ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุด ส่งสัญญาณเตือนภัย

พอตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับไตรมาสที่ 2 ออกมาที่ 0.4% ก็มีคนที่ตั้งคำถามว่า

เราควรจะกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนแค่ไหน?

ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งบอกว่าจีนยังแข็งแกร่ง และมีภูมิคุ้มกันตั้งรับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของโลกได้ จึงไม่น่าห่วงนัก

สหรัฐฯ กับยุโรปต่างหากที่จะเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ, ดอกเบี้ยพุ่งและค่าพลังงานที่รุนแรง

แต่ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้เชื่อว่าจีนยังแข็งแกร่งกว่าตะวันตกมากนัก

สำหรับคนไทย ถ้าจีนยังยืนได้อย่างสง่างามขณะที่ตะวันตกเข้าสู่ภาวะตกต่ำ เราก็คงจะยังพอประคองตัวเองไปได้ เพราะเราส่งออกไปจีนไม่น้อย และความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างจีนกับอาเซียนก็น่าจะช่วยคุ้มกันเราได้...อย่างน้อยก็ส่วนหนึ่ง

แต่ข่าวเรื่องการประท้วงของผู้ซื้อบ้านในหลายๆ เมืองที่ประเทศจีนในช่วงหลังนี้ทำให้เกิดคำถามต่อ “ฟองสบู่” ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ขึ้นอีกทันที

ข่าวบอกว่าบรรดาผู้ซื้อบ้านที่โกรธแค้นและสิ้นหวังในหลายสิบเมืองของจีนออกมาประท้วง ไม่ยอมจ่ายค่าจำนองบ้านในโครงการที่ยังไม่เสร็จ

นี่ว่าตามรายงานของสื่อของรัฐและนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารระหว่างประเทศเลยทีเดียว ไม่ใช่ข่าวลือในโซเชียลมีเดียเท่านั้น

กติกาของจีนนั้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ได้รับอนุญาตให้ขายบ้านก่อนที่จะสร้างเสร็จ

และลูกค้าต้องเริ่มชำระเงินผ่อนส่งทันทีก่อนที่จะเข้าครอบครองทรัพย์สินใหม่

เงินก้อนแรกนี่แหละกลายเป็นกองทุนที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้เอาไปสร้างบ้านให้เสร็จ

จะได้ไม่ต้องกู้เงินจากธนาคารทั้งก้อนใหญ่

แต่ข่าวการประท้วงของผู้คนในเมืองจีนถึงขั้นคว่ำบาตรการชำระเงินเกิดขึ้นเพราะจำนวนโครงการที่ขายบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การก่อสร้างเริ่มล่าช้าหรือหยุดชะงัก

เหตุหนึ่งเพราะวิกฤตทางการเงินที่มีตัวอย่างโทนโท่จากกรณีของบริษัทพัฒนายักษ์ใหญ่อย่าง Evergrande ที่ผิดนัดชำระหนี้ในปีที่แล้ว

ต่อมาก็มีบริษัทอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ขอเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ของตนเอง เพราะความผิดพลาดในการบริหารและจัดการ              ก็เกิดเรื่องอย่างนี้ ราคาบ้านในตลาดก็เริ่มดิ่งลง

ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่     คนที่ติดอยู่กับบ้านที่ซื้อก่อนหน้านี้ก็มองเห็นสินทรัพย์ของตัวเองหดหายไปต่อหน้าต่อตา

หลายคนถามว่าแล้วฉันจะผ่อนส่งต่อไปทำไมในเมื่อมูลค่าของบ้านหลังนี้มันลดลงไปเรื่อยๆ อย่างนี้

นำไปสู่ความหวาดวิตกว่า ถ้าคนซื้อบ้านต่างประท้วงด้วยการไม่ส่งเงินงวดต่อๆ ไปก็อาจทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาอยู่แล้วต้องเข้าสู่ภาวะการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอีก

และผลที่ตามมาก็คือ ธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองก็จะเดือดร้อน ปัญหา NPL ก็จะหนักขึ้นทันที

การขายบ้านล่วงหน้าแบบนี้เป็นวิธีที่พบได้บ่อยที่สุดในจีน ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ให้กู้รายใหญ่อย่างน้อย 7 ราย รวมถึง Industrial and Commercial Bank of China (IDCBF), China Construction Bank (CICHF) และ Agricultural Bank of China (ACGBF) ออกมาปลอบใจสังคมว่าความเสี่ยงนั้นสามารถจัดการได้ และกำลังติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ทางการจีนกำลังเจรจากับธนาคารเป็นกรณีฉุกเฉินเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย

ตามรายงานของสื่อของรัฐและข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัทวิจัยในเซี่ยงไฮ้ China Real Estate Information Corporation (CRIC) ผู้ซื้อใน 18 จังหวัด และ 47 เมืองหยุดชำระเงินตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว

Tianmu News ซึ่งเป็นสื่อดิจิทัลของรัฐแจ้งว่าผู้ซื้อบ้านที่ยังไม่เสร็จ 100 โครงการขึ้นไปได้ร่วมกันประกาศว่าพวกเขาจะหยุดจ่ายสินเชื่อจำนอง

โครงการบ้านเหล่านี้มีกระจัดกระจายไปทั่วภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกของจีน

รายงานของสื่อฉบับหนึ่งระบุว่า ผู้ซื้อบ้าน 46,000 ราย มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการเพียง 14 โครงการเท่านั้น

และจำนวนยังคงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่านักพัฒนาโครงการส่งมอบบ้านเพียง 60% ที่พวกเขาขายล่วงหน้าระหว่างปี 2556 ถึง 2563

ในขณะที่สินเชื่อจำนองคงค้างของจีนเพิ่มขึ้น 26.3 ล้านล้านหยวน (140 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทำให้ต้องมีการประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนอย่างจริงจังเพื่อช่วยกันบริหารความเสี่ยงจากนี้ไป

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดที่ออกมาล่าสุดทำให้เราต้องมองให้ลึกลงไปอีก

บางคนบอกว่ามันคือสัญญาณเตือนภัย

นักวิเคราะห์จับตาตัวเลขล่าสุดจากเมืองจีนไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้แค่ +0.4% เทียบกับปีก่อนหน้า 

หรือเท่ากับติดลบ -2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดของจีนในช่วงที่ผ่านมาหากไม่นับช่วงโควิดที่รัฐบาลสี จิ้นผิง ยืนยันจะเดินนโยบาย Zero Covid อย่างไม่ลดละ

ที่ทำให้เราต้องเกาะติดตัวเลขเศรษฐกิจของจีนอย่างละเอียดก็เพราะมันมีผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกด้วย

ก็เพราะจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกไปแล้ว

ย้อนกลับไปวิกฤตระดับโลกก่อนหน้านี้ จีนเกือบจะไม่ถูกกระทบอะไรมากมาย

เป็นที่อิจฉาหรือชื่นชมของใครต่อใครมาตลอด

ถ้าจำได้ช่วงต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ 6.7%

แม้ช่วงตะวันตกถูกกระแทกด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือ Subprime Crisis จีนก็เฉย เพราะยังขยายตัวได้ 6.4%

แม้ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ จีนก็สร้างความทึ่งด้วยการรายงานการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

เหมือนอยู่คนละโลกกับคนอื่นๆ

แต่พอตัวเลขไตรมาส 2 ออกมา จีนขยายตัวได้เพียง 0.4%

ก็ต้องถือว่าเป็นการปลุกให้ชาวโลกหันมาให้ความสนใจ

แน่นอนว่าเหตุผลส่วนหนึ่งคือการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองเพื่อสกัดโควิด

แต่หากมองลึกลงไปก็จะเจอปัจจัยอื่นๆ ที่น่ากังวลเช่นกัน

ที่ผ่านมาจีนมีอัตราขยายตัวเศรษฐกิจอยู่ในช่วง 6-8% ระหว่าง 2012-2018

ก่อนหน้านั้นยิ่งน่ากลัว เพราะจีนมีจีดีพีโต 10-15% ระหว่างปี 2003-2007

อีกด้านหนึ่งคือปัญหาด้านสังคม เพราะเด็กที่จบมหาวิทยาลัยใหม่มีอัตราตกงาน 20% ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ขณะเดียวกันธนาคารในเมืองเล็กหลายแห่งก็เกิดล้ม เพราะปัญหาปล่อยกู้ให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในสภาพฟองสบู่

ที่เคยหวังว่าจีนจะเป็นตัวช่วยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ช่วงลำบากในปีหน้าก็เกิดขึ้นได้ยาก

เตรียมตัวเตรียมใจและเตรียมแผนสำรองเอาไว้ครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร