การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๖๒): การแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน และนายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุมสภาฯดังต่อไปนี้

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

เจ้าพระยายมราช

ต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนออีก 3 ท่าน โดยพระยาอภิบาลราชไมตรีเสนอกรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ร.ต. เนตร์ พูนวิวัฒน์เสนอเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน   และนายฮั้ว ตามไทเสนอเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ รวมมีผู้ได้รับการเสนอพระนามและชื่อทั้งหมด 6 ท่าน

จากนั้น น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีกล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอแถลงข้อความบางอย่าง และในตอนท้ายเพื่อจะได้พูดถึงเจ้าคุณศรีฯ (เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ/ผู้เขียน) และได้มีผู้อภิปรายกันมาแล้ว ในมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญ สิทธิที่จะเลือกตั้งผู้สำเร็จราชการนี้อยู่ในสภาฯนี้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลไม่ได้ตัดโอกาสในการที่จะมีสมาชิกเสนอผู้หนึ่งผู้ใดขึ้น เท่าที่รัฐบาลเสนอขึ้นก็คือ ในจำนวนที่เห็นสมควร และในตัวบุคคลเท่าที่เห็นสมควร และในเหตุผลบางประการซึ่งเห็นสมควร แต่รัฐบาลไม่ได้เสนอ เป็นต้นว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ก็ได้อยู่ในความพิจารณาและปรึกษากันในระหว่างคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน และเห็นว่า การที่จะตั้งผู้สำเร็จราชการคราวนี้จะต้องประกอบด้วยผู้เป็นกลางจริงๆ ไม่ควรจะให้มีอำนาจในทางฝ่ายบริหารหรือทางฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปพัวพันด้วย  เพราะเหตุว่า ท่านเป็นประธานสภาฯ และในการที่จะเสนอประธานสภาฯเช่นนี้  ก็ยังไม่แน่ใจนักว่าเจ้าคุณศรีฯ จะได้รับเลือกหรือไม่  และเจ้าตัวจะสมัครหรือไม่ เพราะเห็นทางอยู่ไกล และจะต้องให้เจ้าคุณศรีฯลาออกเสียก่อน  เหตุการณ์ก็จะไม่ทันท่วงที และเมื่อท่านลาออกแล้ว ในที่สุด ท่านไม่ได้รับเลือกแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป นี่ความลำบากใจของรัฐบาล เป็นเช่นนี้ จึงไม่ได้เสนอมา”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ที่ท่านเสนอเจ้าคุณศรีฯนั้น จะคงติดใจอีกหรือ”

นายฮั้ว ตามไท ผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังติดใจอยู่ ไม่ถอน”

ด. เทียม ศรีพิสิฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเสนอให้ลงมติ”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอสนับสนุนท่านผู้แทนซึ่งเสนอเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แม้ว่าในเวลานี้ เจ้าพระยาศรีฯจะเป็นประธานสภาฯก็ดี แต่การเลือกตั้งนั้น เมื่อเจ้าพระยาศรีฯได้รับเลือกเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว เจ้าพระยาศรีฯก็สามารถที่จะลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯได้ มีตัวอย่าง คือ พระยาศรยุทธฯ (พระยาศรยุทธเสนี [กระแส ประวาหะนาวิน]/ผู้เขียน) รัฐบาลโวตเลือกเอาไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และพระยาศรยุทธฯก็ลาออกจากตำแหน่งประธานสภาฯ และรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ นั่นก็ทำได้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า เจ้าพระยาศรีฯสมควรที่จะอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนี้ได้ด้วยผู้หนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในนิติศาสตร์ และเคยรับราชการในตำแหน่งสูงๆเป็นอันมาก อาทิเช่น รัฐมนตรียุติธรรม อธิบดีศาลฏีกา ตำแหน่งในยุติธรรม และศาลแพ่ง และตำแหน่งอื่นๆอีกหลายสิบตำแหน่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นตำแหน่งสำคัญทั้งนั้น  ซึ่งท่านผู้นี้สมควรจะอยู่ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอย่างยิ่ง  ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า ท่านทั้งหลายก็คงจะเห็นพ้องด้วยในข้อนี้ และอีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าขอเสนอว่านอกจากเจ้าพระยาศรีฯแล้ว ข้าพเจ้าขอเสนอเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งเคยเป็นประธานสภาฯของเรา ท่านผู้นี้มีความซื่อสัตย์ และเราท่านทั้งหลายก็คงจะได้ทราบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดเห็นพ้องด้วย ขอได้โปรดรับรอง”

ขุนวรศาสน์ดรุณกิจ  นายทองกระจาย รัชตะวรรณ รับรอง

ขุนวรศาสน์ดรุณกิจ  ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าขอกราบเรียน เฉพาะระหว่างเจ้าคุณยมราชกับเจ้าคุณศรีฯ ว่าควรจะเป็นคนไหน ดูเหมือนว่าเวลานี้นโยบายของรัฐบาลและของเราด้วย ก็ต้องการความสงบเรียบร้อยเป็นใหญ่ ยิ่งกว่านั้น เราต้องการผู้ที่เชี่ยวชาญในทางการออกไปเป็นผู้สำเร็จราชการราชการ เราทราบกันอยู่แล้วว่า เจ้าคุณยมราชนั้น ท่านเป็นคนซึ่งเจ้านายและข้าราชการโดยมากรักใคร่และนับถือ เพราะฉะนั้น ถ้าเราได้ตัวคนนั้นมาประจำการแล้ว ย่อมจะทำให้นโยบายที่เราต้องการความสงบสำเร็จได้ ข้อที่เราต้องการอาศัยหลักวิชาจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า เราอาศัยในทางอื่นก็ได้ เช่น อาศัยทางกรมร่างกฎหมายก็ได้  ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากจะชักชวนที่ประชุมให้ระลึกถึงเหตุนี้ให้มาก ที่นี้มีผู้ที่เสนออีกคนหนึ่ง คือเจ้าพระยาธรรมศักดิฯ สำหรับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ ข้าพเจ้าปล่อยให้คนอื่นวินิจฉัย”

หลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “สำหรับใน ๔ ท่านที่ได้เสนอมาแล้ว ๓ ท่าน ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะออกความเห็นได้ เพราะข้าพเจ้าไม่เข้าใจท่านพอ ข้าพเจ้าขอสนับสนุนความเห็นของสมาชิกบางท่าน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ซึ่งข้าพเจ้าจุใจทีเดียว ข้าพเจ้าเห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่สมควรที่สุดในความเห็นของข้าพเจ้า”

ขุนอินทรภักดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอสนับสนุนอย่างยิ่งในการที่ว่า มีสมาชิกเสนอเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศแทนเจ้าคุณพหลฯ ซึ่งได้เสนอมาแล้ว  เพราะเหตุว่า สมาชิกผู้เสนอเมื่อกี้นี้ว่า เราต้องการความสงบ เจ้าพระยาศรีฯท่านเป็นผู้ที่สภาฯเรานับด้วยจำนวนมากมีความเห็นแล้วทั้ง ๒ ครั้ง เรายกท่านเป็นประธานสภาฯ ท่านผู้นี้มีความรอบรู้เพียงใด เราจะต้องการคนรอบรู้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงจะไม่ต้องกล่าวอะไรให้มาก ข้าพเจ้าขอกล่าวอย่างเดียวว่า เราเลือกเอาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดินของเราเท่านั้น”

นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็คือตัวแทนนั่นเอง ตามกฎหมายเรียกว่าตัวแทน คือ ตัวแทน เมื่อพระองค์เป็นผู้เยาว์และมีผู้แทน ผู้ปกครอง ถึงแม้ว่าเราเรียกตัวแทนก็ดี ผู้ปกครองก็ดี ที่มีความรู้ความสามารถ หรือไปเลือกผู้ที่เคยอยู่ในสภาฯของเรา ถึงแม้ว่าจะทำการอะไร เช่นจะ วีโต (Veto) จะทำลำบากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าอยากจะเสนออย่างนี้ เพราะว่าสภาฯจะได้ทำงานตามความสะดวก”

นายไต๋ ปาณิกบุต ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากจะแสดงความเห็นสำหรับเรื่องเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ คือ ถ้าพูดถึงคุณสมบัติ ข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในเจ้าพระยาศรีฯ แต่ว่าเวลานี้ เจ้าพระยาศรีฯเป็นประธานสภาฯ  ข้าพเจ้าคิดว่าจะเลือกท่านแล้ว ก็เหมือนหนึ่งว่าไล่ท่านไปจากสภาฯนี้  แล้วก็ถ้าพูดถึงอาวุโสแล้ว เจ้าพระยายมราชก็มีอาวุโสกว่า และเป็นที่รู้จักและเป็นมหาอำมาตย์เอก ข้าพเจ้าอยากจะร้องขออีกสักคน เพราะว่าระหว่างที่พูดกันนี้ กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ บางทีก็มีบางคนว่า พระสติท่านไม่สู้จะดีบางคราว ข้าพเจ้าจึงขอเสนอท่านที่ปรึกษา ให้สภาฯนี้ลองคิดดู”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ตามที่ท่านสมาชิกเสนอท่านวรรณฯนั้น เจ้าตัวขอพระคุณท่าน แต่ทว่า รัฐบาลเสนอคนอื่นๆ คือไม่เสนอท่านวรรณฯด้วย ก็เพราะต้องการคนที่เป็นคนกลางแท้ๆ ท่านวรรณฯ ท่านเป็นที่ปรึกษา ถ้าเอาไปไว้ในที่นั้นแล้ว จะมีอินฟลูเอนซ์ (Influence) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านไม่อยากจะเป็น เพราะฉะนั้น ท่านคงขอถอน”

ร.ท. ทองคำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “สำหรับเจ้าพระยาศรีฯ ข้าพเจ้าชอบความรู้อะไรหลายอย่าง แต่ข้าพเจ้ายังมีความข้องใจว่า ทำไมเวลาเป็นผู้แทนของสภาฯไปคราวนี้ ทำไมไม่รับใบลา แสดงน้ำใจอะไร ที่ข้าพเจ้าสงสัยว่า นี่พูดโดยจริงใจ เมื่อไม่รับผิดชอบตัวเองทำงานใหญ่แล้วก็ดูอย่างไรอยู่”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ที่มีผู้กล่าวว่า เจ้าพระยายมราชเป็นผู้ที่เจ้านายทรงรู้จักอะไรต่างๆนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอว่า เจ้าพระยาศรีฯก็เป็นผู้ที่รู้จักเจ้านายดีไม่ยิ่งหย่อนกว่าเจ้าพระยายมราชเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในเรื่องความรู้จักกับเจ้านายนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ไกลกันนักดอก ยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าพูดถึงคุณความดีแล้ว ท่านก็เป็นเจ้าพระยาด้วยกัน และรับราชการมานาน ถึงแม้ว่า เจ้าพระยายมราชรับราชการมานานก็จริง แต่พฤติการณ์และเหตุการณ์ต่างๆยังแสดงอยู่ว่า ท่านยังมีด่างพร้อยอยู่บ้าง ส่วนเจ้าพระยาศรีฯนั้น ตั้งแต่รับราชการมา ยังไม่เคยได้รับความด่างพร้อยอะไรเลย เป็นผู้ที่คนทั้งหลายมองเห็นแล้วว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ดีกว่าเจ้าพระยายมราชเป็นอันมาก ส่วนอายุนั้นเล่า เจ้าพระยายมราชอายุตั้ง ๗๐ ปีกว่าแล้ว ถ้าจะตั้งไปบางทีจะอยู่ไม่ใคร่ได้นาน เพราะฉะนั้นควรตั้งอยู่ผู้อื่นดีกว่า จะไม่เสียเวลาจะต้องตั้งบ่อยๆ           

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า