๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๔)

 

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในฐานะที่เป็นร่างนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ  นอกจากจะพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวแล้ว ยังมีการนำพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาพิจารณาด้วย โดยให้หลวงประดิษฐ์ฯ [1]

ในพระบรมราชวินิจฉัยที่มีต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงความเห็นโต้แย้งแนวคิดทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯแทบจะทุกประเด็นโดยละเอียด [2] โดยพระองค์ได้ทรงศึกษาจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจจองรัสเซียชื่อ  “An Economic History of Soviet Russia” ของ Lancelot Lawton  ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕  นับว่าเป็นการใช้ข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับเศรษฐกิจของรัสเซียที่ทันสมัยอย่างยิ่งในขณะนั้น [3]

ในส่วนที่เป็นสรุปความพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จปกเกล้าฯ มีความดังต่อไปนี้

“เรื่องที่ได้พิจารณามาแล้วนี้ ย่อมเป็นความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ซึ่งจะเป็นการถูกต้องหรือไม่นั้น ก็เป็นแต่ความคิดของข้าพเจ้าเท่านั้น การที่จะรู้ว่าใครเป็นคนถูกหรือผิด ก็ต้องทดลองดูเท่านั้นจึงจะเห็นได้ แต่มีข้อสำคัญอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างไม่ต้องเป็นสิ่งสงสัยเลยว่า โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯจะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่า โครงการทั้งสองนี้เหมือนกันหมด เหมือนกันจนรายละเอียดเช่นที่ใช้และรูปของวิธีการกระทำ จะผิดกันก็แต่รัสเซียนั้นแก้เสียเป็นไทย หรือไทยนั้นแก้เป็นรัสเซีย  [4]  ถ้าสตาลินเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ ข้าวสาลีแก้เป็นข้าวสาร หรือข้าวสารแก้เป็นข้าวสาลี รัสเซียเขากลัวอะไร ไทยก็กลัวอย่างนั้นบ้าง รัสเซียเขาหาวิธีตบตาคนอย่างไร ไทยก็เดินวิธีตบตาคนอย่างนั้นบ้าง

สภาบำรุงเศรษฐกิจของรัสเซียก็มี และในโครงการของเรา มีโครงการภาคที่ ๑ ที่ ๒ ของหลวงประดิษฐ์ฯ นั้น ตรงกับโครงการเศรษฐกิจอันใหม่ และโครงการ ๕ ปี นิวอิคโคโนมิคโปลีซีไฟว์เยียร์แพลน(นโยบายเศรษฐกิจใหม่ห้าปี/ ผู้เขียน) ของรัสเซียทุกอย่างไป  และขั้นที่ ๓ นั้นก็คือ การเปลี่ยนสภาพประเทศไทยให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริงอย่างรัสเซีย ความข้อนี้มีข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนในร่างพระราชบัญญัติการประกอบเศรษฐกิจ (ที่ร่างขึ้นตามเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ/ผู้เขียน) ในข้อนี้ ไม่ยอมให้ราษฎรมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ก็เมื่อโครงการอย่างเดียวกับที่ใช้อยู่ในประเทศรัสเซียดังกล่าวแล้ว ถ้ารัฐบาลเรารับดำเนินการกระทำทุกอย่างไปโดยตลอด ก็เปรียบเหมือนรัฐบาลเราช่วยให้สมาคมเทอร์ตอินเตอรเนชั่นแนลที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ดำเนินไปถึงจุดประสงค์ได้โดยง่าย [5] เพราะการที่เราจะดำเนินการตามนี้นั้นโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในที่สุดเราจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปอย่างแน่นอน การเป็นคอมมิวนิสต์นี้เป็นเพราะการเศรษฐกิจเป็นไปในทางคอมมิวนิสต์ ไม่ได้กล่าวความว่ารัฐบาลจะจัดทำให้ผู้หญิงเป็นของกลางดังที่ว่ากัน แต่อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ประเทศนับเป็นที่ ๒ ของโลกรองจากประเทศรัสเซีย การที่ไทยจะได้ตำแหน่งอันนี้นั้น ไม่มีใครจะดีใจเท่ากับรัสเซียและสมาคมเทอร์ตอินเตอรเนชั่นแนล แต่ส่วนประเทศอื่นๆแล้ว เขาคงไม่พอใจเลย ความไม่พอใจที่เขาแสดงต่อรัสเซียเวลานี้มีเท่าใด เราก็ย่อมเห็นประจักษ์ชัดเจนแล้ว เราจะอยากให้เขาไม่พอใจในเมืองเราดังนั้นหรือ การที่จะแก้ตัวว่า การทำดังนี้ ถ้าเราไม่ได้ไปรบกวนใครเป็นการทำภายในประเทศของเราเอง และไม่มีข้ออันใดที่ชี้ชักในชั้นต้นว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ย่อมไม่มีประโยชน์ เพราะทุกชาติยิ่งเพื่อนบ้านของเราแล้ว เขาไม่โง่เลย จะตบตาเขาเล่นไม่ได้คล่องๆเป็นแน่  เพราะความจริงที่เขาเห็นว่า เราเดินอย่างรัสเซียนั้นก็พอที่จะทำให้เขาเข้าใจแล้วว่า เราจะกลายเป็นอะไรไปในที่สุด มิใยเราจะบอกว่า เราไม่เป็นคอมมิวนิสต์ให้คอแทบแตก เขาก็ไม่เชื่อเราเลย ก็เมื่อเขาไม่เชื่อเราดังนี้ ก็จะเป็นภัยมากกว่าที่จะเป็นคุณ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ในเรื่องที่เราอาจถูกบุกรุกให้เป็นการเสียอิสรภาพได้ เราจะมัวพูดแต่ว่า ไม่กลัวนั้น เป็นการพูดอย่างผู้หญิงที่เป็นฮีสทีเรียเท่านั้น เพราะใครๆก็ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยมิได้มีฐานะเหมือนรัสเซียในการป้องกันภัยภายนอก รัสเซียใหญ่กว่าไทยมากนัก ใครจะไปทำอะไรก็ยากดังกล่าวมาแล้ว ก็เมื่อการเป็นเช่นนี้ จะเป็นการสมควรแล้วหรือ ที่เราจะยอมสละความเป็นเอกราชของเราเพื่อให้เป็นที่พอใจประเทศรัสเซียชาติเดียว  โครงการอันนี้นั้นอย่าว่าแต่จะทำเลย ถึงแม้จะได้ประกาศออกไปให้ตลอด ๓ ภาค รวมทั้งคำชี้แจงนี้เท่านั้นก็ตาม คนจะเริ่มตกใจกันเป็นอันมาก ถึงเกิดความไม่ปกติได้ แล้วก็ผลร้ายอาจมีมากดังนี้ แล้วเราจะทำทำไม  เวลานี้ วิธีการที่จะทำอย่างอื่นก็พอทำได้ไปก่อนอีก ในขณะนี้มี อาทิเช่น คิดพยายามชักชวนให้ราษฎรเข้าตั้งสหกรณ์ดำเนินการดังที่ใช้กันอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก เป็นต้น มีผู้กล่าวกันว่า ถ้าเราไม่มีโครงการเศรษฐกิจเสียเร็วๆแล้ว เราคงแพ้ในการสงครามเศรษฐกิจเป็นแน่  เพราะราษฎของเราไม่ใคร่ทำการค้าเอง แต่บัดนี้ ฐานะประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว มีราษฎรซึ่งเป็นชั้นขุนนางหรือเจ้านายที่ถูกปลดจากราชการเป็นจำนวนมาก กำลังจะก่อการทำมาหากินเอง แต่ยังมัววิตกกันอยู่อย่างเดียว่า รัฐบาลจะไม่ยอมให้ตนไปทำการค้าขายอิสระ ถ้าขืนไปทำเข้า ภายหลังอาจเสียหายได้เปล่าๆก็ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วยกับโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ  ในขณะนี้ ให้รัฐบาลดำเนินการบำรุงเศรษฐกิจไปในทางส่งเสริมช่วยแนะนำ เช่น ส่งเสริมผู้ที่ประสงค์จะตั้งโรงงานโดยไม่เก็บภาษีมากเกินไปจนอยู่ไม่ติด แต่รัฐบาลควรจะต้องระวังอย่าให้ผู้ที่ตั้งโรงงานเอาเปรียบคนงานเกินไปในทางที่ผิด และนอกจากนั้น ก็จัดการแนะนำให้ราษฎรเข้าร่วมมือกันทำสหกรณ์ใกล้ไปในทางที่ทำอยู่ในเดนมาร์ก และตั้งนาของรัฐบาลรับคนที่ไม่มีงานทำ และคนอื่นที่สมัครเข้าไปทำงาน แสดงตัวอย่างวิธีทำนาอย่างดี และจัดการบำรุงไปในทางการค้าขายอื่นๆ ก็น่าจะดีอยู่  หรือจะคิดแก้ไขอย่างใดบ้างให้เหมาะสมแก่โอกาสก็ควร

แต่ในส่วนโครงการเศรษฐกิจแบบหลวงประดิษฐ์ฯนี้ ควรเลิกล้มความคิดเสีย เพราะแทนที่จะนำมาซึ่งความสุขสมบูรณ์ของประเทศชาติบ้านเมืองดังกล่าวนั้น จะกลายเป็นสิ่งนำมาซึ่งความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  จนเป็นความหายะถึงแก่ความพินาศแห่งประเทศ และชาติบ้านเมืองอันเป็นมรดกที่เราคนไทยได้รับมาแต่บรรพบุรุษ”  [6]        

จะเห็นได้ว่า แม้พระองค์จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยไม่เห็นด้วย   แต่พระองค์ได้ทรงกล่าวออกพระองค์ไว้ว่า เป็นความคิดเห็นส่วนพระองค์ อาจจะผิดหรือถูกก็ได้  อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตอนต้นพระบรมราชวินิจฉัยพระองค์ทรงกล่าวว่า เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เห็นต่างกันนี้

“ขอให้ฟังเสียงของราษฎรจริงๆ อย่างได้หักโหมบังคับเอาโดยทางอ้อม หรือทางใดทางหนึ่ง ให้ออกเสียงเห็นด้วยเลย ขออย่าโกรษราษฎรถ้าเขาพากันออกเสียงว่าไม่ชอบวิธีเหล่านี้ ซึ่งย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พวกของผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์ฯ) โดยแน่นอน และอย่าได้ว่าราษฎรนั้นถือทิฐิมานะงมงายหรือเป็นอุบาทว์กาลีโลก” [7]

หลังจากที่ได้พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯแล้ว  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ มีความเห็นอย่างไร ?

________________________________________

[1] “พระบรมราชวินิจฉัย ร.7 ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี” (ผู้เขียนบทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า) ไทยโพสต์, วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562.   https://www.thaipost.net/main/detail/33019

[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 277-356.

[3] Lawton เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและเป็นนักหนังสือพิมพ์การเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องยูเครนโดยเฉพาะด้วย ซึ่งในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๖ ได้เกิดวิกฤตความอดอยากอย่างรุนแรงในยูเครน ผู้คนนับล้านต้องอดตาย  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความอดอยากของทั้งสหภาพโซเวียตที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๔  https://www.britannica.com/event/Holodomor  วิกฤตความอดอยากครั้งใหญ่ในยูเครนนี้มีชื่อเรียกว่า “Holodomor”  ซึ่งมีความหมายว่า “การฆ่าโดยปล่อยให้อดตาย”  นักวิชาการลงคามเห็นสว่า วิกฤตดังกล่าวในยูเครนเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลโซเวียต

[4] ผู้สนใจ ตัวอย่างโครงการเศรษฐกิจของสตาลินในกรณีของการครอบครองที่ดินโดยรัฐและการให้ทำนารวม โปรดดูเปรียบเทียบได้ใน  “๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๐)”

[5] The Third International หมายถึง การประชุมคอมมิวนิสต์สากลครั้งที่สาม (The Third World Congress Communist International) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 ที่กรุงมอสโคว โดยวาระสำคัญวาระหนึ่งในที่ประชุมนี้คือ การริเริ่มนโยบายเศรษฐกิจใหม่ในโซเวียตรัสเซีย

[6] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 354-356.

[7] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 378.

   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490