เมื่อไบเดนประกาศ : ถ้าจีนบุกไต้หวัน สหรัฐฯ มาช่วยแน่!

สัปดาห์ก่อนผมเพิ่งเขียนถึง “ชนวนสงครามชื่อไต้หวัน” ที่เป็นประเด็นร้อนระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ผ่านไปไม่กี่วัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาสร้างความร้อนฉ่าอีกรอบ

ผู้ร่วมเสวนาถามว่า หากจีนบุกไต้หวัน สหรัฐฯ จะมาช่วยไหม?

“Yes, yes…” คือคำตอบของผู้นำมะกันวันนี้ และตอกย้ำว่า “เรามีพันธกรณีที่จะทำเช่นนั้น”

จีนโต้ทันควันว่าสหรัฐฯ อย่าได้ประเมินความมุ่งมั่นตั้งใจของจีนที่จะปกป้องอธิปไตยของจีนเป็นอันขาด
นั่นหมายความว่าจีนถือว่าคำพูดล่าสุดของไบเดนเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างรุนแรง
พอไบเดนประกาศด้วยวาทะดุดันเช่นนั้น สื่อก็ตีความทันทีว่านี่เป็นการแสดงความ “ชัดเจน” ของไบเดนที่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะเดิมทีผู้นำอเมริกันคนก่อนๆ จะพยายามใช้สิ่งที่เรียกว่า “ยุทธศาสตร์แห่งความคลุมเครือ” (strategic ambiguity) ในกรณีไต้หวันเพื่อไม่ต้องออกมาเปิดศึกกับจีน

แปลว่าแม้วอชิงตันจะมีกฎหมาย Taiwan Relations Act ที่จะช่วยให้ไต้หวันสั่งสมศักยภาพในด้านต่างๆ เพียงพอที่จะป้องกันตนเองจากการรุกรานของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ไม่ต้องการจะระบุว่าจะต้องส่งกองกำลังสหรัฐฯ มาปกป้องไต้หวันอย่างตรงไปตรงมา

พอไบเดนพูดเสร็จ โฆษกทำเนียบขาวก็ออกมา “ชี้แจง” ทันทีว่า วาทะของท่านประธานาธิบดีไม่ได้แปลว่ามีการปรับเปลี่ยนนโยบายของอเมริกาต่อกรณีไต้หวัน

อีกนัยหนึ่ง ทำเนียบขาวรู้ว่าไบเดนพูด “ขึงขังเกินเหตุ” จึงต้องออกมา “ทำความเข้าใจ” กับสิ่งที่ไบเดนพูดออกไปเพื่อยืนยันว่า “ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในนโยบายหลักของเราในเรื่องนี้”

ไบเดนอาจจะ “ล้ำเส้น” ไปหน่อย ทำเนียบขาวต้องออกมาดึงให้กลับมาสู่เส้นที่ควรจะเป็น

นั่นคืออเมริกามีพันธะที่จะต้องช่วยไต้หวันไม่ให้ถูกรุกราน แต่ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะรบกับจีนกรณีไต้หวัน

เหตุเกิดที่งาน Townhall ที่จัดโดย CNN เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีคนลุกขึ้นถามถึงข่าวที่ว่าจีนได้ทดสอบขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงและถามไบเดนว่า "ท่านยืนยันว่าจะปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนหรือไม่ และจะทำอย่างไรจึงพัฒนาด้านทหารให้ตั้งรับกับจีนได้”

ไบเดนตอบทันทีว่า : "ใช่...ขอย้ำว่าใช่" และเสริมต่อว่าไม่ต้องกังวลเรื่องแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ เพราะ "จีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ในโลกรู้ว่าเราเป็นกองทัพที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก"

เท่านั้นไม่พอ Anderson Cooper พิธีกรของ CNN ถามย้ำว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาปกป้องไต้หวันในกรณีที่จีนโจมตีหรือไม่

ไบเดนตอบว่า : "ใช่ เรามีความมุ่งมั่นที่จะทำเช่นนั้น"

ถามว่าไต้หวันและจีนมีปฏิกิริยาอย่างไร?

ทำเนียบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ออกแถลงการณ์เสริมทันทีว่า

“เราจะไม่ยอมแพ้ต่อแรงกดดัน ไต้หวันจะแสดงความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะปกป้องตัวเอง”

ก่อนหน้านี้ จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำสหประชาชาติ ของจีนซัดสหรัฐฯ ตรงๆ ว่ากำลัง "ดำเนินการที่จะ

นำพาสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันไปสู่ทิศทางที่อันตราย"

ต้องไม่ลืมว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เคยประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำก่อนหน้านี้ว่าเขาต้องการรวมไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งภายใต้การนำของเขา แม้จะตระหนักว่าเดิมพันสูงเพียงใดก็ตาม

“ไม่มีที่ว่างสำหรับการประนีประนอมในเรื่องอธิปไตย” คือคำประกาศจากกระบอกเสียงของปักกิ่งในทุกโอกาสที่มีประเด็นเรื่องไต้หวันระเบิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

วินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนย้ำว่า ไต้หวันเป็นดินแดนอธิปไตยของจีน และปัญหาของไต้หวันถือเป็นเรื่องภายในของจีนที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง

นายหวังบอกผู้สื่อข่าวที่กรุงปักกิ่ง หลังจากโจ ไบเดน ประกาศวาทะเรื่องไต้หวันล่าสุดว่า

“เมื่อพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน รวมถึงผลประโยชน์หลักอื่นๆ ไม่ควรมีใครประมาณการต่ำเกินไปถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าของประชาชนจีน, เจตจำนงที่แน่วแน่ และความสามารถอันแข็งแกร่งที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน"

นายหวังกล่าวว่า “ไต้หวันเป็นดินแดนอธิปไตยของจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ประเด็นในเรื่องไต้หวันจึงถือเป็นเรื่องภายในของจีนที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง”

นายหวังระบุว่า “สหรัฐฯ ควรระมัดระวังคำพูดและการกระทำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน และละเว้นจากการส่งสัญญาณที่ผิดใดๆ ไปยังกองกำลังแบ่งแยกดินแดนของไต้หวัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพบริเวณช่องแคบไต้หวัน"

ไต้หวันจึงเป็น “ระเบิดเวลา” ที่ทั้งสองฝ่ายต้องพยายามเลี่ยงที่จะทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงกับการ “ล้ำเส้นสีแดง” จนกลายเป็นศึกสงครามได้

หวังว่าจะไม่เกิดกรณี “ทำปืนลั่น” จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนกลายเป็นเรื่องบานปลายไปทั่วภูมิภาค.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้