จับตา“หนี้ครัวเรือนไทย”

สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือนไทย” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตา หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 4/2564 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 14.58 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อจีดีพี เทียบกับช่วงไตรมาส 4/2563 ที่หนี้ครัวเรือนไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 14.04 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.7% ต่อจีดีพี

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนมีโอกาสเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากครัวเรือนมีรายได้สูงหรือที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสินเชื่อเพื่อยานพาหนะ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินสถานการณ์ทางการเงินของภาคครัวเรือนไทย จากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดยืดเยื้อ แม้ว่าครัวเรือนไทยในปีที่ผ่านมาจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 แต่ภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน โดยค่าใช้จ่ายของครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วนราว 79% ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่าหากครัวเรือนมีภาระอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้เงินเหลือสำหรับเก็บสะสมเป็นเงินออมน้อยลง!!

ส่วนข้อมูลในฝั่งสินเชื่อ สะท้อนว่า ครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยผลสำรวจพบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ขยับขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 มาเป็น 51.5% ในปี 2564 โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นบางส่วนมาจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ขณะเดียวกันระดับหนี้สินเฉลี่ยยังเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ของครัวเรือนอีกด้วย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ภาพดังกล่าวตอกย้ำว่าฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อยยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของเส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคต ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2565 นั้น ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 86.5-88.5% โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 87.5% ต่อจีดีพี

ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะต่ำลงเมื่อเทียบกับระดับ 90.1% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 แต่ก็ยังนับว่าเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีย่อตัวลงมานั้น มาจากการที่จีดีพี ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP) มีแนวโน้มเติบโตสูงจากผลของภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว ไม่ได้เป็นผลมาจากหนี้สินของครัวเรือนที่ปรับลดลง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปีนี้จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในกรอบจำกัด ย่อมทำให้ประชาชน/ครัวเรือนรายย่อยยังคงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินกู้มาเสริมสภาพคล่อง หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในระยะสั้น ขณะเดียวกันครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัย อาจเร่งตัดสินใจก่อนที่แนวโน้มดอกเบี้ยไทยจะเปลี่ยนเป็นขาขึ้น

อย่างไรก็ดีในด้านรัฐบาลเองก็ได้ประกาศชัดเจนว่า ในปี 2565 จะเร่งดำเนินการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินและคลี่คลายภาระครัวเรือนผ่าน 8 แนวทาง ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, กำหนดการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไก ธปท. และสถาบันการเงินของรัฐ, การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์, การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการครู-ข้าราชการตำรวจ, การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ของลูกหนี้, การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล, การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขอประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี รวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม.

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด