หลักนิยมชิงลงมือก่อนในบริบทยูเครน

รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อโต้แย้งคือ การบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศใช้

มิถุนายน 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เอ่ยถึงหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ว่ายุทธศาสตร์ป้องปรามและปิดล้อมที่ใช้ในยุคสงครามเย็นไม่เหมาะสมอีกแล้วหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 “ถ้าเรารอให้ภัยคุกคามก่อตัวจนเต็มที่ เรารอนานเกินไป เราต้องสู้กับศัตรู ทำลายแผนและเผชิญหน้าภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดก่อนที่ภัยคุกคามจะปะทุออกมา”

ภาพ: Tomahawk ยิงออกจากระบบปล่อยขีปนาวุธ เครดิตภาพ: https://missilethreat.csis.org/missile/tomahawk/#jp-carousel-909

สรุปได้ว่าหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ของสหรัฐหมายถึง สหรัฐมีความตั้งใจโจมตีข้าศึกที่แสดงท่าทีคุกคามก่อนที่พวกเขาลงมือจริง จะไม่รอให้ถูกโจมตีก่อนจึงโต้กลับ ด้วยความคิดที่ว่า ตนมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีประเทศใดๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง ถ้าเป็นภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat) การชิงลงมือก่อนเป็นการป้องกันตนเองรูปแบบหนึ่งและตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า “ยิ่งปล่อยไว้ ภัยคุกคามจะยิ่งใหญ่โต ยิ่งยากแก่การป้องกัน” โดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายคิดโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction : WMD)การชิงลงมือก่อนยังหมายถึงสหรัฐจะรุกรบกระทำการโดยฝ่ายเดียว (act unilaterally) ไม่รอการรับรองจากสหประชาชาติ


อันที่จริงแล้วรัฐบาลอเมริกันในอดีตหลายชุดหลายสมัยดำเนินนโยบายต่อต้านรัฐบาลประเทศใดๆ ที่เป็นภัยคุกคามจนถึงขั้นบ่อนทำลาย โค่นล้มรัฐบาลประเทศนั้นๆ มีหลักฐานปรากฏมากมาย รัฐบาลสหรัฐยอมรับในบางกรณี บางครั้งเป็นปฏิบัติการลับทางทหาร รวมถึงการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้พลขับ (drone) ไล่ล่าสังหารศัตรู
ในแง่วิชาการ “การชิงลงมือก่อน” น่าจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เช่น กรณีอิรัก แบบที่ 2 คือ ปฏิบัติการลับทั้งทางการเมืองและการทหาร โจมตีด้วยเครื่องบินไร้พลขับ กำจัดศัตรูด้วยการทำให้เสียชีวิต โค่นล้มรัฐบาล


ตัวอย่างกรณีอิรัก:
รัฐบาลบุชใช้หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” เมื่อทำสงครามกับอิรัก อ้างว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) จำนวนมาก รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ ชี้ว่ารัฐบาลซัดดัมมีประวัติใช้อาวุธ WMD กับประชาชนตนเอง (ใช้อาวุธเคมี) อาจมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐ เป็นภัยคุกคามจวนตัว


ทุกวันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าความจริงแล้วอิรักไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐอ้างเหตุผลเพื่อรุกรานอิรัก และควรบันทึกด้วยว่าในช่วงนั้นราคาน้ำมันพุ่งทะยานยาวนาน ภาพลักษณ์รัฐบาลสหรัฐในสายตาต่างชาติเสียหาย เนื่องจากชาติพันธมิตรหลายประเทศไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น อีกทั้งพิสูจน์แล้วว่าข้ออ้างของบุชเป็นเท็จ


ตัวอย่างมุ่งเป้าอิหร่าน เกาหลีเหนือ:
รัฐบาลอิสราเอลมักจะย้ำเสมอว่าตนพร้อม “ชิงลงมือก่อน” กับอิหร่าน หลักคิดของอิสราเอลคือเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรหากเกิดสงคราม อิสราเอลอาจเสียหายหนักหรือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ประเมินว่าหากระเบิดนิวเคลียร์ขนาดย่อมตกใส่ใจกลางเมืองหลวง อิสราเอลจะไม่เหลือความเป็นรัฐทันสมัยอีกเลย จุดยืนคือถ้าอิหร่านมีหรือกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลสหรัฐไม่โจมตีทำลายอาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้น อิสราเอลจะชิงลงมือด้วยตนเอง


การชิงโจมตีอิหร่านมีความเป็นไปได้ อิสราเอลเคยใช้เครื่องบินรบบินถล่มเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของอิรัก Osiraq เมื่อ ค.ศ.1981 ด้วยความคิดว่าอิรักจะใช้เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวสร้างอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบัน นาฟทาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) ยังยึดหลักการนี้ พูดเป็นระยะว่าขีปนาวุธ โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นภัยคุกคาม จะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลจะทำสิ่งที่ตนเห็นควร ในระยะหลังขีปนาวุธรุ่นใหม่ของอิหร่านมีขีดความสามารถมากขึ้น ยิงไกลถึงอิสราเอล คุกคามมากขึ้นกว่าเดิม


ไม่กี่ปีมานี้สัมพันธ์อิสราเอลกับรัฐอาหรับดีขึ้นตามลำดับ เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมหากสักวันหนึ่งอิสราเอลลงมือโจมตีอิหร่าน จะไม่ต้องกังวลการรุมโต้กลับจากรัฐอาหรับดังเช่นอดีตอีก


เกาหลีเหนือเป็นอีกตัวอย่าง ต้นปี 2018 โอริตะ คูนิโอะ (Orita Kunio) อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศญี่ปุ่น ฝ่ายสนับสนุนทางอากาศ (Air Support Commander) แสดงความเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐจะชิงโจมตีก่อน (preemptive strike) หากเห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อตนและพันธมิตรจริง และเป็นกระทำที่ชอบธรรมเพราะเป็นการป้องกันตนเอง ไม่ได้ล้มล้างรัฐบาลอีกฝ่าย เหล่านี้เป็นบางตัวอย่างที่เอ่ยถึงการใช้หลักนิยมชิงลงมือก่อนในปัจจุบัน


เหตุผลของรัสเซีย:
หลายปีมาแล้วที่รัสเซียอ้างว่าระบบปล่อยขีปนาวุธที่สหรัฐติดตั้งในโปแลนด์กับโรมาเนียสามารถบรรจุจรวดร่อน Tomahawk ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ และตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนมีความคิดติดตั้งระบบปล่อยดังกล่าวในยูเครนด้วยหากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต สามารถยิงใส่เมืองหลวงมอสโกภายใน 4-5 นาที


นาโตไม่ยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าว เรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาทและร้ายแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลทรัมป์ยกเลิกสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้ หรือ Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty 1987 ทำให้ยุโรปตึงเครียดเพราะ INF มีเพื่อลดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป


ทั้งยังลามมาที่อินโด-แปซิฟิกทันทีเมื่อสหรัฐถอนตัวจาก INF มาร์ก เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่า สหรัฐอาจเริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางที่ติดตั้งภาคพื้นดินอีกครั้ง หวังจะติดตั้งที่ใดที่หนึ่งในเอเชีย


ท่ามกลางกระแสข่าวติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่เอเชีย โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศทันทีจะไม่ยอมให้สหรัฐนำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศเพื่อต้านจีน การเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์ไม่ช่วยอะไร หากเกิดสงครามนิวเคลียร์จะพังพินาศไปพร้อมกัน ทำไมต้องยอมให้ประเทศเป็นพื้นที่ลูกระเบิดนิวเคลียร์หล่นใส่


เหตุที่ประธานาธิบดีดูเตร์เตรีบออกมาพูดเช่นนั้นอาจเป็นเพราะฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน major non-NATO ally ของสหรัฐนั่นเอง


ส่วนเหตุผลหลักที่รัสเซียบุกยูเครนคือการสร้างรัฐกันชน (buffer state) เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่มีมาช้านาน เฉพาะกรณียูเครน ฝ่ายรัสเซียพูดหลายปีแล้วว่าเป็นเส้นต้องห้าม (red line) ห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ทุกประเทศรับทราบรวมทั้งรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ปูตินสั่งกองทัพบุกยูเครน เพราะละเมิดเส้นต้องห้ามแล้ว


ดังนั้น การที่รัฐบาลปูตินส่งกองทัพเข้ายูเครนเป็นการทำตามเส้นต้องห้ามที่ประกาศนานหลายปีแล้ว และเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากถูกข่มขู่คุกคาม


รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติกับกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อโต้แย้งคือการบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศใช้ ไม่ว่าเหตุผลถูกหรือผิด ความจริงคือกองทัพรัสเซียบุกเข้าไปแล้ว


ประวัติศาสตร์บันทึกว่าในปี 431 ก่อนคริสต์ศักราช สปาร์ตา (Sparta) กับเอเธนส์ (Athens) ทำสงครามต่อกัน ธูซิดดิดีส (Thucydides) อธิบายว่าเหตุเกิดจากดุลอำนาจเสียไป แต่เดิม 2 รัฐอยู่ในความสงบโดยที่สปาร์ตามีอำนาจเหนือกว่า แต่เมื่อสปาร์ตาเห็นว่าเอเธนส์มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และเกรงว่าสักวันหนึ่งอาจรุกรานสปาร์ตา จึงตัดสินใจชิงโจมตีเอเธนส์ก่อน


โลกเป็นเช่นนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป