๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๙)

 

 

เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหนึ่งในปัญหาที่เป็นสาเหตุให้คณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชยื่นเงื่อนไขเรียกร้องหกข้อต่อรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  และเมื่อรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองกับฝ่ายรัฐบาลอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑๔ ตุลาคม  และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง และต่อมาคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นที่รู้จักกันในนามของ “กบฏบวรเดช”                                

ที่มาของเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้คือ หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ และมีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี นโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องกำหนดให้มีขึ้นคือนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ ดังนั้น ในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๖ คณะรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมลองจัดทำแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเองเห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองย่อมสูญเปล่า ถ้าไม่ลงมือทำอะไรกับระบบเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงรับเอาภารกิจดังกล่าวไปดำเนินการเอง สำเร็จออกมาเป็น “เค้าโครงเศรษฐกิจ”

โดยสาะสำคัญประการหนึ่งคือสนับสนุนระบบนารวม (collective farming) [1] และสาระสำคัญอื่นๆที่ต่อมาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแนวเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์หรือหากไม่เป็นคอมมิวนิสต์ ก็มีความคล้ายคลึงกับแผนเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตรัสเซีย

“ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๗๖ หลวงประดิษฐ์ฯได้เสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น ๑๔ คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับดังกล่าว” [2]  และคณะอนุกรรมการได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ [3]   

ในหนังสือ เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗ ที่รวบรวมโดย  ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร    ชัยอนันต์และขัตติยาได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้ว่า “ก่อนหน้าการประชุม หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ขอให้กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีส่งจดหมายเวียนไปยังกรรมการทุกคน ขอให้เสนอความเห็น หรือแจ้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ ที่น่าสังเกตก็คือ การถามข้อสงสัยในคำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ให้ผู้ถามทำการปฏิญาณตัวไว้ด้วย อย่างไรก็ดี ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้ว่าคำปฏิญาณนี้สอดคล้องกับข้อระลึกในการอ่านคำชี้แจงซึ่งหลวงประดิษฐ์ฯเขียนคำนำไว้ก่อนคำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจของตน...” [4]    

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ลองเปรียบเทียบ ผู้เขียนขอนำคำชี้แจงเค้าโครงเศรษกิจของหลวงประดิษฐ์ฯซึ่งปรากฎในร่างเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ และคำปฏิญาณตนของคณะกรรมมานุการ (อนุกรรมการ)  ในการตั้งคำถามข้อสงสัยในคำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่ปรากฎในหนังสือของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ก่อนหน้าวันประชุมคณะกรรมานุการสองวัน  

คำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจ ข้อระลึกในการอ่านคำชี้แจงนี้ (๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖)

“การคิดที่จะบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรนี้ ข้าพเจ้า (หลวงประดิษฐ์ฯ/ผู้เขียน) ได้เพ็งเล็งถึงสภาพอันแท้จริงตลอดจนนิสัยใจคอของราษฎรส่วนมาก ว่าการที่จะส่งเสริมให้ราษฎรมีความสุขสมบูรณ์นั้น ก็มีอยู่ทางเดียว ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเสียเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ   

ความคิดที่ข้าพเจ้าได้มีอยู่เช่นนี้ ไม่ใช่เป็นด้วยข้าพเจ้ามีอุปาทานผูกมั่นอยู่ในลัทธิใดๆ ข้าพเจ้าได้หยิบยกเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่างๆที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ประเทศสยาม แล้วจึงได้ปรับปรุงยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ                           

แต่ควรมีข้อจะระลึกว่า การจัดบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจนั้นย่อมมีลัทธิอยู่มากมายหลายอย่าง แต่ผู้ที่นิยมนับถือในลัทธิต่างๆยังมีอาจที่จะตกลงกันได้ ทั้งนี้ศาสตราจารย์ เดสซองป์ส แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีสได้กล่าวไว้มีอยู่ ๓ ประการ                         

๑. เพราะบุคคลทุกคนยังไม่รู้ในลัทธิต่างๆ การไม่รู้นี้เป็นโดยไม่ตั้งใจ เช่น ผู้ที่ไม่ได้ศึกษา หรืออ่านตำราที่แท้จริงของลัทธิต่างๆ บุคคลผู้นั้นก็มิอาจที่จะทำความตกลงอย่างไรได้     

๒. เพราะตั้งใจจะไม่รับรู้ เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังคำโพนทะนาตลาดว่า ลัทธิหนึ่งนิยมให้ฆ่าฟันกัน ริบทรัพย์ของผู้มั่งมีเอามาแบ่งให้คนจนเท่าๆกัน เอาผู้หญิงเป็นของกลาง แล้วก็หลงเชื่อ ตามคำตลาด และมีอุปาทานยึดมั่นอยู่ในความชั่วร้าย แล้วไม่ค้นคว้าและสืบต่อไปให้ทราบความว่าลัทธินั้นได้ยุยงให้คนฆ่าฟันกันจริง หรือเอาผู้หญิงมาเป็นของกลางจริง หรือรับทรัพย์แบ่งให้เท่าๆกันจริงหรือ

๓. เพราะเหตุประโยชน์ส่วนตน กล่าวคือ บุคคลที่แม้รู้ลัทธิต่างๆว่ามีส่วนดีอย่างไร ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ ไม่ยอมที่จะดำเนินตาม เพราะเหตุที่ตนมีประโยชน์ส่วนตัวที่จะป้องกันไม่ให้ลัทธิต่างๆนั้น เช่น ลัทธิโซเชียลลิสต์ที่ประสงค์ให้รัฐบาลประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง เพื่อประโยชน์ของราษฎรเสียทั้งหมดดังนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก็ไม่นิยมลัทธิโซเชียลลิสต์ เพราะเกรงไปว่าประโยชน์ที่ตนมีอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นจะต้องถูกริบ หรือบุคคลที่เกลียดชังรัฐบาลด้วยเหตุส่วนตัว แม้จะรู้ลัทธิต่างๆและจะเห็นว่าลัทธินั้นด็ก็ตาม และเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการลัทธินั้น ตนเองได้ตั้งใจเป็นปรปักษ์กันกับรัฐบาลแสร้งทำเป็นถืออีกลัทธิหนึ่ง บุคคลจำพวกนี้เป็นพวกอุบาทว์กาลีโลก เพราะเหตุที่ตนมุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ หาได้มุ่งถึงประโยชน์ของราษฎรโดยทั่วไปไม่         

สำหรับประเทศไทยที่ข้าพเจ้าเคยสังเกตมายังเห็นว่ามีเหตุหนึ่ง คือ ทิฐิมานะ ข้าพเจ้าเคยอ่านคำบรรยายของท่านนักปราชญ์ในเมืองไทยบางท่าน ซึ่งอธิบายกล่าวภายในลัทธิหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ถามท่านผู้นั้นว่า ท่านได้อ่านจากหนังสือปรปักษ์จากลัทธินั้นหรือคำเล่าลือ ได้ความว่า ท่านได้ยินคำเล่าลือ ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้อ่านหนังสือของผู้ที่เป็นกลาง ท่านอ่านและเห็นจริงว่าที่บรรยายมาแล้วเป็นคำเท็จ แต่เพื่อที่จะสงวนชื่อเสียงส่วนตัวของท่าน ท่านก็มีทิฐิมานะแสร้งบรรยายอยู่ตามเดิม ทั้งๆที่รับกับข้าพเจ้าแล้วว่าท่านผิด แต่ท่านต้องทำโดยมานะ ท่านนักปราชญ์เหล่านี้เป็นพวกอุบาทว์กาลีโลกเช่นเดียวกับพวกที่นึกถึงประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่      

ฉะนั้น ผู้ที่อ่านคำชี้แจงของข้าพเจ้าขอได้ตั้งใจเป็นกลาง หลีกเลี่ยงจาเหตุชั่วร้ายดังกล่าวข้างต้นนี้ และวินิจฉัยว่าเค้าโครงการฯที่ข้าพเจ้าคิดอยู่นี้จะช่วยราษฎรได้ตามที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้นั้นหรือไม่ เมื่อติดขัดประการใด ก็ขอได้โปรดถามผู้แย้งว่าเหตุผลนั้นเป็นของเขาเอง หรือเป็นเหตุผลที่เขาได้ยินจากปากตลาดอย่างใด พร้อมทั้งสอบถามถึงเอกสารอันเป็นหลักฐานใดๆ ซึ่งผู้แย้งได้อ่าน หรือได้พบแล้ว ได้โปรดแจ้งมายังข้าพเจ้าด้วย

อ่านคำชี้แจงนี้ ไม่ใช่ต้องการว่า ผู้มีปริญญาจึงจะวินิจฉัยได้ แม้ผู้ไม่ได้รับปริญญา ถ้าค้นคว้าสืบสวนจริง ไม่ใช่เชื่อแต่ข่าวลือ ก็วินิจฉัยได้ดีกว่าผู้ไม่สืบค้นคว้าตามจริง” [5]

               ---------                 

คำถามข้อสงสัยในคำชี้แจงเค้าโครงเศรษฐกิจของ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สำหรับกรรมานุการ (๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖)      

“ข้าพเจ้าผู้ถามซึ่งมีนามข้างท้ายนี้ ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าได้อ่านเค้าโครงการนั้นจบแล้ว และได้ตั้งตนเป็นกลางในการวินิจฉัย โดยหลีกเลี่ยงเหตุชั่วร้ายที่กีดกันมิให้ลัทธิต่างๆลงรอยกันได้แล้ว ข้าพเจ้าไม่เชื่อในคำโจทนาอันไม่มีหลักฐาน ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจที่จะไม่รู้ ข้าพเจ้าไม่ได้นึกถึงประโยชน์ส่วนตน ข้าพเจ้าไม่ได้มีทิฐิมานะอันใด ข้าพเจ้าได้สอบถามหลักฐานผู้โจทนาแล้ว ข้าพเจ้ายังสงสัยในข้อความต่อไปนี้ ขอให้ท่านแจ้งข้อที่ข้าพเจ้ายังสงสัยให้ทราบด้วย                               

(ต่อไปนี้ ขอให้เขียนข้อความที่สงสัย แจ้งชื่อหนังสืออื่นที่ผู้สงสัยได้อ่านในการทำให้เกิดสงสัยในเค้าโครงการ และนามผู้โจทนา)” [6]    

ดังนั้น จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตัวหลวงประดิษฐ์ฯเองก็เข้าใจถึงเจตนาของการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจแห่งชาติในวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่าเป็นประชุมเพื่อให้มีการถาม – ตอบข้อสงสัยต่อเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการประชุมเพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแต่อย่างใด

แต่ในตอนท้ายของการประชุม หลวงประดิษฐ์ฯเองพยายามจะสรุปให้ได้ความเห็นต่อนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติไปในทางใดทางหนึ่งโดยกล่าวว่า “จะเอาอย่างไรกัน ฝ่ายหนึ่งไม่เอาเลย คือ ลิเบอรัลและทำแล้วแต่โอกาส และเพิ่มเติมขึ้นบ้าง แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำทั้งหมด ความเห็นพระยามโนปกรณ์ฯเป็นส่วนย่อยของโครงการณ์ แต่ไม่มีนโยบาย เช่น ตั้งโรงสี จะตั้งอย่างลิเบอรัลก็ได้ อย่างโซเชียลลิสต์ก็ได้”  [7]

จนทำให้พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสิบสี่คณะกรรมานุการกล่าวย้ำเป็นที่สุดว่า “วันนี้ เราไม่ได้มาตกลงกัน เป็นแต่มาแสดงความเห็นเท่านั้น” [8] 

และในบันทึกรายงานการประชุมที่จดบันทึกโดยหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ก็ไม่ได้ปรากฎในบันทึกว่ามีการลงมติแต่อย่างใด 

จึงให้น่าสงสัยว่า ทำไมในหนังสือ ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ กลับกล่าวถึงการประชุมดังกล่าวนี้ว่า “คณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ประชุมกัน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม หลังจากการซักถามในหลักการ ที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับเค้าโครงฯฉบับนี้ 8 นาย....ที่คัดค้าน...รวม 4 เสียง ที่หายไป 2 เสียงคือ นายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ” [9] ?  และจะเป็นด้วยเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งตามที่หลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวไว้ในข้อระลึกในการอ่านคำชี้แจง  ?

_________________________________________

[1] ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540),  จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 46.

[2] เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 357.

[4] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 238.

[5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 239-240.

[6] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 238.

[7] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 372.

[8] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 372.

[9] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560), หน้า 349.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490