การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๖๑): การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน และนายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุมสภาฯดังต่อไปนี้

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

เจ้าพระยายมราช              

ขุนอินทรภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพ็ชรบูรณ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยรัฐบาลใน ๒ พระองค์ที่รัฐบาลเสนอแล้ว แต่ว่าเจ้าพระยายมราชนั้น ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย แต่เหตุผลประการใดจะไม่ขอกล่าว รัฐบาลได้กล่าวแล้วว่าเพื่อประโยชน์ในราชการ ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอเจ้าคุณพหลฯแทนเจ้าพระยายมราช”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอถอน เพราะเหตุที่ว่า ที่ข้าพเจ้าไม่อยากเป็นนั้นเพราะเหตุอย่างนี้ ถ้าข้าพเจ้าเป็นแล้วเขาจะหาว่าข้าพเจ้าคืบเรื่อยขึ้นไป อันนี้น่าเกลียดจริงๆ แล้วข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นใหญ่เป็นโต คือตั้งใจว่าจะรับราชการในหน้าที่นายกรัฐมนตรีนี้เท่านั้น หรือมิฉะนั้น ข้าพเจ้าก็ขอออกไปรับเบี้ยบำนาญอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม ไม่ต้องการมีอำนาจวาสนาใดๆ ความตั้งใจก็เพื่อจะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติเท่านั้น ข้าพเจ้าไปรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ก็จะมีผู้ครหาว่าข้าพเจ้ามุ่งหมายจะเป็นดิคเตเตอร์แน่ๆ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสียทีเถอะ”

พระยาอภิบาลราชไมตรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ที่ทรงคุ้นเคยกับเจ้านายฝ่ายหน้าก็ดี ฝ่ายในก็ดีอย่างสนิทสนม และอีกประการหนึ่ง ทั้งวิชาความรู้ก็มีดีกรีจากเมืองนอก และทั้งได้คุ้นเคยกับชาวต่างประเทศและเคยรับราชการในหน้าที่ต่างประเทศมาแล้วเป็นเวลานาน ท่านผู้นี้ ข้าพเจ้าหมายถึงกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอพระนามกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัยเข้าในคณะนี้ด้วย”

นายมังกร สามเสน กล่าวว่า “ในการที่รัฐบาลเสนอเจ้าพระยายมราชนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เพราะท่านผู้นี้ได้เชี่ยวชาญในการปกครอง และเคยเป็นอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มา  และเป็นที่นับถือขอคนทั่วไป ไหวพริบในทางราชการก็ไม่มีใครสู้ได้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการสมควรอย่างยิ่ง และขอรับรองเจ้าคุณยมราช”

นายแข วัจนลักษณะ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า “ในการที่เสนอชื่อนั้น ข้าพเจ้าเองไม่มีความเห็นอะไรด้วยทั้งนั้น เพราะเหตุว่า ผู้แทนโดยมากย่อมมาจากต่างจังหวัด จะเป็นเจ้านายองค์ใดที่จะดีหรือสามารถนั้น ย่อมจะทราบกันไม่ได้  โดยทั่วไป แต่ว่าเท่าที่รัฐบาลเสนอเจ้านายแต่เพียง ๓ ท่านนั้น ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่า ส่วนเจ้านายอื่นๆซึ่งมีคุณความดีหลั่นๆลงมานั้น รัฐบาลก็มิได้แถลง คงแถลงแต่เพียง ๓ คนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดไม่เคยรู้พระประวัติหรือประวัติของผู้ใดโดยทั่วๆไป จึงอยากจะใคร่ให้รัฐบาลเสนอนามให้มากกว่านี้อีกไม่ได้หรือ และขอแสดงเหตุด้วยในที่นี้ เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ในเรื่องที่รัฐบาลเสนอมา ๓ คนนี้ ก็เสนอโดยความจุใจ แต่ว่าจะเสนอคนอื่นๆมาด้วยนั้น นั่นแหละ ข้าพเจ้าก็พูดตรง แปลว่า คือ ดวงใจของข้าพเจ้ามีอย่างไรก็อยากจะแสดงออกไปอย่างนั้น แต่ในที่นี้ ข้าพเจ้าจุใจเพียง ๓ ท่านเท่านี้”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอเสนอว่า รัฐบาลควรเสนอรายชื่อมากกว่า ๓ เพียงสภาฯนี้จะได้มีคนไว้สำหรับเผื่อเลือกบ้าง ที่รัฐบาลเสนอมาเพียง ๓ นั้น อาจจะเป็นว่ารัฐบาลจงใจให้สมาชิกเลือก ๓ คนนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรจะเสนอรายชื่อให้มากกว่า ๓ คนจึงจะถูกต้อง อนึ่ง ข้าพเจ้าขอเรียนถามว่า เวลานี้ กรมหมื่นอนุวัตนฯ นี้รับราชการตำแหน่งใด มีพระชนม์เท่าไร และเจ้าพระยายมราชนั้น รัฐบาลก็รับแล้วว่า มีจุดอยู่บ้าง รัฐบาลมีความหมายเพียงใด และมีด่างพร้อยอย่างใด เป็นเหตุอุกฉกรรจ์พอที่จะทำให้ราษฎรไม่นิยมนับถือได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุว่า คณะผู้สำเร็จราชการนี้ควรจะเป็นผู้ที่ราษฎรรักใคร่นับถือ ไม่มีความรังเกียจอย่างใดเลย จึงจะเป็นผู้สำเร็จราชการได้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าบอกแล้วว่า ข้าพเจ้าพูดจริง ข้าพเจ้าได้รับข่าวลือมาว่า ท่านผู้นั้นมีข้อบกพร่องอยู่บ้างเท่านั้น เพื่อจะให้สภาฯทราบข้อเท็จจริง จะได้ทราบคุณลักษณะต่างๆของผู้รับเลือก”

ร.ต. เนตร์ พูนวิวัฒน์ กล่าวว่า “เรื่องนี้ ความจริง รัฐบาลควรเสนอมากกว่านี้ แต่ทว่า เหตุที่เสนอ ๓ คนประการใดนั้น รัฐบาลได้แถลงแล้ว แต่เพื่อที่จะช่วยรัฐบาลให้มองดูคนอื่นบ้าง ข้าพเจ้ารู้จักเจ้านาย ๒ พระองค์และเจ้าคุณยมราชดี เพราะเหตุว่า ข้าพเจ้าได้ติดต่อกับท่านเหล่านี้มาแล้ว  แต่ยังมีอีกคนหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้รู้จักดีเท่ากับท่านทั้ง ๓ นี้ ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่มีความรู้รอบคอบ สุขุม ใจหนักแน่น และซื่อสัตย์ การเปลี่ยนแปลงไปในระบอบใดแล้ว ท่านผู้นั้นย่อมทำตัวเปลี่ยนไปตามนั้น ท่านผู้นั้นคือ เจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ข้าพเจ้าขอเสนอชื่อท่านผู้นี้ ฝากไว้ในความระลึกของสภาฯด้วย”

เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัง กล่าวว่า “ที่อยากจะทราบว่า กรมหมื่นอนุวัตนฯตำแหน่งใด อายุเท่าใดนั้น กรมหมื่นอนุวัตนฯเป็นพันเอก ราชองครักษ์ของสมเด็จพระราชินี พระชนม์พรรษาอยู่ใน ๕๐ เศษ หรือเท่าไรจำไม่ได้แน่นัก”

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอพูดสำหรับเจ้าพระยายมราช ถ้าได้พิจารณาดูโดยรอบคอบแล้ว มีผู้อภิปรายแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยากจะพูดมาก ข้าพเจ้าขอรับรองว่าเจ้าพระยายมราชเป็นผู้ที่ดียิ่ง สมควรแล้ว ส่วนเจ้านาย ๒ พระองค์นั้น ข้าพเจ้าก็เห็นว่าดีแล้ว”

นายฮั้ว ตามไท ผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า “คณะผู้สำเร็จราชการเท่าที่มีผู้เสนอมานี้ ข้าพเจ้าก็เห็นพ้องด้วย แต่บางท่าน ข้าพเจ้าเห็นว่า สมควรที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการ ที่ข้าพเจ้ารู้จักและเห็นว่าควรจะเป็นผู้สำเร็จราชการนี้มีอยู่อีกท่าน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ซึ่งได้มีผู้เสนอมาแล้วนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นมีพวกนักนิติศาสตร์เลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศอีกคนหนึ่ง”

ตกลง เมื่อถึง ณ ขณะนี้ มีผู้ได้รับการเสนอพระนามและชื่อทั้งหมด 6 ท่าน คือ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย และเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แต่คณะผู้สำเร็จราชการมีได้เพียงสามท่าน (โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า