ศัตรูซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอลผู้เป็นมิตร

เป็นธรรมดาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีทั้งมิตรกับศัตรู แม้ปรารถนาจะเป็นมิตรกับทุกประเทศแต่หลายครั้งอยู่ในบริบทที่ไม่เอื้ออำนวย อีกฝ่ายไม่ต้องการเป็นมิตร ศัตรูเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติแต่อาจมองว่ามีคุณประโยชน์ต่อความมั่นคงแห่งชาติเช่นกัน ขึ้นกับการใช้ประโยชน์ บริบทของแต่ละประเทศ

ซาอุดีอาระเบียเป็นอีกประเทศที่ประกาศความเป็นมิตรกับศัตรูอย่างชัดเจน

ภาพ : นาฟทาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) นายกฯ อิสราเอลเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เครดิตภาพ: https://www.thenationalnews.com/uae/government/2021/12/13/potential-for-further-uae-trade-unlimited-says-israeli-pm-bennett/

ความชั่วร้าย 3 เส้า:

เมษายน 2018 มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) กล่าวว่า ซาอุฯ มีศัตรูที่เรียกว่า “ความชั่วร้าย 3 เส้า” (triangle of evil) ประกอบด้วยอุดมการณ์ชีอะห์ (Shiite ideology) เป็นอุดมการณ์สุดโต่ง พวกชีอะห์เชื่อว่าถ้าพยายามเผยแพร่อุดมการณ์จะกระตุ้นให้ Hidden Imam (Muhammad al-Mahdi) ปรากฏตัวและปกครองโลก เป็นคำสอนที่ขัดแย้งกับซุนนี


ศัตรูตัวที่ 2 คือ กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)

มีแนวคิดสุดโต่งเช่นกัน กลุ่มนี้อาศัยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเข้าถึงอำนาจ หวังสร้างระบอบเคาะลีฟะฮ์แฝงตัว (shadow caliphates - มีความเป็นรัฐอิสลาม) ในรัฐบาลประชาธิปไตย จากนั้นจะขยายอาณาจักรของตนจนเต็มโลก


ศัตรูตัวที่ 3 คือ พวกผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์กับ ISIS
มกุฎราชกุมารซัลมานอธิบายเพิ่มเติมว่า ศัตรูทั้ง 3 มีเป้าหมายตรงกันข้อหนึ่ง คือ สร้างระบอบเคาะลีฟะฮ์ในรูปแบบต่างๆ ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ไม่ได้สอนให้ตั้งเคาะลีฟะฮ์ แต่ให้เผยแพร่คำสอนเท่านั้นซึ่งปัจจุบันสำเร็จแล้ว เพราะคนในโลกปัจจุบันมีเสรีในการนับถือศาสนา สามารถซื้อหาตำราศาสนามาอ่าน


แนวคิด “ความชั่วร้าย 3 เส้า” ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” เมื่อพฤษภาคม 2017 ต่อหน้าผู้นำมุสลิม 55 ประเทศ กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ (Salman Bin Abdul Aziz) ตรัสว่า “การประชุมแสดงให้เห็นชัดว่าชาติอาหรับกับผู้นำมุสลิมผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด 55 ประเทศ อันประกอบด้วยประชากรกว่า 1,500 ล้านคน ร่วมต่อสู้ลัทธิสุดโต่ง (extremism) กับลัทธิก่อการร้าย (terrorism) เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพโลก” เราจะยืนเคียงข้างต่อสู้พลังความชั่ว (forces of evil) กับลัทธิสุดโต่ง “ทุกวันนี้เราเห็นบางคนที่คิดว่าตัวเขาเป็นมุสลิมพยายามบิดเบือนภาพลักษณ์ศาสนา พยายามเชื่อมโยงศาสนาอันยิ่งใหญ่นี้เข้ากับความรุนแรง” ซึ่งขัดแย้งกับหลักศาสนา


จะเห็นว่ามีการเอ่ยถึงลัทธิสุดโต่ง มุสลิมที่บิดเบือนศาสนาและผู้ก่อการร้าย


รัฐบาลซาอุฯ อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน โอมาน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน จะร่วมกันต่อต้านพวกสุดโต่งเหล่านี้


สัมพันธ์ใหม่มุสลิมอาหรับไม่มีปัญหากับยิว:


ปี 2018 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่า อิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ทั้งยังเสนอข้อตกลงสันติภาพเพื่อนำสู่ความสัมพันธ์ตามปกติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหาคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง”


คำพูดนี้เท่ากับยอมรับประเทศอิสราเอลปัจจุบัน เป็นท่าทีที่ต่างจากอดีตที่เห็นว่าอาหรับกับยิวอยู่ร่วมโลกไม่ได้ กลุ่มชาติอาหรับเคยทำสงครามกับประเทศอิสราเอล (สมัยใหม่) หลายครั้ง


มกุฎราชกุมารอธิบายเพิ่มว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”


แต่ไหนแต่ไรตำราเรียนกระแสหลักจะสอนว่ารัฐบาลซาอุฯ เป็นศัตรูกับอิสราเอลตั้งแต่ก่อตั้งรัฐอิสราเอลหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ.1948 ชาวอาหรับเห็นว่าปาเลสไตน์เป็นพื้นที่ที่บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยมานานแล้วดังเช่นพื้นที่อื่นๆ ของอาหรับ การก่อตั้งรัฐอิสราเอลสมัยใหม่กลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอาหรับอย่างรุนแรง บรรดารัฐอาหรับต่างไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล แสดงความเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยรุนแรงชนิดอยู่ร่วมโลกไม่ได้ เกิดสงครามถึง 5 ครั้ง จนกระทั่งปี 1993 ทุกฝ่ายจึงเริ่มหันหน้าเจรจา แม้ความขัดแย้งทุเลาลงบ้างแต่แสดงอาการเป็นระยะๆ หนักบ้างเบาบ้าง


การมีอยู่ของรัฐอิสราเอลกลายเป็นความขมขื่นของโลกมุสลิม คนมุสลิมจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ส่งต่อความเกลียดชังอิสราเอล เรื่องราวในอดีตคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนเรื่องราววันนี้คือหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ที่บัดนี้ดูเหมือนว่ามกุฎราชกุมารซัลมานกำลังลบล้างและ/หรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ รัฐอิสราเอลกับอาหรับจะเป็นมิตร ละทิ้งความเป็นศัตรูคู่อาฆาต


ลึกกว่าการเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับตะวันออกกลางมักดึงศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายซุนนีกับชีอะห์ นักการศาสนามุสลิมหลายสำนักพร่ำสอนว่ามุสลิมกับยิวเป็นปรปักษ์ต่อกัน จึงเกิดคำถามใหญ่ว่าจะอธิบายในเชิงศาสนาอย่างไร มุสลิมจับมือกับยิวแล้วใช่หรือไม่ 2 ศาสนิกชนจะอยู่ร่วมกันโดยสันติแล้วใช่หรือไม่ ไม่ว่ายิวผู้นั้นจะเป็นพวกไซออนิสต์หรือไม่ก็ตาม


มีนาคม 2022 มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวว่า ตนหวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะหมดไป ซาอุฯ ไม่มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู ตรงกันข้าม คาดหวังว่าจะเป็นพันธมิตรต่อกัน มีผลประโยชน์หลายอย่างที่ร่วมมือกันได้ จะเห็นว่าท่าทีของมกุฎราชกุมารซัลมานต่างจากกษัตริย์ซาอุฯ ในอดีต เป็นจุดยืนใหม่ในศตวรรษที่ 21 หลังขับเคี่ยวหลายสิบปีนับตั้งแต่เกิดรัฐอิสราเอล


Abraham Accord ความสัมพันธ์รูปธรรม:
บางแนวคิดอธิบายว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลซาอุฯ ร่วมมือกับอิสราเอลมานานแล้ว เป็นความร่วมมือในทางลับ แต่ถ้าจะอธิบายการปรับสัมพันธ์ ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในศตวรรษนี้ควรเอ่ยถึง Abraham Accord


13 สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติตามข้อตกลง Abraham Accords Peace Agreement แถลงการณ์ร่วมระบุว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมาบาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน


เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน


นับจากนั้นเป็นต้นมาความร่วมมือต่างๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ ธันวาคม 2021 นาฟทาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) นายกฯ อิสราเอลเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นครั้งแรกนับจากก่อตั้งรัฐอิสราเอลที่ผู้นำอิสราเอล “เหยียบแผ่นดินอาหรับ” อย่างเป็นทางการภายใต้การต้อนรับอันอบอุ่น
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป:


มีข้อสังเกตว่า ความชั่วร้าย 3 เส้าที่รัฐบาลซาอุฯ เอ่ยถึงเกี่ยวข้องศาสนาโดยตรง เกี่ยวข้องกับนิกายที่แตกต่าง แม้กระทั่งผู้ก่อการร้ายที่เอ่ยถึงก็สัมพันธ์กับศาสนาเช่นกัน อันที่จริงแล้วศัตรูของซาอุฯ อาจมีมากกว่านี้ แต่ศัตรูตัวสำคัญคือนิกายศาสนาที่แตกต่าง ศัตรูเหล่านี้อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
ด้วยหลักคิดเดียวกัน น่าจะเป็นเรื่องแปลกถ้ามองอิสราเอลที่ครั้งหนึ่งเป็นศัตรูแล้วตอนนี้มาเป็นมิตร แต่หากมองว่ายิวไม่ใช่ศาสนาหรือชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ซาอุฯ ในยุคนี้กำลังประกาศว่าสามารถอยู่ร่วมกับทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติ เป็นไปตามคำสอนอิสลาม เว้นแต่กลุ่มสุดโต่งที่รับไม่ได้จริงๆ.

ภาพ: แอนโทนี บลิงเคน ขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่อินโดนีเซีย

เครดิตที่มาภาพ: https://www.state.gov/a-free-and-open-indo-pacific/

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป