่งปัญญา (โยนิโสมนสิการ)...

ดังเรื่องราวฉาวโฉ่.. ของพระทุศีล ครูบาทุมมังกุ หลายรูป ที่เป็นข่าวออกมาในโลกโซเซียลมีเดีย.. ไม่เว้นแต่ละสัปดาห์.. จนชาวพุทธเริ่มชาชินข่าวดังกล่าว.. ด้วยจิตใจสลดหดหู่...

สำคัญอย่างยิ่ง.. ต่อการบำรุงศรัทธา รักษาจิตใจของชาวพุทธในยามนี้ คือ การก้าวออกมามีบทบาทของคณะสงฆ์โดยภาพรวม.. ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างเด็ดขาด จริงจัง และทันเวลา ตามพระธรรมวินัย..

จึงเป็นภารธุระของพระเดชพระคุณทั้งหลายในองค์กรสงฆ์ ที่จะต้องออกมาช่วยกัน ป้องปรามอย่างจริงจัง ตามพระธรรมวินัย อย่าได้ปล่อยให้ฝ่ายโลกชักไปข้างเดียว กลายเป็นผลกระทบทางลบต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะต่อความรู้สึกทางจิตใจของชาวพุทธทุกระดับ.. ที่น่าเป็นห่วงคือ ทัศนคติของเด็กไทยที่มีต่อพระภิกษุในพระพุทธศาสนาปัจจุบัน..

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่