๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๐)

 

 

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476  ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวว่า  “.. เราเกลียดชังลัทธิคอมมิวนิสต์ตามที่ท่านนักปราชญ์ในประเทศไทยท่านกล่าวนั้น และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกันดังที่นักปราชญ์ท่านกล่าว” [1]            

ต่อมาในกลางเดือนเมษายน หลวงประดิษฐ์ฯได้ยืนยันอีกครั้งว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์ และทั้งมิได้นิยมชมชื่นคอมมิวนิสต์แม้แต่น้อยเลย ข้าพเจ้ายอมรับแต่ว่า ข้าพเจ้าเป็นราดิคัล และเป็นราดิคัลที่เป็นไปในแนวของลัทธิโซเชียลลิสต์ (สังคมนิยม/ผู้เขียน)” [2]

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงพระบรมราชวินิจฉัยต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯว่า “จริงอยู่มิใช่วิธีคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นวิธีที่รัสเซียเขาใช้อยู่และประเทศต่างๆเขาเห็นว่า วิธีนี้แหละที่เป็นอันตรายแก่สันติสุขของโลก” [3] และ “วิธีดำเนินการนี้ (วิธีการที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอ) อาจไม่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ก็ได้ แต่ความจริงมันมีอยู่ว่ารัสเซียใช้อยู่” [4]

และทรงเห็นว่า เค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอนั้น“....เป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่  ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ  สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้ง ๒ นี้ เหมือนกันหมด” [5]

วิธีที่รัสเซียใช้อยู่ขณะนั้นเป็นอย่างไร ?

นโยบายเศรษฐกิจที่ให้รัฐเป็นเจ้าของที่ดินทำกินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดนี้ได้เริ่มขึ้นในสหภาพโซเวียต โดยการประกาศใช้กฎหมายที่ดินปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย 10 ปี)  กฎหมายที่ดินโซเวียต พ.ศ. 2465  กำหนดให้มีการเวนคืนที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ และยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในที่ดินและรวมทั้งกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติต่างๆที่อยู่ในที่ดินด้วย เช่น แร่ธาตุ น้ำและป่าไม้ [6]

มาตรา 27 ของกฎหมายที่ดินโซเวียต พ.ศ. 2465 ห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย ยกให้หรือจำนองที่ดิน แต่อนุญาตให้เช่าที่ดินจากรัฐได้จนถึง พ.ศ. 2471 แต่หลังจากนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการเช่าว่าจะต้องเป็นการเช่าเพื่อการทำการเกษตรรวม (หรือที่คนไทยชอบเรียกกันว่า การทำนารวม)  การทำนาของแต่ละครอบครัวที่เช่าที่จากรัฐจะต้องถูกควบรวมเข้าเป็นนารวมขนาดใหญ่โดยรัฐเป็นเจ้าของที่ดิน [7]

อย่างไรก็ตาม การห้ามมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวในที่ดิน ไม่ได้หมายความว่า พลเมืองโซเวียตจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ ครอบครัวในชนบทและในเมืองยังสามารถเพาะปลูกในที่แปลงขนาดเล็กๆได้ สามารถเพาะปลูกพืชพันธุ์สำหรับการบริโภคภายในครอบครัวและเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยที่ดินแปลงเล็กๆนี้มีชื่อเรียกว่า “แปลงเสริม” (auxiliary plots) [8]  

แต่แปลงเสริมนี้ไม่ได้ทำให้ครัวเรือนได้ผลผลิตอะไรมากนัก การผลิตอาหารและการขายอาหารจากรัฐและการทำนารวมจะต้องอยู่ภายใต้แผนเศรษฐกิจและควบคุมโดยรัฐบาลกลาง  ขณะเดียวกัน ที่ดินแปลงเสริมไม่ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของครัวเรือน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ภายใต้แผนเศรษฐกิจและการควบคุมของรัฐก็ตาม เพราะตามกฎหมายที่ดินโซเวียต พ.ศ. 2465 ที่ดินทั้งหมดถูกเวนคืนเป็นของรัฐ  ดังนั้น ในกรณีแปลงเสริม รัฐมีอำนาจที่จะกำหนดให้ครอบครัวหรือปัจเจกบุคลได้ใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือของครอบครัวได้  ซึ่งจริงๆแล้ว การปล่อยให้ครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเป็นสิ่งที่ขัดต่ออุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เพราะอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จะไม่ยอมให้มีการใช้ที่ดิน (แม้ว่าจะเป็นของรัฐก็ตาม) ไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลได้เลย  เพราะผลผลิตจากแปลงเสริมนี้และการปล่อยให้ใช้ที่ดินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวถือเป็นซากเดนของระบบทุนนิยม [9]             

แม้ว่าในสหภาพโซเวียต รัฐจะเป็นเจ้าของที่ดินไม่ต่างจากเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ  แต่ความแตกต่างคือ โซเวียตใช้วิธีการยึดที่ดินจากประชาชนมาเป็นของรัฐ ส่วนของหลวงประดิษฐ์ฯใช้วิธีให้รัฐบาลบังคับซื้อจากประชาชนโดยออกใบกู้ให้เจ้าของที่ดินถือไว้ตามราคาที่ดิน โดยที่ดินที่รัฐบาลต้องซื้อกลับคืนนี้คือที่ดินที่จะใช้ประกอบการเศรษฐกิจ  เช่น ที่นาหรือไร่ ส่วนที่บ้านอยู่อาศัยนั้นไม่จำเป็นที่รัฐบาลต้องซื้อคืน เว้นไว้แต่เจ้าของประสงค์จะขายแลกกับใบกู้  [10]

ตกลง จากที่กล่าวไปข้างต้น ท่านผู้อ่านคงประเมินได้ว่า วิธีการที่ใช้ในรัสเซียกับวิธีการที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอในเค้าโครงเศรษฐกิจในเรื่องที่ดินทำกินนั้น เหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหนอย่างไร

_________________________________________

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 265.

[2] วิเทศกรณีย์ (นามแฝง), ความเป็นมาของระบอบประชาธิปไตยของไทย, หน้า 180 อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 48.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285-286.

[4] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 328.

[5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 354.

[6] Land Tenure, Soviet And Post-Soviet, https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/land-tenure-soviet-and-post-soviet

[7] Land Tenure, Soviet And Post-Soviet, https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/land-tenure-soviet-and-post-soviet

[8] Land Tenure, Soviet And Post-Soviet, https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/land-tenure-soviet-and-post-soviet

[9] Land Tenure, Soviet And Post-Soviet, https://www.encyclopedia.com/history/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/land-tenure-soviet-and-post-soviet

[10] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 248-249.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490