มุมมองยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น 2022

กรกฎาคม 2022 Thomas Wilkins จาก Australian Strategic Policy Institute นำเสนอยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น โดยผสมมุมมองจากออสเตรเลีย มีสาระสำคัญดังนี้

การพัฒนากองทัพญี่ปุ่นหลังสหรัฐถอนตัว:

     ปี 1952 กองทัพสหรัฐส่วนใหญ่ถอนตัวออกจากการยึดครองญี่ปุ่น รัฐบาลใหม่มุ่งเน้นฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม เริ่มต้นปกครองประเทศด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สหรัฐเป็นผู้ร่าง อยู่ภายใต้การคุ้มครองของสหรัฐตามหลักนิยม “Yoshida Doctrine”

ภาพ: มุมมองยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น 2022
เครดิตภาพ: https://ad-aspi.s3.ap-southeast-2.amazonaws.com/2022-07/SR186%20Japans%20security%20strategy.pdf?VersionId=DpkmKOvNKVqOEwvUtGfsY56HbSBgOMUY

1954 เกิดกองกำลังป้องกันประเทศญี่ปุ่น (JSDF) กองทัพสหรัฐส่วนหนึ่งยังประจำการที่นี่และกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพอเมริกันประจำย่านนี้ มีบทบาทสำคัญต่อสงครามเกาหลีกับสงครามเวียดนามและเรื่อยมา

     ตลอดช่วงสงครามเย็น กองทัพญี่ปุ่นไม่โดดเด่นเท่าอดีต รัฐบาลเน้นพัฒนาเศรษฐกิจ จำกัดงบกลาโหมไม่เกิน 1% ของจีดีพี อย่างไรก็ตามนับจากปี 1976 เป็นต้นมากองทัพพัฒนาตามลำดับ นายกฯ ยาสุฮิโระ นากาโซเนะ (Yasuhiro Nakasone, 1982-87) ให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองด้านการทหาร พัฒนากองทัพตามภัยคุกคามจากโซเวียตรัสเซีย และเมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูในทศวรรษ 1980 เริ่มเกิดความคิดว่าญี่ปุ่นจะพัฒนากองทัพให้เป็นดังกองทัพประเทศทั่วไป (ไม่จำกัดตัวเองเป็นกองทัพป้องกันประเทศเท่านั้น ไม่มีขีดความสามารถด้านการโจมตี)

     ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพเต็มตัวเมื่อสิ้นสงครามเย็นและเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปรับแนวคิดความมั่นคง สนใจโลกภายนอกมากขึ้น นายกฯ จุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi, 2001-06) ปรับแนวคิดว่า กองทัพญี่ปุ่นต้องมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงโลก ความมั่นคงภูมิภาค ขยายกระทรวงกลาโหมให้รองรับภารกิจที่กว้างขวาง ปี 2007 กระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับออสเตรเลีย

     ปี 2010 เกิดข้อพิพาทกับจีนจากเหตุหมู่เกาะเซนกากุ เรื่องกำลังรบทวีความสำคัญ ญี่ปุ่นปรับกองทัพครั้งใหญ่ตามหลักการรบสมัยใหม่

     ปี 2012 นายกฯ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe, 2006-07, 2012-20) เห็นควรปรับรัฐธรรมนูญที่จำกัดกองทัพ หวังให้กองทัพกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พยายามผลักดันเรื่องนี้ (แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย) เป็นยุทธศาสตร์แม่บท (grand strategy) ฉบับใหม่ แม้กองทัพญี่ปุ่นยังไม่เทียบเท่าสหรัฐกับจีนแต่เป็นกองทัพทรงอานุภาพของภูมิภาคประเทศหนึ่ง

ภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรง:

    ประการแรก ภัยคุกคามจากจีน

     จีนจะเป็นภัยคุกคามหลักอีกนาน ผลจากเศรษฐกิจที่เติบใหญ่และต้องการแสดงบทบาทมากขึ้น การแข่งขันทวีความเข้มข้น ต่างหวังกำหนดระเบียบโลกที่เป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด

     การอ้างความเป็นเจ้าของทะเลจีนใต้โดยใช้เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration: PCA) สร้างฐานทัพบนเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ กองทัพจีนที่แสดงตัวแถบทะเลทางตอนใต้ญี่ปุ่น เหตุยกเลิกขายแร่หายากแก่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2010 ความก้าวหน้าของจีนด้านปัญญาประดิษฐ์ อาวุธไฮเปอร์โซนิก กองทัพจีนที่นับวันยิ่งเข้มแข็ง เหล่านี้เป็นเรื่องน่ากังวล

     ผู้กำหนดนโยบายมองว่าญี่ปุ่นเป็นแนวหน้าที่ต้องประจันหน้าจีน พร้อมกับที่จีนพยายามเปลี่ยนบริบทแวดล้อมแถบนี้ เครื่องบินรบญี่ปุ่นเข้าสกัดเครื่องบินรบจีนเป็นประจำ

     จีนอาจรวมไต้หวันด้วยการใช้กำลัง โจมตีทางไซเบอร์ ปัจจุบันญี่ปุ่นถือว่าความมั่นคงของไต้หวันสัมพันธ์กับความมั่นคงของญี่ปุ่นและของโลกโดยตรง ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแนวเกาะเส้นแรก (first island chain) ที่ห่างจากหมู่เกาะริวกิวของญี่ปุ่นเพียง 110 กิโลเมตรเท่านั้น

    ประการที่ 2 เกาหลีเหนือ

     เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงและจวนตัวเช่นกัน โครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ได้ทดลองนิวเคลียร์มาแล้วถึง 6 ครั้ง พัฒนาการยิงนิวเคลียร์ที่ใช้เวลาสั้น ยากต่อการป้องกัน รัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นศัตรูของญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน ส่งหน่วยแทรกซึมเข้ามา

    ประการที่ 3 ความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย

     ญี่ปุ่นพิพาทกับรัสเซียเรื่องหมู่เกาะคูริลมานานแล้ว กองทัพรัสเซียเป็นที่น่ากังวลเสมอ ทั้งยังประจำการอาวุธรุ่นใหม่แถบนี้ด้วย การรบที่ยูเครนเป็นหลักฐานว่ารัสเซียกล้าใช้กำลัง ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียแนบแน่นขึ้นทุกที ซ้อมรบร่วมทั้งทางนาวีกับทางอากาศ ทำการลาดตระเวนร่วม ซึ่งญี่ปุ่นตีความว่าเป็นการร่วมกันกดดันญี่ปุ่น การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงร่วมเป็นอีกประเด็นที่ญี่ปุ่นกังวล

    ประการที่ 4 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

     ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของปรปักษ์เป็นอีกประเด็นที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญ เช่น เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ทางทหาร ด้านอวกาศ สเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic spectrum) ด้านไซเบอร์ การผสมผสานเทคโนโลยีที่พลเรือนใช้ร่วมกับทางทหาร เช่น AI กับ quantum computing อาวุธไฮเปอร์โซนิก อาวุธพลังงานสูง (เลเซอร์ ไมโครเวฟ) เทคโนโลยีใหม่พวกนี้อาจทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยนไป

     ห้วงอวกาศกำลังสัมพันธ์กับการรบภาคอื่นๆ ดาวเทียมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสำรวจตรวจสอบพื้นที่ กำหนดเป้าหมาย จีนสร้างระบบเครือข่ายดาวเทียม รัสเซียกำลังทำเช่นกัน ทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ด้วยสเปกตรัมของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Spectrum) ทำสงครามพันทาง (hybrid warfare) สงครามไซเบอร์

    ประการที่ 5 ภัยคุกคามรูปแบบใหม่

     การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นจับตา เกรงว่าจะก่อปัญหาแก่คนท้องถิ่น การอพยพย้ายถิ่นจากคนต่างชาติ แต่ไหนแต่ไรญี่ปุ่นมักเผชิญภัยธรรมชาติอยู่เสมอ การกู้ภัยจึงเป็นภารกิจหนึ่งของกองทัพ

พันธมิตรเพื่ออินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี:

     ปี 2020 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นประกาศวิสัยทัศน์อินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี (a free and open Indo-Pacific หรือ FOIP) ในปีต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ญี่ปุ่นจะเข้าไปร่วมกำหนดโครงสร้างภูมิภาคโดยตรง แทนการทำหน้าที่สนับสนุนสหรัฐ แม้ว่าแนวทางของสหรัฐกับญี่ปุ่นจะคล้ายกันก็ตามแต่ญี่ปุ่นจะทำสิ่งที่ก่อประโยชน์ต่อตนเป็นหลัก โดยจะให้ความสำคัญกับการพูดคุยหารือมากกว่ามุ่งใช้กำลัง ส่งเสริมการค้า เป็นทางเลือกให้กับประเทศอื่นๆ เป็นสมาชิก RCEP

    ในอดีตญี่ปุ่นอาจร่วมมือกับสหรัฐเป็นหลัก แต่นโยบายใหม่ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว จะให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเองและจับมือกับหลายประเทศพร้อมๆ กัน ทั้งสหรัฐ ออสเตรเลีย อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี แคนาดาและนิวซีแลนด์ บนรากฐานความคิดที่ว่าการเข้าไปพัวพันจะส่งเสริมเสถียรภาพ ความร่วมมือระหว่างกัน

     ความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐจะช่วยปกป้องดินแดนรวมทั้งกรณีใช้อาวุธนิวเคลียร์ เชื่อมนโยบายความมั่นคงเข้าด้วยกัน สองรัฐบาลทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและให้ความเป็นพันธมิตรนี้มีผลในระดับโลก (ไม่ใช่เฉพาะขอบเขตญี่ปุ่นหรือย่านนี้เท่านั้น)

     มีกลุ่มความร่วมมือหลายกลุ่มที่สัมพันธ์กับสหรัฐ เช่น Trilateral Strategic Dialogue (TSD) ระหว่างญี่ปุ่น สหรัฐและออสเตรเลีย Quadrilateral Strategic Dialogue (Quad) ที่รวมอินเดียเข้ามาอีกประเทศ ทั้งหมดมีเป้าหมายร่วมคืออินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี

     เวียดนาม ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์คือ 3 ชาติสมาชิกอาเซียนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น

     ญี่ปุ่นกับออสเตรเลียปัจจุบันมีสถานะเป็น Special Strategic Partnership บูรณาการยุทธศาสตร์ความมั่นคง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน แสวงหาปฏิบัติการร่วม ประสานพลังอำนาจเข้าด้วยกัน เพิ่มความร่วมมือด้านการข่าว ญี่ปุ่นหวังเข้าถึงการข่าวจากระบบ Five Eyes ลาดตระเวนทางทะเลร่วม ความใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศเอื้อความร่วมมือในกรอบที่ใหญ่ขึ้น เช่น TSD คาดว่าความสัมพันธ์จะแนบแน่นขึ้นอีกในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

State of the Union 2024 ไบเดนลั่นกลองหาเสียง

คำแถลงนโยบายประจำปี 2024 เหมือนการหาเสียงมากกว่า ซึ่งไม่แปลกเพราะตรงกับปีเลือกตั้ง แม้ไม่เอ่ยว่าคำว่า “ทรัมป์” แต่ผูกประเด็นเข้ากับคู่แข่งการเมืองอย่างชัดเจน

ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้รัสเซียในศึกยูเครน?

ไม่ว่าสงครามยูเครนจะจบปีนี้หรือปีหน้า ที่สุดแล้วน่าจะมีคำตอบว่าฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายอำนาจนิยมชนะ ตามที่รัฐบาลโลกเสรีเอ่ยถึงเรื่อยมา

ทรัมป์หาเสียงให้รัสเซียบุกชาตินาโต

ทรัมป์ยินดีให้รัสเซียทำอะไรก็ได้กับชาติสมาชิกนาโตที่ไม่ยอมตั้งงบกลาโหมตามข้อตกลง ทำให้นาโตปั่นป่วน แต่อาจเป็นแค่การหาเสียงกับคนอเมริกันเท่านั้น