เจริญพรสาธุชน ผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา คำกล่าวที่ว่า..
“... ความเข้าใจธรรม.. ย่อมเข้าใจโลก
ความเข้าใจโลก.. ย่อมเข้าใจชีวิต
ความเข้าใจชีวิต.. ย่อมเข้าถึงธรรม...”
นับเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินไปจากความจริง.. ยิ่งรู้จักพิจารณาอย่างมีสติปัญญา ประกอบจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสกิเลส ยิ่งเห็นได้ชัดในสัจธรรม.. อันปรากฏอยู่ในทุกสรรพสิ่งที่ประมวลรวมลงที่คำว่า “โลก คือ ชีวิต”...
ความเข้าใจในโลกและความเข้าใจในชีวิต.. จึงเป็นเรื่องเดียวกันทันที เมื่อรู้เข้าใจในธรรม...
ทุกชีวิตจึงไม่สามารถหลีกหนีเรื่องราวทางโลกได้ แม้บรรพชิต.. ผู้ได้ชื่อว่าลาออกจากทางโลก..
ต่างกันอยู่ที่ว่า.. เข้าใจ แล้ววางปลง.. หรือ เข้าใจ แล้วไปยึดถือ.. มันต่างกันตรงนี้จริงๆ..
การไปยึดถือ.. จึงไม่ใช่เรื่องของผู้รู้จริง หากแต่รู้ปลอมๆ ตามอำนาจของกิเลส ที่ปรุงแต่งให้เกิดความคิดนึกไปตามกิเลสนิยม.. ที่จิตใจยังยึดถือแม้ในความรู้นั้นๆ จนก่อเกิดตัณหา มานะ ทิฏฐิ.. ที่เรียกว่า ปปัญจธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องเนิ่นช้า)
ที่น่าเป็นห่วง.. คือผู้รู้ที่รู้ในระดับการฟัง.. การคิดนึกพิจารณา.. จนเกิดความรู้ ความเข้าใจ ในระดับหนึ่ง.. ให้สำคัญมั่นหมายว่า ตนเองได้ตรัสรู้ตามธรรมแล้ว.. ด้วยขีดความสามารถในการฟัง อ่าน เขียน เรียนรู้.. ได้ด้วยตนเอง จนออกจะเลียนแบบการตรัสรู้ด้วยตนเองของพระพุทธองค์...
พวกนี้.. จะสถาปนาตนเองขึ้นเป็นครูบาอาจารย์ เปิดสำนักของตน.. เพื่อใช้ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียนจากตำรับตำราพระไตรปิฎก หรือถ้อยกถาธรรมของพระเถราจารย์ เพื่อหวังเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตนเองแก่ผู้อื่น..
เราจึงเห็น ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนมากมายในสังคมปัจจุบัน ได้เผยแพร่ความคิดความเห็นของตนเองที่เกิดจากความรู้ขั้นได้มาจากการเล่าเรียนศึกษาธรรม.. ผ่านระบบนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่เรียกว่า ระบบไอที ในสมัยปัจจุบัน
จริงๆ แล้ว ไม่น่าจะผิดเพี้ยนอะไร.. สำหรับการช่วยเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน.. หรือหลักธรรมต่างๆ นานา.. ที่อ้างอิงกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เพราะผู้พูดก็พูดได้ถูกต้อง.. จากความเข้าใจที่ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากธรรม.. แถมยังมีความสามารถอ้างอิงพระพุทธวจนะต่างๆ ได้มากมาย.. อันควรแก่การน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่ง...
แต่หากพิจารณาลงไปในพื้นฐานของคุณสมบัติความเป็นครูบาอาจารย์ในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลสืบมา.. จะพบว่า ครูบาอาจารย์ผู้ทำหน้าที่ช่วยพระพุทธองค์ในการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่หมู่ชนนิกรทั้งหลาย ให้ได้ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ด้วยสามารถละทิฏฐิความเห็นผิด อันเป็นโทษทุจริต ให้สติตนตั้งมั่นในความเห็นชอบ อันเป็นคุณธรรมความดีที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ได้นั้น.. ส่วนใหญ่จะเป็นพระเถราจารย์.. พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่ได้รับธรรมานุมัติสมบูรณ์แล้ว...
ในสมัยนั้นจึงไม่ได้เห็นภาพลักษณ์ของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี.. นางวิสาขามหาอุบาสิกา.. หรือมหาอุบาสก.. มหาอุบาสิกาทั้งหลาย แม้จะสำเร็จอริยบุคคลเบื้องต้น นับเป็นพระอริยะในพระพุทธศาสนา.. ออกมาตั้งตนเปิดสำนัก.. แสดงธรรมสั่งสอนกันหลากหลายตามจริต..จริยาของตน..
อริยบุคคลในฐานะผู้ครองเรือนเหล่านั้น.. ท่านได้มุ่งเน้นการสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา โดยการถวายการปฏิบัติบูชาตามควรแต่ฐานานุประโยชน์ เพื่อให้คณะสงฆ์สามารถเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติในพระธรรมวินัยได้อย่างเต็มกำลัง.. เพื่อการบรรลุธรรมขั้นสูงสุด
อริยบุคคลเหล่านั้นจะไม่ออกมาโจมตีวัดพระเชตวันฯ วัดเวฬุวันฯ .. สำนักปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ตามป่าเขาทั้งหลาย เพราะจิตสำนึกในความเกรงกลัวต่อบาปกรรม..ตามวิสัยอริยบุคคล
อริยบุคคลเหล่านั้น จะไม่ออกมากล่าวโจมตี.. คัดค้านการบวช.. การเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจเช้า-กลางวัน-เย็น.. ในวัดวาอารามพระพุทธศาสนา ดังที่บางคนในปัจจุบันชอบกระทำกัน...
แม้แต่พระอริยบุคคลในฐานะของพระสงฆ์ที่มีอยู่จำนวนมากมายในสมัยพุทธกาล.. พระอริยเจ้าเหล่านั้นก็มิได้แสดงตนว่าเป็น ครูบาอาจารย์ ตราบที่ยังไม่ตรัสรู้ธรรมขั้นสูงสุด..ในพระพุทธศาสนา หรือแม้แต่ท่านผู้บรรลุอรหัตตผลแล้ว ก็ยังถ่อมตนว่าเป็นผู้บวชใหม่.. มิได้รู้อะไรมากมาย...
ด้วยท่านเหล่านั้นยังสำนึกตนว่า.. ไม่ควรประมาท ไม่ควรปรามาสในพระธรรมวินัย ที่บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ด้วยพยัญชนะและอรรถความหมาย จึงไม่ต้องกล่าวถึงพระเสขบุคคลทั้งหลาย...
จะมีปรากฏเห็นชัด ก็เฉพาะ พระอานนท์เถรเจ้า ที่มีหลักฐานในพระไตรปิฎกว่า.. ได้รับโอกาสให้กล่าวธรรม แสดงธรรม.. ที่ได้รับฟังมาจากพระพุทธเจ้า เพื่อบุคคลอื่น ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ที่ใส่ใจเข้ามาขอรับพระธรรมคำสั่งสอน ทั้งที่ได้สดับมาจากพระพุทธองค์โดยตรง.. และจากพระมหาเถระที่ได้จดจำพระพุทธวจนะ.. มาบอกกล่าวให้ทราบในภายหลัง...
ด้วยความเป็นพหูสูตของพระอานนท์ ที่ ถึงพร้อมด้วย สติ คติ และความเพียร.. จึงมีความสามารถในการถ่ายทอดพระพุทธวจนะได้อย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งแม้ว่าในขณะนั้น พระอานนท์เถรเจ้า.. จักยังเป็น เสขบุคคล คือ ผู้ที่ยังศึกษาอยู่.. ด้วยบรรลุคุณธรรมสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในเบื้องต้นเท่านั้น แต่ด้วยคุณสมบัติความเป็นครูบาอาจารย์ในพระพุทธศาสนานั้นได้ถึงแล้ว ด้วยคุณธรรม บารมีธรรม ได้ติดตามสั่งสมตามรอยบาทพระพุทธองค์มายาวนานมากภพมากชาติ จนถึงชาติสุดท้าย ของความเป็นพระอานนท์เถรเจ้า.. ในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...
จึงได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณให้พุทธบริษัททั้งสี่ได้รับทราบ ถึงความเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เรียกว่า เอตทัคคะ ใน ๕ ประการ ได้แก่ มีสติเป็นเลิศ มีความทรงจำเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นเลิศ เป็นพหูสูตและยอดพระพุทธอุปัฏฐาก...
นับเป็นพระสงฆ์สาวกที่ครองตำแหน่งเอตทัคคะมากที่สุด อีกทั้งยังได้รับการ สาธุการ จากพระพุทธเจ้าบ่อยครั้ง เมื่อได้สดับพระอานนท์แสดงธรรมแด่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ดังที่ได้ทรงชื่นชมสรรเสริญว่า พระอานนท์มีอัพภูตธรรม (ธรรมน่าอัศจรรย์) ๔ ประการ ดุจดังพระเจ้าจักรพรรดิที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น ได้แก่ ไม่ว่าผู้ใด เมื่อได้เข้าใกล้พระอานนท์ ย่อมยินดีที่ได้เห็น ได้ฟังธรรม พอใจในธรรม และไม่อิ่มในธรรมที่พระอานนท์แสดง...
แม้ว่าในสมัยต่อมา.. ภายหลังพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วนั้น.. พระภิกษุที่จะทำหน้าที่ออกเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอน ก็จักต้องได้รับความเห็นชอบจากพระเถราจารย์ผู้เป็นครูบาอาจารย์ ที่คอยสอดส่อง ตรวจสอบ จนเห็นควรยกพระภิกษุรูปนั้นขึ้นเป็นครูบาอาจารย์ สามารถแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นได้
ยิ่งโดยเฉพาะในสาย วิปัสสนาธุระ .. ยิ่งเข้มงวดต่อการคัดเลือกพระภิกษุขึ้นเป็น พระวิปัสสนาจารย์ โดยจักคำนึงถึงข้อประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุนั้นๆ ว่าเป็นแบบอย่างที่ดี.. ที่เหมาะควรตามพระธรรมวินัยหรือไม่.. หากเห็นควรก็จะเอ่ยปากมอบหมายให้ช่วยทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์... เพื่อสงเคราะห์ อนุเคราะห์ เพื่อนภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย
อริยประเพณีเหล่านี้.. แสดงความสมบูรณ์ สวยงาม ของพระพุทธศาสนา ในการส่งสืบทอดอย่างรู้จักฐานะ กาละ.. วัย วุฒิ ความรู้ ความเหมาะควร เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความประมาทในพระธรรมวินัยของภิกษุหรือบุคคลนั้นๆ...
จึงมีการกลั่นกรอง คัดเลือก และเพาะบ่ม ผู้เป็นศาสนทายก จนสมบูรณ์ด้วยความรู้.. บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมความดี ก่อนที่จะอนุญาตให้ออกไปทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ในด้านนั้นๆ ได้ ไม่ว่า ทางคามวาสีหรืออรัญวาสี
แตกต่างจากปัจจุบัน.. ที่มีอิสรเสรีต่อการกล่าวธรรม.. เผยแผ่ธรรม.. จึงได้เห็นภาพลักษณ์ของความไม่เคารพจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบเนื่องกันมา... อีกทั้งยังมีบุคคลที่เป็นหมู่คณะเข้าไปให้การสนับสนุนอย่างไม่ลืมหูลืมตา.. เพื่อการได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์บ่มแก๊ส เหล่านั้น ที่กำลังรุ่งเรืองด้วยลาภ ยศ ชื่อเสียง... แทนที่จะช่วยกันเข้าไปกวดขันดูแลเพื่อไม่ให้ตายก่อนกาลอันควร.. ดังที่มีปรากฏเกิดขึ้นมาโดยตลอดแม้ในปัจจุบัน ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง .. ต่อบุคคลเหล่านั้นที่อุตส่าห์ตั้งใจเข้ามาสู่พระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธายิ่ง.... น่าเสียดายจริงๆ!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024