ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๐)

 

ในตอนก่อน ผู้เขียนได้เริ่มสรุปความจาก “Democracy in Siam” อันเป็นพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานไปยังคณะองคมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2470  พระราชบันทึกนี้แสดงให้เห็นถึงแผนการเตรียมตัวไปสู่ประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว    

ในการเตรียมตัวสู่ประชาธิปไตยนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวไว้ใน “Democracy in Siam” ว่า “เราต้องเรียนรู้และฝึกฝนตัวเรา เราต้องเรียนรู้และทดลองปฏิบัติเพื่อที่จะได้ความคิดและวิธีการที่จะทำให้การปกครองแบบรัฐสภาสามารถดำเนินไปได้ในประเทศของเรา  เราจะต้องทำให้ประชาชนเกิดสำนึกทางการเมือง นั่นคือ ประชาชนสามารถตระหนักได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของตน เพื่อว่า จะได้ไม่หลงไปกับพวกยุยงปลุกปั่น หรือหลงไปกับความฝันถึงสังคมอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นจริงได้  ถ้าเราจำต้องมีรัฐสภา เราจะต้องสอนให้ประชาชนรู้จักการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รู้จักเลือกตัวแทนของพวกเขา ที่คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนจริงๆ”

ข้อความที่ว่า “เราจะต้องทำให้ประชาชนเกิดสำนึกทางการเมือง นั่นคือ ประชาชนสามารถตระหนักได้ว่าอะไรคือผลประโยชน์ที่แท้จริงของตน เพื่อว่า จะได้ไม่หลงไปกับพวกยุยงปลุกปั่น”  ผู้เขียนขอตีความว่า การจะมีประชาธิปไตยได้สำเร็จนั้น ประชาชนจะต้องสามารถตระหนักถึงผลประโยชน์ที่แท้จริงของตน โดยไม่หลงไปกับพวกยุยงปลุกปั่นที่มักจะใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการบรรลุผลประโยชน์ของพวกที่มายุยงปลุกปั่นเอง  ซึ่งมักจะกล่าวอ้างว่าประชาชนควรจะเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้ได้อำนาจทางการเมืองมาเป็นของตนเอง  แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองก็เพียงในช่วงเวลาหย่อนบัตรเลือกตั้งเท่านั้นเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น หลังจากนั้นอำนาจทางการเมืองก็จะถูกโอนให้ไปอยู่กับบรรดานักการเมืองในสภา 

ฌอง ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักคิดทางการเมืองชาวฝรั่งเศสที่นักวิชาการบางคนชอบอ้างว่าเป็นนักคิดที่นักปฏิวัติฝรั่งเศสยึดถือเป็นหลักการสำคัญในการปฏิวัติ อันได้แก่ เสรีภาพและความเสมอภาค  แต่รุสโซเองยังกล่าวถึงการเลือกตั้งไว้ในบทที่ว่าด้วยผู้แทนราษฎรว่า “การที่ชาวอังกฤษต่างคิดว่าตนเป็นชนชาติเสรีนั้น เป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก ชาวอังกฤษคงเป็นเสรีก็เฉพาะในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น เมื่อการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว เขาก็กลับเป็นทาสตามเดิม เมื่อมีเสรีภาพเพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก็เป็นธรรมดาที่เสรีภาพจะต้องหลุดมือไปในทันทีที่ใช้มันเสร็จแล้ว”

แต่พวกยุยงปลุกปั่นก็มักจะปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนออกมาเรียกร้องต่อสู้เพื่ออำนาจโดยการล้มรัฐบาลก็ดี หรือล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดี เพื่อจะได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ !

แต่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องให้ประชาชนใช้อำนาจทางการเมืองด้วยตัวของประชาชนเอง หาใช่ให้ประชาชนใช้อำนาจเลือกตั้งเพียงไม่กี่วินาที  ถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์จริงๆก็ต้องกลับไปที่ประชาธิปไตยเอเธนส์ที่ไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนประชาชนหรือ ส.ส. ให้เข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนในสภา เพราะประชาธิปไตยเอเธนส์ให้พลเมืองของตนเข้าไปใช้อำนาจเองในสภาผ่านการจับสลาก ที่ให้จับสลากเพราะมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ในการประชุม เพราะเอเธนส์มีพลเมืองสี่หมื่น แต่สถานที่ประชุมจุได้เพียงสี่พันถึงหกพันคน จึงให้จับสลากพลเมืองปีละสี่ถึงหกพันคน การจับสลากสะท้อนถึงความเสมอภาคของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ต้องมานั่งคิดว่า ใครมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ใครคิดหรือจะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ  เพราะให้ประชาชนจริงๆเข้าไปตัดสินออกกฎหมายและกำหนดเรื่องราวที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองจริงๆ และเมื่อใครถูกจับสลากแล้ว ก็จะถูกคัดชื่อออกจากทะเบียน เพื่อให้ประชาชนคนอื่นๆได้มีโอกาสถูกจับสลากเข้าไปในอำนาจทางการเมืองโดยถ้วนหน้า

กระนั้น ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ก็เป็นสิ่งที่รุสโซไม่เห็นด้วย เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เหมาะสำหรับมนุษย์ปุถุชนอย่างเราๆ  รุสโซได้กล่าวถึงประชาธิปไตยไว้ว่า “ถ้าหากจะมีชนชาติใดพ้นแล้วซึ่งกิเลส ชนชาตินั้นก็ย่อมจะปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย ระบอบที่ดีวิเศษถึงปานนี้หาเหมาะกับมนุษย์ปุถุชนไม่”  (If there were a nation of Gods, it would govern itself democratically. A government so perfect is not suited to men.)

หรือใครที่เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสมากก็น่าจะเข้าใจข้อความดังกล่าวที่รุสโซเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสดังนี้ “Sʼil y avoit un peuple de Dieux, il se gouverneroit démocratiquement. Un Gouvernement si parfait ne convient pas à des hommes.”

ส่วนข้อความที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเป็นห่วงว่า หากประชาชนไม่มีการศึกษาหรือรู้เท่าทัน ก็อาจจะ “หลงไปกับความฝันถึงสังคมอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นจริงได้”

ซึ่งข้อกังวลนี้ก็เป็นจริง เพราะอีกหนึ่งปีหลังจากที่พระองค์ทรงมีพระราชบันทึก “Democracy in Siam”  ในปี พ.ศ. 2471 มีผู้เขียนเรื่อง “ทูตพระศรีอาริย์” ลงในหนังสือพิมพ์ราษฎรฉบับวันจันทร์ที่ 15 มกราคมมีใจความว่า   ความเสมอภาคที่ได้รับจากผู้มีอำนาจเหนือประสิทธิ์ประสาทให้นั้นไม่ใช่ความเสมอภาคที่แท้จริง เพราะยังมีเจ้าเป็นใหญ่อยู่ สังคมมนุษย์นี้มีการเบียดเบียนกันยิ่งเจริญมากเท่าใด ก็ยิ่งเบียดเบียนกันมากขึ้นเท่านั้น คนที่ฉลาดกว่ามีอำนาจกว่าก็ใช้ปัญญา และอำนาจสูบเลือดเนื้อผู้ที่โง่กว่า มีกำลังและอำนาจน้อยกว่า สูบกินกันลงไปเป็นชั้นๆ มนุษย์แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่มีอำนาจมั่งมีพวกหนึ่ง พวกคนจนอีกพวกหนึ่ง พวกคนจนเห็นว่าทรัพย์สมบัติหรือวัตถุใดๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้เป็นของกลางสำหรับโลก มนุษย์ที่เกิดมาในโลกมีสิทธิเป็นเจ้าของด้วยกันทุกคน การที่พวกมีอำนาจมั่งมีหวงกันเอาไปไว้นั้น เป็นการเอาเปรียบต่อเพื่อนมนุษย์ เมื่อพวกคนจนมีความเห็นดังนี้ ต่างก็รวมกำลังกันเข้า พยายามทำลายพวกมีอำนาจมั่งมี ยุคนี้เองที่เรียกว่า เข้าเกณฑ์มิคสัญญี จะมีการประหัตประหารกัน และในที่สุดพวกคนจนก็จะรู้สึกตัวเห็นว่าทรัพย์สมบัติทุกอย่างเป็นของกลางในโลก ไม่ควรที่จะมาฆ่าฟันกัน เมื่อมีความเห็นเช่นนี้เป็นจุดเดียวกัน ก็จะช่วยกันล้างพวกมั่งมีให้หมดไป วันใดเงินหมดอำนาจเป็นแร่ธาตุไปตามสภาพเดิมแล้ว วันเป็นวันเสมอภาค”

การยุยงปลุกปั่นในประเทศไทยโดยใช้เรื่องยุคพระศรีอาริย์อันเป็นสังคมอุดมคติที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ แต่มีเสน่ห์เย้ายวนให้ผู้คนหลงใหล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก

และต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ออกประกาศชี้แจงแสดงเหตุผลของการยึดอำนาจ และในตอนท้ายของประกาศก็ได้ให้ความหวังแก่ประชาชนว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะนำปสู่ความสุข ความเจริญอย่างประเสริฐ ที่เรียกว่า “ศรีอาริย์”

การปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซียก็มีการประกาศถึงสังคมคอมมิวนิสต์ที่ผู้คนจะมีเสรีภาพและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง  ในปี พ.ศ. 2466 ก่อนหน้าที่ปรีดี พนมยงค์จะเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ  สตาลินได้ออกกฎหมายที่ดิน ยึดที่ดินจากผู้คนในรัสเซียมาเป็นของรัฐเพื่อให้ทรัพย์สินไม่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของกลาง และให้ชาวรัสเซียทำนารวมกัน แต่ตัวสตาลินเองกลับได้รับอภิสิทธิ์พิเศษหลายอย่างเหนือพลเมืองโซเวียตทั่วไป มีรถยนต์ส่วนตัว บ้านตากอากาศในชนบท แพทย์ส่วนตัว พ่อครัวและคนรับใช้ (In the first Soviet government, Stalin became People's Commissar for Nationalities. After that, he was apparently only ever supported by the government. As Stalin gained more power, he acquired more privileges, quite extraordinary for any Soviet citizen. Private cars, dachas, private doctors, chefs and maids – everything was taken care of. https://www.rbth.com/history/331909-how-much-money-did-lenin-stalin-make )

แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา รัสเซียก็ต้องเปลี่ยนนโยบายคลี่คลายให้ผู้คนกลับมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในที่ดินได้ (Over 50 million people and legal entities have acquired private ownership rights in land and by the end of the 1990s, some 7.6 per cent of the Russian Federation’s territory was privately owned. https://press.un.org/en/2004/REC147.doc.htm )

ที่จริงเรื่องความเสมอภาคในฝันแบบนี้  เอามายุยงหลอกผู้ใหญ่ไทยสมัยนี้ไม่ได้แล้ว จะมีก็แต่เด็กเท่านั้น !

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490