๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๒)

 

 

ในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๖ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และได้มีการนำพระบรมราชวินิจฉัยตอบเค้าโครงเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอ่านในที่ประชุม

ในพระบรมราชวินิจฉัยตอบนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอ้างงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนที่ทำการศึกษาสภาพเศรษฐกิจและฐานะของผู้คนในชนบทตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวแย้งกับคำบรรยายสภาพเศรษฐกิจและความยากจนแร้นแค้นที่หลวงประดิษฐ์ฯได้เขียนไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจว่า ร้อยละ ๙๐ ของราษฎรไทยเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินและมีทุนพอที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง [1]

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวว่า มีเพียงร้อยละ ๓๖ ของราษฎรไทยเท่านั้นที่ไม่มีที่ดินและทุนที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง โดยพระองค์ทรงใช้ข้อมูลจากงานวิจัยสภาพชีวิตของผู้คนในชนบทไทยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน [2]

ผู้เขียนได้พบว่า ก่อนที่จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๖  ได้มีการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯในวันที่ ๑๒ มีนาคม และในที่ประชุมนั้น ก็ได้มีการกล่าวถึงงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนไว้แล้วด้วย และหม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ หนึ่งในผู้ที่เข้าประชุม ผู้ซึ่งสอบชิงทุนไปเรียนและจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และได้เข้าเรียนเนติบัณฑิตอังกฤษ [3]

ได้แสดงความเห็นด้วยกับงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน [4]

หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวแย้งว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จึ่งรู้หัวอกของคนบ้านนอกเป็นอย่างดี โดยได้รับความลำบากยากจน เพื่อนในหัวเมืองยังยากจนอีกมาก นายซิมเมอร์แมนไม่เคยอยู่อย่างคนยากจนในเมืองไทย ผู้ที่ไม่เคยประสบแล้วจะรู้สึกอย่างไรได้ สำรวจที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็เตรียมผัดหน้าไว้รับ แม้ข้าราชการในกรุงเทพฯออกไปก็ไม่เห็นของจริงแท้ และทั้งตนเองก็สบายไม่เคยทุกข์ร้อนเหมือนชาวนาที่ทนทุกข์อยู่ในเวลานี้” [5]

จากข้างต้น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ สิ่งที่หลวงประดิษฐ์ฯตั้งข้อสังเกตเรื่องผักชีโรยหน้าที่อาจทำให้ศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนไม่เข้าถึงความจริงในเรื่องความรู้สึกลำบากยากจน  ดังนั้น การโต้แย้งของหลวงประดิษฐ์ฯจึงเป็นเรื่องการรับรู้ถึงความรู้สึกในความลำบากยากจนของคนในต่างจังหวัด แต่ไม่ได้โต้แย้งเรื่องตัวเลขของราษฎรที่ไม่มีที่ดินและทุนที่จะทำการเลี้ยงชีพเอง ซึ่งเรื่องตัวเลขนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกหรือสามารถทำผักชีโรยหน้าได้

หากใครจะคิดว่า หลวงประดิษฐ์ฯอาจจะไม่ได้อ่านงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน ก็ซึ่งเป็นไปได้ แต่มีข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ งานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนได้รับการแปลเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดย ซิม วีระไวทยะ และที่สำคัญคือ ซิม วีระไวทยะเป็นหนึ่งในคนสนิทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม [6]

ดังนั้น ข้อกังขาของผู้เขียนที่ผู้เขียนกล่าวย้ำไว้หลายครั้งในหลายตอนที่ผ่านมาคือ ยังไม่มีใครพบข้อโต้แย้งจริงๆจังๆที่เป็นวิชาการของหลวงประดิษฐ์ฯต่องานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมน

และอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ฯจะใช้คำว่า parasite หรือพวกหนักโลก โดยเขากล่าวว่า “ในประเทศไทยนี้มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลกอาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือกิจการใดให้เหมาะสมกับแรงงานของคน อาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตตามบ้านช่องของชนชั้นกลาง หรือตามบ้านของคนมั่งมีแล้วก็จะเห็นว่า ผู้ที่อาศัยกินอยู่เป็นจำนวนมาก…” [7]  

ซึ่งถ้า parasite มีความหมายดังที่หลวงประดิษฐ์ฯกล่าวไป บรรดาพระมหากษัตริย์และพวกเจ้าทั้งหลายก็ยิ่งจะต้องเข้าข่ายเป็นพวกหนักโลก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตอบประเด็นแรงงานสูญเปล่าและพวกหนักโลก (ปรสิตสังคม) ของหลวงประดิษฐ์ฯ ดังนี้

“แรงงานสูญไป ๔๐%  จริงอยู่ว่า เวลานี้ ราษฎรของเราทำงาน ๖ เดือน แล้วก็หยุดเสีย ๖ เดือน และถ้าเราสามารถจัดการให้ราษฎรทำงานเพิ่มอีก ๖ เดือนที่ทิ้งว่างอยู่เสียได้นั้นแล้ว ก็จะบังเกิดประโยชน์เป็นอันมาก ข้อนี้ไม่มีใครเถียง แต่วิธีที่จะทำให้ราษฎรทำงานในเวลาที่เหลืออีก ๖ เดือนนั้น เวลานี้ อย่าลืมว่า เรามิได้มีวิธีชักชวน หรือสอนให้เขาทำอะไรเลย  ถ้าได้มีการชักชวน หรือแนะนำแสดงตัวอย่างแล้ว บางทีราษฎรก็คงจะพยายามทำตามเป็นส่วนมาก คงยังไม่จำเป็นแน่ที่รัฐบาลจะเข้าแย่งราษฎรทำงานและเกณฑ์ให้ราษฎรมาเป็นลูกจ้าง เพราะการที่จะจัดให้ราษฎรมาทำงานให้แก่รัฐบาลดังนี้ได้ โดยรัฐบาลมีอำนาจเต็มที่จะสั่งอะไรก็ได้ ในเวลากำหนดเท่าใดก็ได้ ดังแผนนี้แล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ถ้าจะทำได้ ก็คงต้องถึงใช้การบังคับกันอย่างหนัก ถึงกับต้องยิงกัน อย่าลืมว่าคนไทยนั้นรักเสรีภาพความเป็นอิสระอยู่ในเลือดแล้ว เขาย่อมสละเสรีภาพมาให้ง่ายๆไม่ได้แน่  ถ้าจะต้องบังคับอย่างนี้แล้ว จะสมควรละหรือ เราหวังจะให้ความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎรทั่วไป การต้องบังคับกดคอให้เขาทำงานนั้น จะจัดว่าให้ความสุขสมบูรณ์แก่เขาอย่างไร มันจะกลายเป็นให้ทุกข์สมบูรณ์เสียมากกว่า พึงนึกว่าการเป็นคนบังคับเขากับเป็นคนถูกบังคับนี้ต่างกัน ทางความเห็นทางความคิดของคนทั้งสองประเภทนี้ต่างกันมากทีเดียว ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) เป็นทหารถูกบังคับให้อยู่ในทางวินัยบ้างแล้วหรือยัง  การถูกบังคับนั้นไม่ใช่ของสบาย เพราะฉะนั้น ในการนี้ ถ้าจะทำได้โดยมิต้องมีการบังคับแล้ว ก็คงจะเป็นการดีแน่  แต่สงสัยว่าจะทำไม่ได้โดยไม่ถูกบังคับ อย่างน้อยก็คงจะต้องทำหลัก เช่น ‘ใครที่ไม่ทำงานก็ไม่ต้องกิน’ ขึ้นใช้เป็นแน่ ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) อาจจะไม่มีความประสงค์ที่จะบังคับราษฎรทำงานดั่งเช่นในรัสเซีย ผลที่สุดก็คงจะต้องจำเป็นทำ เพราะคงไม่มีทางอื่น ดั่งที่ปรากฏมาแล้วในประเทศรัสเซีย ซึ่งทำให้คนต้องบาดเจ็บล้มตาย เพราะลำบากและการถูกบังคับกดขี่นับตั้งล้านคน ผลก็น่าจะเป็นเช่นนั้นในประเทศรา เพราะฉะนั้น จึ่งต้องขอเตือนให้ตรวจดูให้มากๆในข้อนี้” [8]

และพระองค์ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “คนหนักโลกดังผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) กล่าวนี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าจะหมดไปได้ นอกจากนั้น ใครจะยอมว่าใครหนักโลก ตัวก็พูดว่าคนอื่นหนักโลก เรามักเห็นตัวเราไม่ถนัด เขาหนักเสมอ ต่างคนต่างก็นึกเช่นนั้นเสมอเป็นธรรมดา เราเห็นว่าเราทำความดีให้ชาติ คนอื่นเขาก็คงมีเหตุผลอย่างเดียวกันที่จะนึก ดังนั้น คนเราย่อมมีใจคิดด้วยกัน ใครจะมาเป็นผู้ตัดสินว่า ใครผิดใครถูกโดยไม่มีข้อพิสูจน์อย่างใดชัดย่อมไม่ได้ เช่น พวกปรปักษ์ของรัฐบาลบางจำพวกที่กล่าวมาข้างต้น เขาอาจเห็นว่าตัวเขาไม่หนักโลก แต่เห็นคนอื่นหนักก็ได้ (เน้นโดยผู้เขียน)” [9]

ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยน่าจะพอตีความพระราชบรมวินิจฉัยนี้ได้ว่ามีนัยอะไร อย่างไรก็ตาม ในตอนหน้า ผู้เขียนจะขอตีความตามความเข้าใจของผู้เขียนและขยายความถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันด้วย เพราะคำ “ปรสิต” หรือพวกหนักโลกนี้ ได้กลับมาถูกใช้แพร่หลายอีกในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ใช้คำนี้พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า ๒๔๘.

[2] Carl C. Zimmerman, Siam: Rural Economic Survey 1930-31 ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยสำนักพิมพ์ The Bangkok Times Press. และ ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 285.

[3] “สกลวรรณากร” ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สกลวรรณากร

[4] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 362.

[5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 362-363.

[6] มีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ในชื่อ การสำรวจเศรษฐกิจในชนบทแห่งสยาม รายงานโดย คาร์ล ซี. ซิมเมอร์แมน,  แปลและเรียบเรียงโดย ซิม วีระไวทยะ ผู้สนใจประวัติโดยย่อของเขา ดู กษิดิศ อนันทนาธร,  “ซิม วีระไวทยะ : ชีวิตเพื่ออุดมคติแห่งคณะราษฎร”  The 101.World, 22 Jun 2017, https://www.the101.world/sim-viravaidya/

[7] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 247-248.

[8] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 287-288.

[9] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 292.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า