ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 กับการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คือ การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ นั่นคือ การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489   

ส่วนการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นการรัฐประหารที่ไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 (ประกาศใช้วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475)  ซึ่งการรัฐประหารที่ไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ มีศัพท์วิชาการเรียกว่า constitutional coup เมื่อการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ไม่ได้ล้มล้างรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ จึงไม่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่                               

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก

สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา

สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร

หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร

หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ 

จากการที่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้นำหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลใหม่ หลังจากที่หลวงประดิษฐ์ฯได้เดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 

ต่อประเด็นความรู้สึกเกรงกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้น นอกเหนือจากเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอให้มี “ระบบนารวม” ของหลวงประดิษฐ์ฯที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นแผนนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกแล้ว ภัยคอมมิวนิสต์เป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ?

จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476”  ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) ได้กล่าวว่า  “ภัยคอมมิวนิสต์ได้ทวีความรุนแรงในการคุมคามประเทศไทยมากขึ้น ดังปรากฏว่า พวกคอมมิวนิสต์ได้โฆษณาชวนเชื่อรุนแรงมากขึ้น ดังเช่นการโฆษณาโจมตีรัฐบาล มีการทิ้งใบปลิวลงนามว่า ‘คณะคอมมิวนิสต์สยาม’ แจกในพระนครและบางจังหวัดภาคอีสาน ใบปลิวเหล่านี้ตีพิมพ์เป็น ๓  ภาษาคือ ไทย จีน และอังกฤษ เป็นที่น่าสังเกตว่าถ้อยคำและภาษาที่ใช้ในใบปลิวเป็นสำนวนของผู้ได้รับการศึกษาสูง จึงสันนิษฐานได้ว่า คนไทยที่มีการศึกษาสูงได้มีส่วนเข้าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์สยามด้วย เหตุการณ์สำคัญอันเป็นเสมือนการเตือนให้รู้ถึงภัยคอมมิวนิสต์คือ การที่พวกคอมมิวนิสต์นอกประเทศได้เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยครั้งแรก ด้วยการที่องค์การคอมมิวนิสต์สากล (The Comintern) ได้ส่งสาส์นแสดงความยินดีต่อคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยถือโอกาสทักทักเอาว่า คอมมิวนิสต์ในประเทศไทยมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้นด้วย และเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นเป็น การปฏิวัติเพื่อทำลายอำนาจของพวกชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย” ท้ายข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น นิคม จารุมณีได้ใส่เชิงอรรถอ้างอิง หนังสือชื่อ การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์ ของธานินทร์ กรัยวิเชียร ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2517  ซึ่งภาพลักษณ์ของธานินทร์ กรัยวิเชียรหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นภาพลักษณ์ของผู้ที่มีจุดยืนขวาจัด  ดังนั้น เป็นไปได้ว่า ข้อมูลที่นิคมได้มาจากหนังสือของธานินทร์อาจจะไม่เที่ยงตรง

แต่เมื่อผู้เขียนได้สำรวจเอกสารที่เขียนเกี่ยวกับอิทธิพลและบทบาทของคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่า ในหนังสือ การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540) ของภูริ ฟูวงศ์เจริญ (จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563) ก็ปรากฏข้อความไม่ต่างกันจากที่นิคมได้กล่าวไว้ นั่นคือ  “นับตั้งแต่สิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ หรือแค่เดือนเดียวหลังการปฏิวัติ เริ่มมีกลุ่มบุคคลแอบโปรยใบปลิวตามท้องถนนในยามวิกาลเป็นระยะ เนื้อความของใบปลิวมุ่งปลุกระดมชาวสยามให้ช่วยกันขับไล่คณะราษฎร เพื่อจะได้เจริญรอยตามสหภาพโซเวียต พฤติกรรมท้าทายทางการเช่นนี้พบได้ไม่เฉพาะแต่ที่พระนคร ทว่ายังรวมต่างจังหวัดด้วย อาทิ นครราชสีมา พิษณุโลก สระบุรี อุบลราชธานี เป็นต้น ทางตำรวจรีบสืบหาตัวการระดับแกนนำ แต่คว้าน้ำเหลวเสมอ สุดท้ายเลยกลายเป็นปัญหาที่คอยกวนใจรัฐบาล (ภายใต้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา/ผู้เขียน)  โดยเฉพาะเมื่อมีเสียงครหาอยู่แล้วว่าสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนบางคนมีหัวฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ มิพักพูดถึงข่าวลือที่แก้ไม่ได้เสียทีว่า รัฐบาลคิดจะยึดทรัพย์คนรวย การแจกใบปลิวจึงเป็นเรื่องอ่อนไหวที่เปิดช่องให้คนโจมตีไม่เพียงแต่รัฐบาล แต่ยังรวมถึงคณะราษฎร ตลอดจนการปกครองระบอบใหม่”

โดยภูริได้อ้างจากหนังสือ Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue ของ Judith A. Stowe (ตีพิมพ์โดย University of Hawaii Press, ค.ศ. 1991) และในหนังสือของ Judith A. Stowe หน้า 47 มีข้อความว่า

“…the leaflets distributed under the name of the Communist Party of Siam and its youth wing on the night of September 29, 1932.  They were duplicated texts in Thai, English and Chinese which began by proclaiming: ‘Peasants, workers and all oppressed people of Siam, the tyrannical government of Prajadhipok was overthrown in a night and replaced by a constitutional government. But this new government, is it a government of the people, for the people, by the people ?’  There followed criticism of several promoters, who were accused of pursuing their own personal interests.  The leaflets ended: ‘Rise, people of Siam ! The Khana Ratsadorn, the false revolutionaries, can never do us any good. The Russians are the only people in the world today who have any real freedom and happiness, for they have got rid of the Czar, the princes and the false revolutionaries and have taken their country into their own hands.  People of Siam, let us follow in the footsteps of our brothers in Russia.   Unite in the struggle against the King, the princes and the Khana Ratsadorn, the false revolutionaries, and imperialism. Establish a Soviet government of Siam so that we can have real independence and liberty!”

แปลเป็นไทยว่า

“….ใบปลิวแจกในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยามและฝ่ายเยาวชนในคืนวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2475 เป็นข้อความที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทย อังกฤษ และจีน โดยข้อความในใบปลิวเริ่มต้นว่า ‘ชาวนา คนงาน และประชาชนผู้ถูกกดขี่ทั้งปวงแห่งสยาม’ รัฐบาลทรราชของประชาธิปกถูกโค่นล้มในคืนเดียวและถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลใหม่นี้เป็นรัฐบาลของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนหรือ ?’  และข้อความในใบปลิวยังได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้ก่อการ (คณะราษฎร) หลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว ใบปลิวปิดท้ายว่า 'ลุกขึ้นเถิด ชาวสยาม ! คณะราษฎร นักปฏิวัติจอมปลอมไม่เคยทำประโยชน์อะไรให้เราเลย ชาวรัสเซียเป็นเพียงกลุ่มเดียวในโลกทุกวันนี้ที่มีอิสรภาพและความสุขอย่างแท้จริง เพราะพวกเขาได้กำจัดพระเจ้าซาร์ พวกเจ้าและนักปฏิวัติจอมปลอม และได้ยึดประเทศของพวกเขาไปไว้ในมือของพวกเขาเอง ชาวสยาม ขอให้เราเดินตามรอยพี่น้องของเราในรัสเซีย รวมพลังในการต่อสู้กับกษัตริย์ พวกเจ้า และคณะราษฎร นักปฏิวัติจอมปลอมและจักรวรรดินิยม  และสถาปนารัฐบาลโซเวียตแห่งสยามเพื่อให้เราสามารถมีเอกราชและเสรีภาพอย่างแท้จริง” 

ข้อความข้างต้นนี้ Stowe ได้มาจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์รายสัปดาห์ (Bangkok Times Weekly Mail,  ฉบับวันที่ 3, 7, และ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2475) หนังสือพิมพ์ Bangkok Times Weekly Mail เป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ดำเนินกิจการยาวนานที่สุดในกรุงเทพฯ จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อตั้งโดย นาย T. Lloyd Williamese ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2430

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ

'มงคลกิตติ์' เชื่อปี 70 'ปชป.' กลับมายิ่งใหญ่ พร้อมเสนอตัวลงชิงสส.

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์การประชุม

หนุนรัฐบาลเร่งเบิกจ่าย หลังพ.ร.บ.งบฯ 67 วงเงิน 3.48 ล้านล้านมีผลบังคับใช้

นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.แบบบัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.)กล่าวว่าหลังจากที่เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เว็บไซต์ราช