เมื่อรัฐบาลทหารพม่าประหารชีวิต นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย

เป็นข่าวช็อกโลกพอสมควรเมื่อพม่าประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐบาลทหารเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและกฎหมายความมั่นคง

ทั้งๆ เป็นที่รู้กันว่า 2 คนนี้คือฝ่ายยืนอยู่ตรงกันข้ามกับพลเอกอาวุโสมิน อ่องหล่าย ที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

มิใช่ “ผู้ก่อการร้าย” หรือ “อาชญากร” แต่อย่างใด

คนทั้งโลกรวมทั้งคนพม่าเองได้รับทราบข่าวทางการเรื่องนี้ผ่านสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาล New Light of Myanmar เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาเท่านั้น

ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าแม้ให้กับญาติพี่น้องของผู้ที่กำลังจะถูกแขวนคอว่าคำอุทธรณ์จากองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศ, ในอาเซียนและต่างประเทศนั้นไร้ผลโดยสิ้นเชิง

4 คนที่ถูกประหารชีวิตในคุกอินเส่งรวมถึงสองนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่โดดเด่น

คืออดีตสมาชิก ส.ส.สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี ชื่อ โก เพียว เซยา ทู (Ko Phyo Zeya Thaw)

และโก จิมมี (Ko Jimmy) นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยผู้มีประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ยุค 88 Generation movement เมื่อปี 1988

คนแรกเป็นอดีตศิลปินนักร้องชื่อดังในวง Acid ซึ่งเป็นวงฮิบฮอปแรกของเมียนมา

ต่อมาเขาเข้าร่วมพรรค NLD ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีบทบาทเปลี่ยนแปลงประเทศ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในเขตเนปยีดอว์ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเขตทหาร

นักวิเคราะห์ที่เฝ้ามองสถานการณ์เมียนมามาตลอดมองว่า

โทษประหารชีวิตเป็นการแก้แค้นโดยรัฐบาลเผด็จการต่อฝ่ายตรงข้ามของการปกครอง

ทั้ง 2 คนถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือนมกราคม โดยศาลทหารภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการและมีส่วนร่วมในการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อต้านระบอบการปกครองและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง

ทั้ง 2 และนักโทษการเมืองอีก 2 คนได้รับอนุญาตให้คุยกับครอบครัวผ่านวิดีโอเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าจะดำเนินการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในวันรุ่งขึ้น

มิหนำซ้ำยังปิดบังความจริง โดยโฆษกของรัฐบาลทหารปฏิเสธว่าเรื่องจะลงมือประหารชีวิตเป็นเพียง “ข่าวลือ”

                    อ้างว่าการประหารชีวิตจะไม่ดำเนินไปอย่างเร่งด่วน เพราะยังต้องให้นักโทษประหารเข้ารับการตรวจร่างกายและผ่านขั้นตอนอื่นๆ

U Moe Zaw Oo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติของเมียน ซึ่งเป็น “รัฐบาลคู่ขนาน” ประกอบด้วยนักการเมืองที่ถูกโค่นโดยรัฐประหารมาบอกกับสื่อพม่าว่า รัฐบาลทหารพม่ากระทำในสิ่งที่ “ไม่สามารถให้อภัยได้”

“รัฐบาลทหารพม่าต้องรับรู้ว่าการประหารชีวิตผู้เห็นต่างทางการเมืองนั้นจะยิ่งทำให้เรามุ่งมั่นที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองมากขึ้น” เขากล่าว

Ko Phyo Zeya Thaw อายุ 41 ปี และ Ko Jimmy หรือที่รู้จักในชื่อ Kyaw Min Yu อายุ 53 ปี เป็น 2 นักเคลื่อนไหวที่เป็นที่ชื่นชมของชนชั้นกลางและหนุ่มสาวพม่าไม่น้อย

เพราะเป็นตัวแทนของการต่อสู้กับเผด็จการทหารอย่างยาวนานมาตลอดแม้จะถูกไล่ล่าตามจับ, ถูกคุกคามและต้องหนีการจับกุมแบบหัวซุกหัวซุนมาตลอดก็ตาม

หลังมีคำสั่งประหารชีวิตจากศาลทหารของเมียนมามาแล้ว ก็มีความเคลื่อนไหวจากอาเซียนที่จะขอให้ผู้นำทหารพม่าทบทวนคำพิพากษานั้น

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานหมุนเวียนของสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาติต่างๆ (อาเซียน) ซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่ ได้ขอให้หัวหน้ารัฐบาลทหารมิน อ่องหล่าย “ทบทวน” และ “ละเว้น” การดำเนินการตามคำสั่งประหารชีวิต

ฮุน เซน บอกในจดหมายถึงมิน อ่องหบ่าย ว่ากรณีนี้ได้สร้าง “ความกังวลอย่างมากในหมู่สมาชิกอาเซียนและหุ้นส่วนภายนอก”

ผู้ถูกประหารทั้ง 4 คนคือ Ko Phyo Zeya Thaw, Ko Jimmy, Ko Hla Myo Aung และ Ko Aung Thura Zaw กลายเป็นผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่ากลุ่มแรกที่จะถูกประหารชีวิต นับตั้งแต่ Salai Tin Maung Oo แกนนำนักศึกษาชาติพันธุ์ Chin ถูกแขวนคอโดยระบอบเผด็จการของนายพล Ne Win ที่เรือนจำ Insein ในย่างกุ้ง ในปี 1976

ดังนั้นการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวพม่าครั้งนี้จึงถือเป็นกรณีแรกใน 46 ปี

จึงยังเป็นคำถามว่า มิน อ่องหล่าย มีแรงจูงใจอันใดที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงกับกลุ่มผู้ต่อต้าน

ทั้งๆ ที่เคยรับปากกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ ว่าจะพยายามหาทางนั่งลงเจรจาหาทางออกร่วมกันเพื่อให้ประเทศกลับสู่เส้นทางสันติภาพ

ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้นำอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เพราะประชาคมโลกจะต้องตั้งคำถามเราว่า เมื่อผู้นำทหารเมียนมาไม่ยอมทำตามฉันทามติ 5 ข้อเลยแม้แต่ข้อเดียว จะยังต้องเกรงใจผู้นำทหารเมียนมาอีกหรือ

เพราะ มิน อ่องหล่าย ปฏิเสธคำร้องขอของอาเซียนผ่านกัมพูชาโดยสิ้นเชิง

โดยอ้างว่าจะต้องทำตามกฎหมายของพม่าเอง ไม่อาจจะทบทวนคำตัดสินของศาลทหารของตนได้

วันนี้เมียนมาตกอยู่ในสภาะวุ่นวายปั่นป่วนทางสังคมและการเมืองตั้งแต่รัฐประหารปีที่แล้ว

และอยู่ในสถานการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติบางคนเรียกว่าเป็น “สงครามกลางเมือง” จนถึงขณะนี้

ตัวเลขไม่เป็นทางการบอกว่า รัฐบาลทหารพม่าได้สังหารผู้คนไปแล้วกว่า 2,000 คน เพียงเพราะปฏิเสธการปกครองของทหารในประเทศของตน

และด้วยการรวมตัวของประชาชนเกือบทุกภาคส่วน การลุกขึ้นต่อต้านระบอบทหารทั้งด้วยวิธีอารยะขัดขืน และด้วยการฝึกอาวุธทำให้เกิดการจลาจลในระดับที่ประเทศนี้ไม่เคยเห็นตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948

น่ากลัวว่าการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวครั้งนี้จะกระพือให้เกิดกระแสของการต่อต้านภายในประเทศหนักหน่วงขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

นับตั้งแต่รัฐประหารปีที่แล้ว รัฐบาลทหารได้ตัดสินประหารชีวิตประชาชนแล้ว 113 คน อันสืบเนื่องจากบทบาทของผู้ลุกขึ้นในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร

ขณะที่เขียนอยู่นี้ผมยังรอปฏิกิริยาจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่คงจะต้องคิดหนักว่าจะทำอย่างไรกับเมียนมาต่อไป

เพราะสิ่งที่ มิน อ่องหล่าย ทำครั้งนี้เท่ากับตบหน้าใส่อาเซียนฉาดใหญ่

ทำให้อาเซียนถูกมองว่าเป็น “เสือกระดาษ” ไร้น้ำยาและไม่มีบารมี แม้จะขอให้ผู้นำประเทศสมาชิกทบทวนคำสั่งประหารชีวิตที่รังแต่จะสร้างความเสียหายหนักขึ้นกับเมียนมาเอง...และอาเซียนก็จะถูกแรงกระเพื่อมอย่างหนักต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้