๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๖)

 

 

คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”  สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย                                               

ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะลี้ภัย เขาได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของเขามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยผู้เขียนได้ยกข้อความในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปบ้างแล้ว (ดูตอนที่ ๔ และ ๕)  และสำหรับในเรื่องความเสมอภาค หลวงประดิษฐ์ฯได้อธิบายไว้ว่า “ความเสมอภาคมีขึ้นได้ในสิทธิและหน้าที่ ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษ ยังเป็นการเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการ แม้จะเป็นในทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย แต่มิใช่เสมอภาคในการที่คนหนึ่งมีเงิน ๑๐๐ บาท จะต้องริบเอามาแบ่งเท่าๆกัน ในระหว่าง ๑๐๐ คนๆละ ๑ บาท ตามที่นักปราชญ์ในประเทศไทยท่านอ้างว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เขาแบ่งกันเช่นนั้น เราเกลียดชังคอมมิวนิสต์ตามที่ท่านนักปราชญ์ในประเทศไทยกล่าวนั้น และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกันดังที่นักปราชญ์ท่านกล่าว (เน้นโดยผู้เขียน)” [1]                                                              

และจริงๆแล้ว ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ฯก็ไม่ได้ให้กำหนดเงินเดือนราษฎร (ลูกจ้างรัฐบาลหรือข้าราชการ) ให้เท่ากันหมด  แต่ได้กำหนดไว้ว่า “เงินเดือนนั้นจำต้องต่างกันตามคุณวุฒิ กำลังความสามารถของตน แต่อย่างไรก็ตาม เงินเดือนขั้นต่ำที่สุดจะเพียงพอแก่การที่ข้าราชการผู้นั้นจะซื้ออาหาร ซื้อเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ ฯลฯ ปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้” [2]เมื่อหลวงประดิษฐ์ฯได้กำหนดเงินเดือนต่างกันตามคุณวุฒิและกำลังความสามารถ แต่กำหนดขั้นต่ำสุดไว้ให้เพียงพอแก่การที่เขาผู้นั้นจะซื้อปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตได้ คำถามคือ คนที่รับเงินเดือนขั้นต่ำสุดนั้น หากไม่ค่อยจะขยันทำงานอะไร ทำงานไปเป็นเช้าชามเย็นชาม เพราะพอใจกับเงินขั้นต่ำสุดนั้น หลวงประดิษฐ์ฯจะปล่อยให้เขาคนนั้นเช้าชามเย็นชามไปตลอด หรือจะมีบทลงโทษอะไร ?  เป็นไปได้ไหมว่า มีการให้ไล่ออก แล้วไม่ให้เงินเดือนอะไรเลย ?  เพราะเป็นพวกที่ “เกิดมาหนักโลกอาศัยคนอื่นเขากิน” ! ข้อความข้างต้น (และข้อความที่ยกมาในตอนที่ ๔ และ ๕) เป็นบางส่วนของเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่นำเสนอในปี พ.ศ. ๒๔๗๖  และในภาพรวมของเค้าโครงเศรษฐกิจ ภูริ ฟูวงศ์เจริญได้สรุปสาระสำคัญไว้ว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม “สนับสนุนระบบนารวม (collective farming)...เสนอให้รัฐบาลทำหน้าที่เป็น ‘เจ้าของเศรษฐกิจ’ ผ่านการกว้านซื้อเรือกสวนไร่น่า (โดยรัฐบาลออกเป็นใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ [3]/ผู้เขียน) แล้วแบ่งที่ดินเหล่านั้นออกเป็นสหกรณ์ โดยรัฐบาลจะ ‘เกณฑ์’ ราษฎรเข้ามาเป็นแรงงาน พร้อมจัดหาเครื่องจักร ฝึกสอนทักษะ และวางแผนการผลิตให้เบ็ดเสร็จ..ยังปล่อยให้คนมั่งมีทำธุรกิจของตนต่อไปตามปกติ เค้าโครงเศรษฐกิจมุ่งหวังให้ประชาชนกลายเป็นลูกจ้างของสหกรร์ที่ขึ้นตรงเหมือนที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเขียนว่า ‘เมื่อได้ดำเนินการตามความคิดของข้าพเจ้าที่ให้รัฐบาลเป็นผู้ประกอบเศรษฐกิจเสียเองแล้ว ราษฎรทุกคนจะมีงานทำ โดยเหตุที่รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ แม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล แล้วราษฎรก็จะไม่อดอยาก’ ” [4]

ต่อมา ได้มีการนำเค้าโครงเศรษฐกิจในฐานะร่างนโนบายเศรษฐกิจเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณารวมทั้งเผยแพร่ไปยังหมู่ผู้นำคณะราษฎรเอง ส่งผลให้เกิดความแตกแยกขึ้น ทั้งในหมู่ผู้นำคณะราษฎรและบุคคลในคณะรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลในคณะรัฐมนตรีได้ “แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาศรีวิศาลวาจา และพลเรือโท พระราชวังสันร่วมกันเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ สอง กลุ่มพลเรือนหัวก้าวหน้าของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สาม กลุ่มผู้นำคณะราษฎรสายทหารบกที่แม้เคยลงมือโค่นล้มระบอบเก่า แต่ก็มีทัศนะส่วนตัวหลายด้านที่เอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม” [5]                                                           

กรณีความขัดแย้งเห็นต่างระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับกลุ่มพลเรือนหัวก้าวหน้ายิ่งมีช่องว่างและความระแวงต่อกันมากขึ้นจากเดิมที่มีปัญหาเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองของคณะราษฎรและกลุ่มคณะชาติ และก็น่าจะรวมถึงกรณีการแอบโปรยใบปลิวสนับสนุนให้เปลี่ยนแปลงการปกครองตามแบบของโซเวียต “ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ คณะรัฐมนตรีเริ่มถกกันเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ตลอดจนพระยาทรงสุรเดช (แกนนำคณะราษฎรสายทหารบก/ผู้เขียน)  ต่างขอให้มีการปรับแก้เนื้อหา หรือการทดลองใช้แค่ทีละส่วน เนื่องจากสิ่งที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเรียกร้องถือเป็นมาตรการประเภท ‘ยาแรง’ จึงมีความเสี่ยงสูง” [6]                                                                                                                                      

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการทรวงธรรมการได้เตือนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ตามวิธีที่จะให้รัฐบาลทำเอง (‘เจ้าของเศรษฐกิจ’/ผู้เขียน) พลเมืองเป็นลูกจ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลง [แบบ] (ริโวลูชั่น) (revolution - ปฏิวัติ/ผู้เขียน) ในทางเศรษฐกิจของโลก ไม่ใช่ชนิด (อีโวลูชั่น) (evolution – วิวัฒนาการ/ผู้เขียน) อาจจะกระทบกระเทือนเป็นปัญหาการเมืองได้ ถ้าพิจารณาเฉพาะเราแล้ว ดูก็ไม่แปลก เพราะเท่ากับถอยหลังเข้าคลองอีก คือว่าที่ดินทั้งหลายเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ แต่ว่าประเทศเราต้องเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นทั่วไป จะทำอะไรจึ่งควรต้องระวัง ในเรื่องนี้ทำไป [มี] เสมอตัวกับขาดทุน เพราะใครๆ ก็จะหาว่า เราเป็นบอลเชวิค (คณะปฏิวัติในการปฏิวัติรัสเซีย/ผู้เขียน)” [7]  แล้วหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมีคำตอบและปฏิกิริยาอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป                                                           

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 265.

[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 252.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 248.

[4] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 46-47.

[5] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 46-47

[6]  ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 47.

[7] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, 25 มีนาคมท พ.ศ. 2476, อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 48.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490