การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๕๙): การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ต่อไปนี้ จะได้ดำเนินการตามาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475/ผู้เขียน) มีข้อความว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร  ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว  เป็นอันว่าเวลานี้ท่านไม่อยู่ ไม่ประทับอยู่ในประเทศสยาม ท่านยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ จำเป็นจะต้องมีผู้สำเร็จราชการ ขอให้ตกลงว่าจะเป็นคนเดียวหรือเป็นคณะ หรือจะเป็นหลายคน ตกลงในข้อนี้ก่อน”

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า

“ตามนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ประกอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ เห็นว่าจำเป็นจะต้องตั้งคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ นั้น มุ่งหมายเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว  ส่วนมาตรา ๑๐ ควรจะใช้บังคับโดยตรง แต่ในกรณีนี้หาเป็นเช่นนั้นไม่ กรณีนี้ เราจะต้องเอากฎมณเฑียรบาลมาใช้บังคับโดยอนุโลม  ซึ่งกฎมณเฑียรบาลนั้นได้มีข้อความระบุไว้ชัดว่า ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ ก็จะได้ตั้งพระบรมวงศ์ผู้ทรงอาวุโสทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอีก ๒ นาย รวมเป็น ๓ นาย เรียกว่า ‘สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน’  เมื่อเรามีรัฐธรรมนูญบ่งชัดและตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญนั้น มุ่งหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ในกรณีนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ เราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเอากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะมาบังคับ   เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรจะตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ โดยเราจะเรียกว่าอย่างไรก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกตามรัฐธรรมนูญว่า คณะผู้สำเร็จราชการ โดยประกอบด้วยเจ้านายที่อาวุโสสุง หรือผู้ที่เราเห็นชอบว่ามีวิทยาความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอีก ๒ ท่าน เป็น ๓ ท่าน”

พระยามานวราชเสวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า

“ตามที่ท่านสมาชิกเสนอว่า ในการที่จะตั้งผู้สำเร็จราชการคราวนี้ ควรจะให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลนั้น ข้าพเจ้าขอประทานเสนอว่า ความมุ่งหมายแห่งมาตรา ๑๐ ในรัฐธรรมนูญก็เพื่อจะลบล้างความในกฎมณเฑียรบาล เพราะฉะนั้น เมื่อเกี่ยวกับที่ลบล้างนั้น ลบล้างเฉพาะในเรื่องวิธีการ ในเรื่องวิธีการบอกให้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ ซึ่งมีความว่า เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์   เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ บุคคลที่กล่าวไว้ในมาตรา ๑๐ นี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นเจ้า และไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเสนาบดีหรือรัฐมนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องการให้ได้คนเป็นกลาง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอประทานเสนอในทีนี้เพียงเท่านี้”

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า

“บางทีสมาชิกบางท่านอาจจะเข้าใจความหมายของข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าบอกว่าจำเป็นจะต้องเอารัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับ แต่เพื่อจะให้ได้ผลที่ดีที่สุด เราควรจะเอากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม และข้าพเจ้าได้แนะนำว่า ในกรณีเช่นเดียวกันนี้ เราควรจะตั้งเจ้านายองค์หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ๒ คน เป็นการแนะนำว่าควรเป็นเช่นนั้น มิได้บังคับว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น ขอให้โปรดเข้าใจคำว่าควร”

น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอถือโอกาสขยายข้อความที่เจ้าคุณมานฯได้กล่าวเมื่อกี้นี้ คือ ในกรณีซึ่งจะมีผู้สำเร็จราชการ ซึ่งจะเป็นคนเดียวหรือคณะนี้ ได้มีบัญญัติไว้ ๒ แห่ง คือ ในกฎมณเฑียรบาลแห่งหนึ่ง และในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ อีกแห่งหนึ่ง ขอแยกปัญหาออกเป็น ๒ ข้อ คือ ในโอกาสใดที่ควรจะมีผู้สำเร็จราชการหรือไม่นั้น  ในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อความทับกฎมณเฑียรบาล คือ กฎมณเฑียรบาลมาตรา ๑๔ มีว่า ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ คือเมื่อมีชนมายุยังไม่ครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ไซร้ ท่านว่ายังทรงสำเร็จราชการสิทธิขาดโดยพระองค์เองหาได้ไม่’  นี่ก็มีปัญหาอันหนึ่งว่า ในกฎมณเฑียรบาลนี้ได้มีรัฐธรรมนูญลบล้างหรือไม่  ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดลบล้าง ก็หมายความว่า มาตรา ๑๔ นี้เป็นอันใช้ได้  และเมื่อใช้ได้แล้ว ก็หมายความว่า ในกรณีเช่นนี้ จะต้องมีผู้สำเร็จราชการ ส่วนมาตรา ๑๕ และ ๑๖ ในกฎมณเฑียรบาลนั้น บัญญัติต่อไปถึงวิธีการหรือบุคคลซึ่งไม่ควรจะเป็นผู้สำเร็จราชการ มีกล่าวเอาไว้ ซึ่งขออ่านย่อๆดังนี้ว่า ในมาตรา ๑๖ มีกล่าวไว้ว่า ‘ท่านผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีพระชนมายุเกินกว่า ๒๐ พรรษาบริบูรณ์แล้ว และต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในมาตรา ๑๑ และ ๑๒ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ คือ เป็นต้นว่า ผู้ซึ่งถูกตัดสิทธิในการที่จะครองราชสมบัติ  แต่กฎมณเฑียรบาลมาตรา ๑๕ และ ๑๖ นี้ ตามความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ ลบล้างเสียแล้ว  กล่าวคือบัญญัติไว้ว่า ให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการที่จะเลือกบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดหรือคณะหนึ่งคณะใด เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปปัญหาลงไป ก็หมายความว่า ในกรณีที่จะมีผู้สำเร็จราชการนั้น เราต้องถือตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญลบล้าง ส่วนตัวบุคคลที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการนั้น คิดว่ามาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญลบล้างแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสภาฯที่จะวินิจฉัย ความเห็นของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ จึงขอประทานเสนอเพื่อความดำริ”

ผู้เขียนขอยกข้อความในมาตรา ๑๑, ๑๒, ๑๕ และ ๑๖ ของกฎมณเฑียรบาลมาให้ผู้อ่านได้พิจารณาประกอบ ดังนี้

มาตรา ๑๑  เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

ลักษณะที่กล่าวนี้ คือ

(๑) มีพระสัญญาวิปลาส

(๒) ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ

(๓) ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก

(๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้

(๕) เป็นผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ

(๖) เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์

มาตรา ๑๒  ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๑ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น

มาตรา ๑๕  ถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์ ดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๔ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าให้ท่านเสนาบดีพร้อมกันเลือกเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์หนึ่งขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนกว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาบริบูรณ์ จึงให้ท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์นั้นพ้นจากหน้าที่

มาตรา ๑๖  ท่านผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๕ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีพระชนมายุเกินกว่า ๒๐ พรรษาบริบูรณ์แล้ว และต้องไม่เป็นผู้ที่มีลักษณะบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้กล่าวไว้แล้วในมาตรา ๑๑ และ ๑๒ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า