หน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียนฯ

หลายครั้งที่เกิดคดีอื้อฉาวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากกรรมการผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงแล้ว ยังมีข้อคำถามไปยังคณะกรรมการตรวจสอบว่าทำหน้าที่กันอย่างไร  วันนี้จึงขอนำกฎกติกาที่กรรมการตรวจสอบต้องปฏิบัติตามมาเล่าสู่กันฟัง เป็นประกาศตามแบบ (บจ/ร 25-00) 307) เรื่อง แนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบ (Best Practice Guidelines for Audit Committee)  ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2542 เป็นแนวทางที่ดีมาก .ซึ่งถ้าหากบริษัทจดทะเบียนฯ ได้นำแนวปฏิบัติที่ดีนี้ไปเป็นแนวทางในการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และจัดทำกฎบัตรของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยที่  คณะกรรมการตรวจสอบเองก็เข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง  ก็จะทำให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดี  มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผลอย่างแท้จริง  ก็สามารถลดทอนความเสี่ยงของการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ แต่หากคณะกรรมการตรวจสอบไม่เข้าใจ หรือไม่เข้มแข็งในการทำหน้าที่ก็จะทำให้เกิดกรณีอื้อฉาว ๆ ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

          ประกาศดังกล่าวได้ระบุหน้าที่คณะกรรมการตรวจสอบไว้ 7 เรื่องหลัก ๆ และยังระบุความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบไว้อีก 10 เรื่อง  โดยจะขอสรุปย่อ ๆ ดังนี้

          หน้าที่ที่สําคัญของคณะกรรมการตรวจสอบได้แก่

1.สอบทานให้บริษัทมีการรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเปิดเผยอย่างเพียงพอ   

2.สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผล 

3.สอบทานการปฏิบัติของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

4.พิจารณาคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท รวมถึงพิจารณาเสนอค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชี 

5.พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในกรณีที่เกิดรายการเกี่ยวโยงหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องและครบถ้วน

6.ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบด้วย

7.จัดทํารายงานกิจกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจําปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวลงนามโดยประธานกรรมการตรวจสอบ รายการดังกล่าวควรประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้

ความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทําและการเปืดเผยข้อมูลในรายงานทางการเงินของบริษัทถึงความถูกต้องครบถ้วน เป็นที่เชื่อถือได้

ความเห็นเกี่ยวกับความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในของบริษัท

เหตุผลที่เชื่อว่าผู้สอบบัญชีของบริษัทเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งต่อไปอีกวาระหนึ่ง

ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกําหนดรุปของตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท

รายงานอื่นใดที่เห็นว่าผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนทั่วไปควรทราบ ภายใต้ขอบเขต หน้าที่และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท”

                    ส่วนความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว  สรุปโดยย่อมีดังนี้ 

(1) ขอคําอธิบายจากฝ่ายจัดการเกี่ยวกับผลแตกต่างที่สําคัญ ๆ ในงบการเงินระหว่างปีปัจจุบันกับปีก่อน ๆ สอบทานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (Management’s Discussion and Analysis หรือ MD&A) 

(2) สอบถามผู้สอบบัญชีถึงขอบเขตที่ผู้สอบบัญชีได้พิจารณาทบทวนบทรายงานและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร

(3) ขอให้ฝ่ายจัดการและผู้สอบบัญชีรายงานกรณีมีปัญหาการรายงานทางการเงินที่สําคัญ  ที่ต้องปรึกษาหารือร่วมกันในระหว่างงวดบัญชี

(4) ประชุมเป็นการเฉพาะกับผู้สอบบัญชีเพื่อขอความเห็นจากผู้สอบบัญชีในเรื่องต่าง ๆ

(5) อาจให้ผู้สอบบัญชีประชุมกับคณะกรรมการบริษัททั้งคณะเพื่อหารือถึงประเด็นสําคัญ ๆ เกี่ยวกับงบการเงิน 

(6) ขอคําอธิบายจากผู้บริหารและผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชีหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่องบการเงินของบริษัท

(7) หารือร่วมกับฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีถึงเนื้อหาสําคัญ ๆ ของปัญหาที่หยิบยกขึ้นมาโดยนักกฎหมายเกี่ยวกับคดีความในศาล ภาระที่อาจเกิดขึ้นภายหน้า สิทธิเรียกร้องหรือการถูกประเมินใดๆ (Claims or Assessments) 

(8) ทบทวนยอดการตั้งค่าใช้จ่ายค้างจ่ายทางบัญชี   การตั้งสํารอง หรือประมาณการที่มีอยู่โดยฝ่ายจัดการและเนื้อหาสําคัญที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่องบการเงิน

(9) ควรดูเกี่ยวกับปัญหาภาษีเงินได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรว่าจะมีรายการสําคัญใด ๆ ที่อาจมีปัญหากับกรมสรรพากรและควรสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของการสํารองภาษีที่เกี่ยวข้อง

(10) พิจารณาทบทวนหนังสือรับรองจากฝ่ายจัดการของบริษัท (Management Representative Letter) ซึ่งได้ให้กับผู้สอบบัญชี

(11) การดําเนินการอื่นใดที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร”

             จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบมีมากมายที่จะต้องพิจารณา สอบทานงบการเงิน โดยเฉพาะการสอบทานรายการได้มาจ่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือรายการเกี่ยวโยงที่ยังมีระเบียบปฏิบัติที่บริษัทจดทะเบียนต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร กรรมการชุดย่อยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบที่ต้องให้ความเห็นชอบในการทำรายการเกี่ยวโยงกัน ที่ผ่านมาจะว่าไปแล้วคดีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ถ้าเทียบกับคดีอื้อฉาวที่เกิดในต่างประเทศ ก็ถือว่ายังไม่ใหญ่โตมากนัก  แต่กรณีอื้อฉาวล่าสุดของตลาดหลักทรัพย์ไทยก่อให้เกิดความเสียหายกับมหาชนเป็นวงเงินนับหมื่นล้านบาท  นักลงทุนรายย่อยได้รวมตัวกันเพื่อฟ้องร้องภายใต้กฎหมาย Class Action คือการฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและการได้รับชดเชยความเสียหายจากการที่คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารได้กระทำขึ้น 

            ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องปรามและป้องกันไม่ให้กรรมการหรือผู้บริหารมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กร  เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงาน ก.ล.ต ได้มีหนังสือถึงกรรมการตรวจสอบ บริษัทจดทะเบียนไทยทุกบริษัท เป็นหนังสือที่กลต.นร.() 23/2566 เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบ  เพื่อเน้นย้ำบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบในการติดตามและดูแลให้บริษัทจดทะเบียนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยยึดประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ  โดยให้แนวปฏิบัติล่าสุดคือการที่กรรมการตรวจสอบต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้น การสอบทานต้องลงรายละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม เสมือนหนึ่งเป็นผู้บริหารก็ว่าได้  เพราะตามกฎเดิมกรรมการตรวจสอบก็สอบทาน กำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้วตามกฎหมายกำหนด  แต่แนวปฏิบัติใหม่ที่เพิ่มเติมให้ดูรายละเอียดมากขึ้น  ทั้งนี้สำนักงาน กลต. คาดหวังให้กรรมการตรวจสอบต้องกำกับดูแลการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 89/25 ที่กฎหมายกำหนดให้รายงานภายในสามสิบวัน แต่ในจดหมายบอกให้รายงานทันที

              เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวมากไปจึงขอสรุปใจความโดยย่อดังนี้ สำนักงาน ก.ล.ต ให้กรรมการตรวจสอบยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560  โดยเฉพาะในเรื่อง ดังนี้

                (1) ให้บริษัทจดทะเบียนมีการสอบทานระบบควบคุมภายใน อย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ

                 (2) ความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงิน และ

                 (3) การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ของ บริษัทจดทะเบียนซึ่งรวมถึงการดำเนินการอื่นใดที่จะสามารถป้องกันและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ต่อบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรายงานพฤติการณ์อันควรสงสัยของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบโดยทันทีเมื่อ ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีซึ่งเป็นหน้าที่ตามมาตรา 89/25

                   นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ตได้แนบแนวปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อป้องกันและป้องปรามพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมของบริษัทจดทะเบียน  มาให้กับกรรมการตรวจสอบอีก 5 ข้อใหญ่ โดยแต่ละข้อมีข้อย่อย ๆ ที่ต้องปฏิบัติอย่างละเอียด ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้ แต่ขอสรุป เรื่องที่สำคํญโดยย่อดังนี้

1.การดูแลระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพเพียงพอและเหมาะสม  ในเรื่องนี้มี 5 ข้อย่อย ที่สำคัญ ได้แก่มีการประเมินคุณภาพงานตรวจสอบภายใน หรือ Quality Assessment Review (QAR) ของ IA In-house อย่างสม่ำเสมอ การตรวจสอบที่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง  ควรทบทวนและปรับปรุงระบบควบคุมภายในของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทย่อย ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  จัดให้มีช่องทางการรับเรื่อง ร้องเรียนหรือการแจ้งเบาะแสถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (Whistleblower) ภายในบริษัท   เป็นต้น

2.การเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานทางการเงิน  มี 4 ข้อย่อย เช่น การคัดเลือกผู้สอบบัญชี การจัดทำงบการเงินต้องตรงเวลาและเปิดเผยครบถ้วน การสอบทานตัวเลข อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ สอบทานข้อมูลในงบกับรายงานประจำปี MD&A ต้องมีข้อมูลที่ตรงกัน 

3.การปฏิบัติตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ. 2535  ต้องรายงานทันทีที่ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชี ก่อนที่จะไปปฏิบัติการต่อไป โดยมี 4 ข้อย่อยที่ต้องปฏิบัติ เช่น ดูผลกระทบ ใครเกี่ยวข้อง มาตรการยับยั้งเป็นอย่างไร  ระบการควบคุมยังทำงานไหม 

4.การสอดส่องและติดตามการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่านัยสำคัญ (“MT”) และการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน (“RPT”) ของบริษัทจดทะเบียน ในหัวข้อนี้มี ข้อย่อย ๆ ที่ต้องปฏิบัติ 9  ข้อ เช่น ต้องให้ความเห็น ต้องวิเคราะห์ความสมเหตุสมผล ต้องมีผู้เชี่ยวชาญอิสระให้ความเห็น ต้องมีการติดตาม สอบถาม กำกับดูแลความคืบหน้าของการทำรายการทุกขั้นตอน เป็นต้น ข้อนี้ที่ผู้เขียนเห็นว่าเสมือนหนึ่ง กรรมการตรวจสอบต้องอยู่ในกระบวนการดำเนินงานเยี่ยงผู้บริหารก็ว่าได้

5.การติดตามการใช้เงินระดมทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการเปิดเผยไว้  ข้อนี้มี 2 ข้อย่อย ได้แก่ ต้องพิจารณารายละเอียด ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินระดมทุน และต้องดำเนินการให้บริษัทจดทะเบียนมีกลไกในการดูแลและ ติดตามการใช้เงินระดมทุนอย่างถูกต้องและเหมาะสม และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้มีการเปิดเผยไว้

ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
พรรณี วรวุฒิจงสถิต
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

FSX เตรียมออกหุ้นเพิ่มทุนให้ Gortune Group เพื่อปรับยุทธศาสตร์ในการแข่งขัน

กลุ่มบริษัท ฟินันเซีย เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) (FSX)  แจ้งต่อทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566  ถึงแผนการเข้ามาถือหุ้นโดย  Gortune International Investment Holding Company (Gortune)  กลุ่มการลงทุนมีชื่อเสียงของประเทศจีน  

ระส่ำ 5 บอร์ด JKN พร้อมใจไขก๊อก ‘ตลท.’ สั่งห้ามซื้อขายหุ้น 

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการชุดย่อยของบริษัทจากกรรมการทั้งสิ้น 5 ท่าน โดยมีรายชื่อกรรมการที่ลาออกดังต่อไปนี้

'กิตติรัตน์' ถก 3 หน่วยงาน รับหุ้นตกแรง มั่นใจตลาดหุ้นไทยไม่มี Naked Short Selling

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ เพื่อหาทางแนวทางดูแลสภาวะตลาดหุ้นที่ตกอย่างต่อเนื่อง