ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน: ภัยร้ายที่ยังขาดนโยบายในการแก้ไขแบบองค์รวม

ประเทศไทยภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์นั้น ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในมุมมองของผู้คนส่วนใหญ่เห็นจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาการขาดรายได้ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาการว่างงาน ฯลฯ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยเองก็เผชิญกับปัญหาสังคมที่มีความรุนแรงไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาเศรษฐกิจเลย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหายาเสพติด ปัญหาการค้ามนุษย์ ฯลฯ อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ปัญหาสังคมที่เขย่าขวัญและนำมาซึ่งความเศร้าสลดเสียใจของผู้คนจำนวนมากเห็นจะเป็นปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน

จากข้อมูลของ World Population Review พบว่า ในปี พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีผู้สูญเสียจากการใช้อาวุธปืนมากถึง 3,830 ราย โดยมีเหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นเหตุโศกนาฏกรรมสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อย้อนไป 2-3 ปีก่อน ก็ยังมีเหตุโศกนาฏกรรมจากการกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองนครราชสีมา (พ.ศ.2563) และเหตุกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู (พ.ศ.2565) อันล้วนแต่เป็นเหตุสะเทือนขวัญ นำไปสู่การเรียกร้องของประชาชนในสังคมให้มีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จวบจนปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่ามีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลก็ดี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ดี ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

GunPolicy.org หน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้ประมาณการว่า อาวุธปืนที่พลเรือนครอบครอง (privately owned guns) ในประเทศไทยมีจำนวน 10 ล้านกระบอก โดยแบ่งเป็นอาวุธปืนขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 6 ล้านกระบอก และอาวุธปืนเถื่อน จำนวน 4 ล้านกระบอก คำถามสำคัญ คือ เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนอย่างไร? มีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนมากมายจากทั้งนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน ข้อเสนอสำคัญประการหนึ่ง คือ การควบคุมจำนวนอาวุธปืน และการกวาดล้างปืนเถื่อน ซึ่งแน่นอนว่า ข้อเสนอที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนนั้น มีแง่มุมที่ซับซ้อน จึงควรมีการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมโดยพิจารณาบริบทของปัญหาแบบองค์รวมด้วย

แม้ประเทศไทยจะมี พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กำหนดวิธีการและขั้นตอนในการให้อนุญาตการครอบครองปืนก็ตาม การเข้าถึงอาวุธปืนในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องยาก มีการรายงานข่าวในช่วงหลังเหตุสะเทือนขวัญกราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเกี่ยวกับปัญหาโครงการปืนสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสร้างช่องทางในการค้าขายอาวุธปืนราคาถูกกว่าท้องตลาด รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้ครอบครองอาวุธปืน ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตในการจัดหาอาวุธปืน หรือ ปัญหา “สินบนโควต้าปืน” นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังมีการศึกษาวิจัยที่พบว่านายทะเบียนอาวุธปืนบางรายในบางท้องที่ใช้ดุลยพินิจในการให้อนุญาตบุคคลให้มีอาวุธปืน ภายใต้แรงกดดันซึ่งอาจมาจากผู้บังคับบัญชาเอง หรือบุคคลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น นอกจากอาวุธปืนจริงแล้ว การซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืน เช่น บีบีกัน (BB Guns) แบลงค์ กัน (Blank Guns) ซึ่งซื้อหาได้ง่ายมากผ่านทางเว็ปไซต์ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องควบคุมอย่างเร่งด่วน

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า การควบคุมอาวุธปืน และสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นเรื่องจำเป็น และเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า “อาวุธปืนไม่ได้ฆ่าคน คนด้วยกันเองต่างหากที่ฆ่าคน” คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของคนใช้ปืนด้วยเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นทัศนคติในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาก็สำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าการควบคุมอาวุธปืน ภาครัฐจะมีนโยบายในการส่งเสริมสังคมให้มีความอดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงอย่างไร? อันที่จริงแล้ว เหตุความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนจำนวนมากก็มาจากความขัดแย้งของประชาชน ซึ่งความขัดแย้งเหล่านั้นอาจเป็นความขัดแย้งสะสมส่วนตัว หรืออาจเป็นเพียงความเดือดร้อนรำคาญอันมีสาเหตุมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนที่มีบ้านเรือนติดกัน หรืออยู่ในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ สิ่งที่น่าขบคิดต่อ ก็คือ กลไกของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเดือดร้อนรำคาญ เป็นทางเลือกให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน

ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนกลายเป็นภัยร้ายใกล้ตัวไปแล้ว ในขณะที่แนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเท่าที่ผ่านมานั้น กลับมีลักษณะเป็นเพียงมาตรการตอบสนองเฉพาะหน้า หรือตอบสนองเป็นกรณีๆ ไป ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาถึงความซับซ้อน และแง่มุมแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในด้านกฎหมาย และสังคม เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่มุ่งการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม มิเช่นนั้นแล้ว ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนจะยังคงสร้างบาดแผลให้กับสังคมไทยต่อไป

รศ.ดร.ติญทรรศน์ ประทีปพรณรงค์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ด้วยวาทกรรม ‘นองเลือด’ ของเขา เวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์กำลังยุยงให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อผู้อพยพ รวมถึงโจ ไบเดนคู่แข่

บึ้มปัตตานี! ดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดคัดเลือกทหารเกณฑ์

เมื่อเวลา 05.30 น. ร.ต.อ.พงศกร ฤทธิศักดิ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดบนถนนสายทุ่งยางแดง-กะพ้อ

'อดีตบิ๊กข่าวกรอง' รับไม่ได้ 'สส.ภาคใต้' บอกรับได้-เข้าใจโจรใต้ เผาป่วนร้านค้า

กรณีที่โจรก่อการร้ายบุกทำร้ายใช้ความรุนแรง กับประชาชน และเผาอาคารร้านค้าของเอกชน ได้รับความเสียหายอย่างมาก จชต.เมื่อ วันศุกร์ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา

โล่ง! ยังไม่พบคนไทยบาดเจ็บ-เสียชีวิต ในเหตุกราดยิงมอสโก

นายเศรษฐา ทวีสิน นายก​รัฐมนตรี​และ​รมว.คลัง​ กล่าวถึงเหตุการณ์การก่อการร้ายที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย หลังคนร้ายในชุดพรางทหาร

'เศรษฐา' ต่อสายตรง 'อันวาร์' ช่วยดับไฟใต้!

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่สั่งการให้พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ไป