เบื้องหน้าเบื้องหลังการสร้าง IPEF ของไบเดน

23 พฤษภาคม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศจัดตั้งกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) เพื่อต้านอิทธิพลเศรษฐกิจจีนในภูมิภาคนี้ กล่าวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และ "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่" ในเบื้องต้นประเทศที่เข้าร่วมได้แก่ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อินเดีย และ 7 ชาติอาเซียนคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 13 ประเทศ

ภาพ: บรรยากาศการประชุม IPEF
เครดิตภาพ: http://www.chinadaily.com.cn/a/202205/27/WS62903040a310fd2b29e5f581.html

แนวคิดเบื้องหลัง:

บทความนี้นำเสนอแนวคิดเหตุผลการสร้างระเบียบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก พร้อมข้อวิพากษ์ ดังนี้
ประการแรก พึ่งพาสินค้านำเข้ามากเกินไป โดยเฉพาะจีน

สถาบันคลังสมอง Rethink Trade อธิบายว่า โลกาภิวัตน์ทำให้สหรัฐนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศมหาศาลโดยเฉพาะจากจีน กระทบความยืดหยุ่นและการพึ่งพาตัวเอง โรคระบาดโควิด-19 ชี้ให้เห็นชัดว่าสหรัฐขาดแคลนสินค้าจำเป็นหลายตัว (หน้ากากอนามัย ถุงมือ ยา) ไม่สามารถพึ่งพาตัวเอง สินค้าจีนทำลายอุตสาหกรรม โรงงานกว่า 70,000 โรงต้องปิดตัว คนนับแสนนับล้านตกงาน ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ
แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ว่าจีนใช้นโยบายทุ่มตลาด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือตลาดเหล็กกล้า ที่ผลิตจำนวนมากและขายถูกโดยไม่หวังกำไรเพราะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน ต้นทุนต่ำเพราะไม่คำนึงสิ่งแวดล้อม ไม่ปกป้องสิทธิคนงาน โรงงานอเมริกันจึงสู้ไม่ได้ สินค้าอื่นเช่น แผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่รถไฟฟ้า สหรัฐไม่อาจปล่อยให้ตนต้องพึ่งพิงสินค้าจากจีนอย่างสิ้นเชิง

วิเคราะห์: การค้าเสรีเป็นเรื่องดีแต่ต้องคำนึงประเด็นอื่นๆ ประเทศจำต้องสามารถผลิตสินค้าจำเป็นที่สุดอย่างพอเพียงเสมอ เช่น ยา อาหารพื้นฐาน จะคิดแต่เรื่องต้นทุนกำไรอย่างเดียวไม่ได้

ประการที่ 2 โลกาภิวัตน์ที่รุนแรง การค้าเสรีที่ไม่เป็นประโยชน์

คลังสมอง Rethink Trade ชี้ว่า 3 ทศวรรษในโลกาภิวัตน์ที่รุนแรง (hyperglobalization) การค้าเสรี WTO วิธีการค้าการลงทุนแบบเก่าไม่ได้ประโยชน์ สหรัฐสูญเสียหลายอย่าง ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเสียไป เสียผลประโยชน์ที่ได้จากนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองเพราะปัญหาจากห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) จำต้องเร่งสร้างห่วงโซ่อุปทานเพราะสินค้าบริการขนส่งตลอดเวลา ถ้าสหรัฐไม่สร้างก็จะมีประเทศใดประเทศหนึ่งสร้าง เรื่องนี้มีผลต่อความเข้มแข็งไม่เฉพาะสหรัฐเท่านั้น มีผลต่อพันธมิตรและหุ้นส่วน จึงรอช้าไม่ได้

วิเคราะห์: สังเกตว่ารัฐบาลไบเดนยอมรับตรงไปตรงมาว่าสหรัฐสู้ไม่ได้ในการค้าเสรีโลกาภิวัตน์ที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลกับนักวิชาการอเมริกันสนับสนุน

ประการที่ 3 TPP กับ CPTPP ล้วนบกพร่อง

TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) กับ Comprehensive Progress TPP (CPTPP) เป็นอีกสาเหตุที่พูดกันมาก ชี้ว่าร่างข้อตกลงดังกล่าวบกพร่อง เช่น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (rules of origin) กติกาการลงทุนการซื้อขายล้วนเอื้อประโยชน์จีน ดังนั้นแม้จีนไม่เป็นสมาชิกแต่ได้ประโยชน์เต็มๆ

วิเคราะห์: ไม่ว่าเพื่อต้านจีนหรือเอื้อเศรษฐกิจอเมริกา สมัยรัฐบาลโอบามากระตือรือร้นเจรจาอยู่หลายปีจนใกล้สำเร็จ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลทรัมป์ล้มการเจรจาดื้อๆ ประเทศคู่เจรจาเสียความรู้สึกมาก ในช่วงสุญญากาศนี้เองย่อมเป็นโอกาสให้ประเทศแถบนี้ทำการค้ากับจีนเต็มที่

ในสมัยทรัมป์ยึดหลัก “free and fair” ที่ห้ามประเทศใดเกินดุลสหรัฐ หาไม่แล้วจะถูกคว่ำบาตร (แต่ไม่ห้ามหากสหรัฐจะเกินดุลประเทศคู่ค้า) เป็นการค้าที่ตั้งบนกฎใหม่ ระเบียบใหม่ที่อเมริกาสร้างเอง และบังคับใช้ด้วยตนเอง น่าติดตามว่ารัฐบาลไบเดนจะยึดแนวทางนี้ต่อไปหรือไม่ เพราะตอนนี้กำลังสร้างกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก IPEF ที่ประกาศว่าตนคือผู้นำกลุ่มเพียงผู้เดียว

ประการที่ 4 กรอบเป้าหมายใหม่

รัฐบาลไบเดนประกาศชัดว่าข้อเสนอกับกติกาของ TPP เดิมต้องแทนที่ด้วยกติกาใหม่ที่ส่งเสริมการจ้างงาน ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็ว (resilient supply chain) ส่งเสริมให้เศรษฐกิจในประเทศมั่นคง และส่งเสริมเป้าหมายอื่นๆ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเป้าหมายดังกล่าวจะต้องฟื้นฟูระบบการผลิตภายในประเทศและนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงนำเข้าจากเวียดนามหรือประเทศหนึ่งประเทศใดเพื่อแทนนำเข้าจากจีน

ทั้งยังต้องให้สัมพันธ์กับการส่งเสริมแรงงาน ความเท่าเทียม และส่งเสริมการอยู่ดีมีสุขของชุมชน ส่งเสริมสิทธิแรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสัมพันธ์กับนโยบายอื่นๆ ทุกด้าน
ประการที่ 5 ต่อต้านผลประโยชน์แอบแฝง ความไม่ยั่งยืน และ RCEP

ข้อนี้มุ่งคำนึงผลประโยชน์แอบแฝงทุกอย่างที่บั่นทอนขีดความสามารถในการผลิต ลดค่าแรงและทำลายสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาข้อตกลง TPP มีผลประโยชน์พิเศษแอบแฝง แนวทางใหม่ต่อต้านเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อต้านการผูกขาด

รวมทั้งต่อต้านความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) รัฐบาลสหรัฐมองว่า RCEP อยู่ใต้อิทธิพลจีน แม้จะอ้างว่าทุกประเทศร่วมกันเขียนข้อตกลงแต่ความจริงแล้วจีนได้ประโยชน์มากสุด

วิเคราะห์: หากถ้าคิดตามกรอบนี้อาจตีความว่าญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ที่เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอยู่ใต้อิทธิพลจีนด้วยหรือไม่ (ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ร่วม RCEP) ซึ่งไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น ในแง่ความมั่นคงทางทหาร ญี่ปุ่นยังมองจีนเป็นภัยคุกคามอันดับต้นเช่นเดิม

ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ต่างมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ RCEP จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกว่าเดิม มีผู้ประเมินว่าเมื่อถึงปี 2030 RCEP จะช่วยเพิ่มยอดการค้าโลกอีก 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยเฉพาะจะเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ประการที่ 6 ตอบสนองการเมือง

ที่ผ่านมามีคำถามว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศเอื้อประโยชน์แก่คนอเมริกันมากแค่ไหน ดังนั้น IPEF จึงตั้งอยู่บนแนวคิดว่าต้องเพิ่มการจ้างงานในอเมริกา ตรงข้ามกับการค้าเสรีปัจจุบันที่คนงานอเมริกันตกงานมากขึ้นเรื่อยๆ

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ กล่าวว่า "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก คือความพยายามของประธานาธิบดีไบเดนในการผลักดันให้ครอบครัวและแรงงานอเมริกันเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของสหรัฐ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและประเทศคู่ค้าของสหรัฐ"

วิเคราะห์: ประเด็นคนอเมริกันต้องได้ประโยชน์จากนโยบายต่างประเทศ เป็นเรื่องที่สังคมอเมริกันให้ความสนใจว่านโยบายต่างประเทศมุ่งประโยชน์แก่บรรษัทเอกชน นายทุน หรือเพื่อประชาชนกันแน่ ที่ผ่านมาองค์กรลูกจ้างมักถูกกีดกัน ไม่ค่อยมีส่วนในกระบวนการเจรจา เกิดคำถามเสมอว่าข้อตกลงเอื้อประโยชน์แก่แรงงานแค่ไหน

การที่รัฐบาลไบเดนชูว่า IPEF มุ่งเป้าการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพชีวิต สาเหตุหนึ่งเพื่อตอบสนองการเมืองในประเทศ พร้อมกับใช้เป็นหลักฐานว่าจำต้องถอยห่างจากการค้าเสรีแบบเดิม เพราะสุดท้ายกลายเป็นว่าสหรัฐเสียเปรียบ คนอเมริกันตกงานหลายล้านคน อุตสาหกรรมอ่อนแอลง

ไม่ว่าวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้จะเป็นเช่นไร (ให้เป็นภูมิภาคที่เสรี เปิดกว้าง เชื่อมต่อ ยืดหยุ่นและมั่นคง) IPEF อาจเป็นเพียงกลวิธีหรือช่องทางนำสู่การเจรจาระหว่างสมาชิก (คู่เจรจา) กับรัฐบาลสหรัฐ และไม่ใช่การเจรจาการค้าการลงทุนเท่านั้น จะสัมพันธ์กับนโยบายความมั่นคง ประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐกังวล โดยเฉพาะการต้านจีน ในที่สุดจะกลายเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองของภูมิภาคที่มีสหรัฐเป็นแกนนำนั่นเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

State of the Union 2024 ไบเดนลั่นกลองหาเสียง

คำแถลงนโยบายประจำปี 2024 เหมือนการหาเสียงมากกว่า ซึ่งไม่แปลกเพราะตรงกับปีเลือกตั้ง แม้ไม่เอ่ยว่าคำว่า “ทรัมป์” แต่ผูกประเด็นเข้ากับคู่แข่งการเมืองอย่างชัดเจน