เมื่อถึงกำหนดวันขึ้นศาล จำเลยในวัย 96 ปีหนีออกจากบ้านพัก ตำรวจตามจับได้ในวันเดียวกัน กลับมาเผชิญความจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมที่ก่อไว้เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
76 ปีหนีไม่พ้น
ระหว่างเดือนมิถุนายน ค.ศ.1943 ขณะมีอายุ 18 ปี จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ.1945 สตรีเยอรมันนาม “เอิมการ์ด ฟุชเนอร์” ทำหน้าที่เลขานุการของ “พอล แวร์เนอร์ ฮอปเป” ผู้บัญชาการแห่งค่ายกักกัน “สตุตโฮฟ” (Stutthof) ในประเทศโปแลนด์ หน้าที่หลักของฟุชเนอร์คือจดชวเลขและพิมพ์ดีด แต่งานที่ “ฮอปเป” สั่งให้ทำมีมากกว่านั้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เธอถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำตัวไปไต่สวนในศาลเยาวชน ฟุชเนอร์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการสังหารที่เกิดขึ้นในค่าย อ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น เธอรอดตัวมาได้ในคราวนั้น
แต่แล้วเมื่อปี ค.ศ.2016 ขณะมีอายุ 91 ปี "ฟุชเนอร์" ผู้รับเงินบำนาญแห่งเมืองพินเนอแบร์ก ใกล้ๆ นครฮัมบูร์ก คล้ายจะหนีกรรมไม่พ้น ถูกตั้งข้อหาให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรมเหยื่อ 11,412 ศพ
วันกำหนดปรากฏตัวต่อศาลครั้งแรกคือ 30 กันยายนที่ผ่านมา คุณยายฟุชเนอร์เดินออกจากบ้านพักคนชรา เรียกแท็กซี่ไปยังสถานีรถไฟใต้ดิน ตำรวจใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะตามจับได้ที่นครฮัมบูร์ก
คุณยายฟุชเนอร์ได้รับการประกันตัวออกไป 5 วันหลังถูกจับกุมโดยมีเงื่อนไขต่างๆ หลายข้อ รวมทั้งถูกติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว
วันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณยายฟุชเนอร์ปรากฏตัวต่อศาลเมืองอิตเซโฮ นั่งในรถเข็นวีลแชร์ สวมหน้ากากอนามัยและใช้ผ้าคลุมศีรษะ วางกระเป๋าถือลงบนตักแล้วยืนยันตัวตนต่อผู้พิพากษา
ทนายจำเลยกล่าวว่า คุณยายฟุชเนอร์ไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่โต้แย้งว่าไม่ควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การดำเนินคดีกับคุณยายเป็นสิ่งไม่สมเหตุสมผลเมื่อมองถึงอายุที่มากเกือบร้อยปี จำเลยจะไม่กล่าวคำใดๆ ทั้งจะไม่ตอบคำถาม
การพิจารณาไต่สวนจะเกิดขึ้นเพียงวันละ 2 ชั่วโมง ไม่ดำเนิน 2 วันต่อเนื่องกัน และรวมแล้วสัปดาห์หนึ่งจะไม่เกิน 2 วัน ภายนอกศาลมีผู้ประท้วงกลุ่มย่อมๆ พากันชูป้ายข้อความ “ต้องไม่มีฟาสซิสต์อีกแล้ว” เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหยื่อจากค่ายกักกันสตุตโฮฟ
เสียงกรีดร้องที่ต้องได้ยิน
คำฟ้องบรรยายว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 65,000 ศพ ในค่ายกักกันสตุตโฮฟ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง “กดานสก์” ในโปแลนด์ ส่วนใหญ่เป็นชาวยิว ชาวโปล และนักโทษเชลยศึกชาวโซเวียต
“หน้าที่เลขานุการแห่งค่ายกักกันสตุตโฮฟของจำเลยทำให้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในค่ายเป็นไปอย่างราบรื่น และจำเลยทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น รวมถึงการสังหารหมู่”
อัยการกล่าวต่อศาลว่า บรรดาเหยื่อของจำเลยที่ถูกส่งไปยังห้องรมแก๊สพิษส่งเสียงกรีดร้องด้วยความทรมาน รวมถึงเสียงทุบหรือใช้ร่างกายกระแทกประตูอย่างหนักหน่วง จำเลยจะต้องได้ยินเสียงเหล่านั้นอย่างชัดเจน รวมถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในค่ายกักกัน
“หนังสือที่ส่งถึงศาลก่อนหน้านี้ของจำเลยระบุว่า ไม่ต้องการปรากฏตัวในคอกจำเลยด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ แต่การที่คุณยายฟุชเนอร์หนีศาลเมื่อปลายเดือนที่แล้วเป็นการบ่งบอกว่าไม่น่าจะอ่อนแอเกินไปที่จะขึ้นศาล และยังถือเป็นการดูหมื่นผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันอีกด้วย”
เอฟเรม ซูรอฟฟ์ จากกลุ่ม “นาซีฮันเตอร์” กลุ่มล่านาซีชาวอเมริกัน-อิสราเอล ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำตัวอาชญากรสงครามนาซีเยอรมันขึ้นสู่การพิจารณาคดีมาแล้วหลายราย ทวีตข้อความว่า “สุขภาพแข็งแรงพอที่จะหนี แต่ไม่ดีพอที่จะเข้าคุก?”
รู้จักค่ายสตุตโฮฟ
นาซีเยอรมันมีทั้งค่ายมรณะ (Extermination Camp) ไว้สำหรับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และค่ายกักกัน (Concentration Camp) ที่มีทั้งชาวยิวและชาติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะค่ายกักกัน
ระหว่างปี ค.ศ.1933-1945 นาซีเยอรมันได้สร้างค่ายกักกันหลักขึ้น 27 ค่าย และค่ายย่อยของค่ายหลักเหล่านั้นอีกเป็นจำนวนมาก รวมแล้วมีมากกว่า 1 พันค่าย สำหรับค่ายสตุตโฮฟถือเป็นหนึ่งในค่ายหลัก ตั้งขึ้นทันทีหลังจากเยอรมนีบุกยึดโปแลนด์ในวันที่ 2กันยายน 1939 โดยใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่ของค่ายตำรวจโปแลนด์ กลายเป็นค่ายกักกันแห่งแรกนอกเขตแดนเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นค่ายสุดท้ายที่กองกำลังของชาติสัมพันธมิตรเข้าช่วยเหลือปลดปล่อยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 1945
เตาเผาศพนักโทษในค่ายกักกัน “สตุตโฮฟ” ของนาซีเยอรมัน ภาพจาก collections.ushmm.org
ค่ายแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ทะเลบอลติก มีสภาพเปียกชื้นเฉอะแฉะ ติดกับป่าไม้ ในช่วงต้นใช้ขังกลุ่มผู้นำและกลุ่มปัญญาชนนักคิดของโปแลนด์ จากนั้นก็ให้นักโทษเหล่านี้สร้างค่ายเพิ่มเติมโดยการขยายพื้นที่ออกไป สุดท้ายกลายเป็นค่ายแรงงานหลากหลายประเภท
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการก่อตั้งค่ายมีความเกี่ยวข้องกับโครงการกวาดล้างทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะการกำจัดชนชั้นสูงชาวโปลที่มีทั้งปัญญาชน ผู้นำทางศาสนา และผู้นำทางการเมือง นาซีเยอรมันได้กำหนดรายชื่อผู้เป็นเป้าหมายการจับกุมไว้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มต้นด้วยซ้ำ และสมาชิกนาซีคนสำคัญก็จะได้รับอนุญาตให้เสาะหาสถานที่หรือทำเลเหมาะสมสำหรับการจัดตั้งค่ายกักกันในพื้นที่ของตน
นักโทษชุดแรกมี 150 คน เป็นชาวโปลและบางส่วนเป็นชาวยิวที่ถูกจับได้ในวันแรกที่เยอรมนีบุกยึดโปแลนด์ นักโทษเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียง 2 สัปดาห์แรกก็มีถึง 6 พันคน โดยเมื่อถึงปี 1942 นักโทษส่วนมากยังคงเป็นชาวโปล
ค่ายสตุตโฮฟค่อยๆ ขยายขนาดจนสุดท้ายมีพื้นที่ 1.2 ตารางกิโลเมตร ขังนักโทษจาก 28 ประเทศ เตาเผาและห้องรมแก๊สถูกสร้างเพิ่มเติมในปี 1943 เพื่อให้ทันเวลาการแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้าย หรือ Final Solution ในเดือนมิถุนายน 1944 ซึ่งค่ายสตุตโฮฟได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ปี 1944 จำนวนนักโทษกระโดดเพิ่มระดับยิ่งกว่าเดิม ชาวยิวผู้มาใหม่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยเฉพาะที่ถูกเคลื่อนย้ายมาจาก “ค่ายมรณะเอาช์วิตซ์” ในเดือนกรกฎาคม 1944 ซึ่งมีถึง 23,566 คน และอีก 25,053 คนจากค่ายต่างๆ ในประเทศแถบทะเลบอลติก
เมื่อสหภาพโซเวียตบุกมาจากทางตะวันออกในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 1944 เข้าถึงเอสโตเนียที่เยอรมนียึดครอง ทหารพรรคนาซี หรือ “เอสเอส” ของค่ายในเอสโตเนียอพยพเคลื่อนย้ายนักโทษส่วนใหญ่ทางทะเล ส่งมายังสตุตโฮฟ ที่ขนมาไม่ได้ก็ยิงทิ้งเป็นจำนวนมาก
การอพยพสู่ความตาย
กองทัพนาซีเยอรมันเพลี่ยงพล้ำในสงครามเพราะเปิดศึกหลายด้านมากเกินไป ทางด้านตะวันออกถูกกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตรุกคืบเข้ามา วันที่ 25 มกราคม 1945 การอพยพเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับนักโทษเกือบ 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวจากสตุตโฮฟและค่ายย่อยของสตุตโฮฟที่มีอยู่อีกกว่า 50 ค่าย
มีนักโทษราว 5,000 คนจากสตุตโฮฟและค่ายย่อย ถูกบังคับให้เดินลงทะเล และถูกยิงทิ้งด้วยปืนกล นักโทษที่เหลือให้เดินไปทางตะวันออกของเยอรมนี แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเผชิญกับกองทัพโซเวียต ฝ่ายผู้บัญชาการของเอสเอสจึงนำนักโทษเดินกลับไปยังสตุตไฮฟในช่วงฤดูหนาวที่อากาศกัดกินอย่างรุนแรง บวกกับการปฏิบัติป่าเถื่อนจากเจ้าหน้าที่เอสเอส ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปอีกหลายพันคน
ปลายเดือนเมษายน 1945 นักโทษในค่ายสตุตโฮฟถูกเคลื่อนย้ายอีกครั้งเนื่องจากกองทัพโซเวียตโอบล้อมเข้ามาเกือบทุกด้าน นักโทษหลายร้อยคนถูกบังคับให้เดินลงทะเลและถูกยิงทิ้งอีกครั้ง มากกว่า 4,000 คนถูกส่งลงเรือไปยังค่ายต่างๆ ทางเหนือของเยอรมนีและริมฝั่งทะเลบอลติก มีรายงานว่าจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก
เรือลำหนึ่งสามารถแล่นไปถึงเดนมาร์กในวันที่ 5 พฤษภาคม 1945 นักโทษ 351 คนจากทั้งหมด 370 คนได้รับการช่วยชีวิตและถูกส่งต่อไปยังสวีเดน ก่อนที่ต่อมาจะถ่ายโอนไปยังประเทศเป็นกลาง เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนเยอรมนียอมแพ้ในสงคราม
นักโทษประมาณ 25,000 คนจากค่ายสตุตโฮฟและค่ายย่อยเสียชีวิตระหว่างการถูกอพยพเคลื่อนย้ายครั้งนี้ กองทัพแดงของโซเวียตสามารถเข้าถึงค่ายสตุตโฮฟในวันที่ 9 พฤษภาคม 1945 ช่วยชีวิตนักโทษไว้ได้ประมาณ 100 คน ซึ่งเป็นพวกที่หลบซ่อนตัวจากการถูกเคลื่อนย้ายครั้งสุดท้าย
นักโทษทั้งหมดราว 110,000 คนในค่ายสตุตโฮฟเสียชีวิตไปประมาณ 65,000 คน นอกจากถูกยิงและจมน้ำแล้ว ยังตายด้วยการถูกรมแก๊ส ถูกฉีดสารฟีนอลเข้าร่างกาย ตายจากการขาดอาหารและน้ำ และติดโรคร้ายที่แพร่กระจายอยู่ในค่าย โดยเฉพาะไข้รากสาดใหญ่
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์
หลังสงครามจบลง โปแลนด์และโซเวียตได้ตั้งศาลพิเศษขึ้นที่เมืองกดานสก์ ดำเนินคดีกับผู้บังคับบัญชาของหน่วยเอสเอส ผู้คุมค่าย และนักโทษที่ได้รับตำแหน่งให้ช่วยงานในค่าย การพิจารณาคดีครั้งแรกระหว่างเมษายน-พฤษภาคม 1946 ประหารนาซีไป 11 คน รวมถึงอดีตผู้บัญชาการประจำค่ายสตุตโฮฟ ถูกจำคุกอีก 19 คน ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม1947 ประหารไปอีก 10 คน จำคุก 14 คน ครั้งที่ 3 ต้นเดือนพฤศจิกายน 1947 จำคุก 19 คน ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายในปลายเดือนพฤศจิกายน 1947 จำคุก 26 คน
กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ได้มีการนำคดีมาฟ้องร้องเพิ่มเติมในศาลเยอรมนี “โจฮันน์ เรห์โบเกน” วัย 94 ปี โดนข้อหามีส่วนช่วยเหลือในการฆาตกรรม แต่จำเลยมีปัญหาด้านสุขภาพ ศาลเมืองฮัมบูร์กอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาออกไป
ยังมีอีกหลายคดีที่ถูกจำหน่ายออกไปเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเสียชีวิตไปก่อน หรือไม่ก็สุขภาพย่ำแย่เกินกว่าจะทานทนรับฟังการไต่สวนได้
จำเลยคนสุดท้ายที่ศาลตัดสินให้มีความผิดคือ “บรูโน เดย์” อายุ 93 ปี อดีตทหารหน่วยเอสเอสที่มีส่วนในการสังหารนักโทษ 5,230 ศพในค่ายสตุตโฮฟ ได้รับโทษจำคุก 2 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่โทษให้รอลงอาญาไว้ก่อน
ปลายเดือนที่แล้ว “โจเซฟ ชุตส์” อดีตนาซีอายุ 100 ปี ผู้คุมค่ายกักกันคนหนึ่ง ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลในเมืองนอยฮุปปิน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเบอร์ลิน ในข้อกล่าวหาสังหารนักโทษ 3,518 ศพในค่ายซาคเซนเฮาเซนระหว่างปี ค.ศ.1942-1945 จำเลยให้การปฏิเสธ
ชุตส์ และฟุชเนอร์ ถือเป็นกลุ่มจำเลยอายุมากที่สุดที่สามารถนำตัวมาขึ้นศาลได้จากบทบาทที่เคยกระทำในนามของนาซี
เวลาล่วงเลยมา 76 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง จากนี้ไปคงเหลือเวลาอีกไม่มากในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยในเวลานี้อัยการกำลังสอบสวนอยู่อีก 8 คดี
ได้มีการบันทึกไว้ว่าค่ายกักกันนาซีมีนักโทษรวมกันประมาณ 1.65 ล้านคน ถูกสังหารราว 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีชาวยิวอยู่ไม่น้อยกว่า 8 แสนคน
ส่วนค่ายมรณะ (Extermination Camp) ที่มีอยู่ 6 แห่ง มีผู้ถูกสังหารไปประมาณ 2.7 ล้านคน ชาวยิวครองสัดส่วนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
รวมแล้วมีชาวยิวสังเวยให้กับระบอบนาซีของฮิตเลอร์ไปราว 6 ล้านคน.
อ้างอิง
historica.fandom.com/wiki/Irmgard_Furchner
timesofisrael.com/prosecution-at-trial-of-nazi-camp-secretary-gas-chamber-cries-clearly-audible/
en.wikipedia.org/wiki/Stutthof_concentration_camp
en.wikipedia.org/wiki/The_Holocaust
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร
ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง
'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้
ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง
ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2
ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
ช่างกล้า...ช่างมั่น รับประกันด้วยตำแหน่ง
ในขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเป็นห่วงเป็นใยว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดตามที่มีการลงนามความเข้าใจร่วม (MOU) 44
จาก...'ต้มยำกุ้ง' ถึง 'ต้มยำกบ'
ด้วยเหตุเพราะ ความคิดถึง อย่างสุดซึ้งถึงเพื่อนเก่า เพื่อนแก่ อย่าง เพื่อนแป๊ะ (โดย แป๊ะ รายที่ว่านี้ออกไปทาง เทพบุตร หรือคนละคนกับ แป๊ะ ปิศาจ) ที่ห่างหายไม่ได้เจอะหน้า เจอะตา
ทิศทางใหม่ 'สีกากี'
การจัดทัพปรับทิศ "กรมปทุมวัน" ในยุค ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ กุมบังเหียน "แม่ทัพใหญ่สีกากี" น่าสนใจ น่าติดตาม