ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน- ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง

นักวิเคราะห์บางท่านมองว่าถ้าไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยไล่ให้ทันกับของสหรัฐฯ เงินทุนจะไหลออก ค่าเงินอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้ามาแทรกแซง ทำให้ทุนสำรองฯ ลดลงมาก ก็จะเกิดปัญหาตามมา

ความเชื่ออย่างนี้จริงไหม?

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติออกมายันว่า “ไม่จริง”

ใครเห็นต่างเชิญออกมาแสดงเหตุผลเพื่อให้ประชาชนได้ฟังเหตุและผลทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน

สัปดาห์ก่อน ผู้ว่าแบงก์ชาตินั่งลงอรรถาธิบายเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับเงินบาท, ส่วนต่างดอกเบี้ย, เงินทุนสำรองและธนาคารกลางของไทยเรากังวลเรื่องอะไร

ผมอ่านเจอที่มีคนถอดคำชี้แจงของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ วันนั้นแล้วก็เห็นว่าน่าสนใจ แต่ไม่ยักมีใครนำมาถ่ายทอดให้คนไทยได้ฟังแบบง่ายๆ

ที่น่าสนใจคือที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติโต้หลายประเด็นที่แวดวงวิชาการและธุรกิจตั้งข้อสังเกต

แต่ ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่ามันไม่ใช่ ขออธิบายตามหลักการของแบงก์ชาติ

ผมเชื่อว่าผู้รู้ในวงการต่างๆ ก็ควรจะได้อ่านเพื่อจะว่าหากมีเหตุผลที่แย้งแบงก์ชาติได้ คนไทยในวงการต่างๆ ก็คงอยากจะฟัง

เพราะเราไม่ค่อยจะมีเวทีที่ได้ฟังการแลกเปลี่ยนในหัวข้อสำคัญๆ อย่างนี้เลย

ผมจึงขอนำเอาที่เพจของ Bank of Thailand Scholarship Students ถอดเทปมาให้ได้อ่านกัน

ผู้ว่าฯ ธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’ 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Meet the Press ในหัวข้อ ‘ชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท เงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรอง ณ โถงหน้าห้องประชุมภัทรรวมใจ อาคาร 2 ชั้น 2 ธปท. สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565

อยากจะขอชี้แจง อธิบายเรื่องที่มีการพูดกันเยอะ ซึ่งไม่ค่อยถูก จึงอยากมาอธิบายว่า ทำไมถึงไม่ถูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน ดอกเบี้ยเรากับดอกเบี้ยต่างประเทศ เงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

นิทานที่เราได้เห็นบ่อยๆ มีอารมณ์ประมาณว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยมันสูง ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ เงินทุนเลยไหลออก แล้วค่าเงินบาทอ่อน เงินทุนสำรองฯ เราลดลง และเสถียรภาพจะเปราะ เดี๋ยวเราจะเกิดวิกฤตสไตล์ปี 2540 คือ เห็นค่าเงินอ่อน ทุนสำรองฯ ลง

ฟังดูเผินๆ ก็เหมือนจะ make sense (มีเหตุผล) ว่า เมื่อมีส่วนต่างดอกเบี้ย เงินก็ไหลออกไปสิ ไปหาที่ที่มีดอกเบี้ยสูง พอเงินไหลออก ค่าเงินก็ต้องอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้ามาทำโน่นทำนี่ ทุนสำรองฯ ก็ลดลง เมื่อทุนสำรองฯลดลง ก็บอกว่าจะเกิดวิกฤต ถ้าคนพูด คนเขียน เขียนเก่ง พูดเก่ง คนก็อาจเคลิ้มตาม

แต่ผมอยากจะคลี่ออกมาให้เห็นว่า จริงๆ แล้วมีหลายเรื่อง ที่ไม่ตรงกับ fact (ข้อเท็จจริง) และไม่ได้จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งความน่าเป็นห่วงเรื่องนี้สำหรับผม ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น โดยเฉพาะด้วยบริบทของเศรษฐกิจเราตอนนี้

ลองมาไล่ที่ข้อ

@ ส่วนต่างดอกเบี้ย ‘ไทย-สหรัฐ’ ไม่ใช่ตัวขับเคลื่อนเงินทุนไหลเข้า-ออก

1.ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ค่าเงินเราอ่อน เงินทุนไหลออก

ถามว่าส่วนต่างดอกเบี้ย เป็นปัจจัยเดียวหรือที่ทำให้เงินทุนไหลออก และค่าเงินมันอ่อน คำตอบคือ ไม่ใช่

เพราะถ้าเราดู จะเห็นว่ามีตัวอย่างหลายประเทศ ที่ส่วนต่างดอกเบี้ยของเขาเทียบกับสหรัฐฯ เขาสูงกว่า แต่เขายังเจอเรื่องเงินทุนไหลออก

ถ้าเอาตาม fact ตอนนี้ Year to date (YTD) นับตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ สุทธิแล้วเงินทุนไหลเข้าไทย 3.5 พันล้านเหรียญฯ จึงไม่ได้เป็นอย่างที่คนบอกว่า เงินทุนไหลออกมหาศาล

ใช่ มีบางช่วงที่เงินออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางช่วงก็ออก บางช่วงก็เข้า แต่ Net แล้วล่าสุด ทั้งฝั่งพันธบัตร ตลาดหลักทรัพย์ บอนด์ และ equity (ทุน) ยังบวก 3.5 พันล้านเหรียญฯ

แล้วถามว่าส่วนต่างดอกเบี้ยเป็น key driver (ตัวขับเคลื่อน) ของเงินทุนไหลเข้า-ไหลออก หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ใช่

เพราะถ้าเราดูตัวอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย ของเขาดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าสหรัฐฯ แต่เงินทุนของเขาก็ยังไหลออก ซึ่งสะท้อนว่าเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยคงไม่ใช่ปัจจัยเดียว

อีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนไม่ไหลออก และไม่ทำให้ค่าเงินอ่อน คือ เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ขึ้นดอกเบี้ยมา 5 ครั้ง แต่ค่าเงินเขาอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนกว่าเรา ดังนั้น จะไปโฟกัสเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ย คงไม่ใช่

@ เงินทุนไหลออกไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ ‘ค่าเงินบาท’ อ่อน

2.เงินทุนไหลออก เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนความจริงหรือไม่

คำตอบคือ ไม่

เพราะค่าเงินบาทที่เราคิด ปกติเราจะคิดค่าเงินบาทเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเงินบาทอยู่ที่ 36.86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ถามว่า 36 บาท คืออะไร ก็ตอบว่า มันคือราคาของเงินดอลลาร์ เหมือนกับเราบอกว่าราคาเสื้อตัวนี้ 100 บาท มันก็คือราคาของเสื้อ

คือเมื่อไหร่ที่ราคาของดอลลาร์มันขึ้น ขึ้นด้วยปัจจัยว่าเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) จะทำอะไร ปัจจัยของโลก และอะไรต่างๆ ถ้าดอลลาร์ขยับ บาทต่อดอลลาร์ก็ต้องขยับ เมื่อไหร่ที่ดอลลาร์แข็ง บาทก็ต้องอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นตอนนี้

ถามว่าตัวนี้เป็นปัจจัยหลักที่กำหนดการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ราคาของค่าเงินบาทหรือไม่

ถ้าเราไปวิเคราะห์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 86% มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอะไรของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับดอกเบี้ยเรา ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสภาวะเศรษฐกิจของเรา เกี่ยวกับปัจจัยต่างประเทศเป็นหลักเลย

โดยมีตัวอย่างว่า เงินทุนไหลเข้าไทย แต่เงินบาทก็อ่อนได้ ซึ่งเราก็เห็นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. คือ เงินทุนในหลักทรัพย์เข้ามาในประเทศ แต่ค่าเงินก็อ่อนค่า

ไม่จำเป็นต้องเป็นว่า เงินทุนไหลเข้า บาทต้องแข็ง เงินทุนไหลออก บาทต้องอ่อน โดยราคาบาทต่อดอลลาร์ จะขึ้นกับราคาของดอลลาร์

“ในช่วงหลังการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ไม่ได้มาจากเรื่องเงินทุนไหลออกเลย เพราะว่า Fact มันไม่ใช่”

@ ตัวเลข ‘เงินทุนสำรองฯ’ ลดลง เพราะการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์

3.เงินทุนไหลออก ค่าเงินอ่อน แบงก์ชาติต้องเข้ามาแทรกแซง ทำให้ทุนสำรองฯ ลดลงมาก

อันแรกเลย การที่เรามีนโยบายการเงินแบบ Floating Exchange Rate (อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว) ไม่ได้ Fixed ค่าเงินไว้ ทำให้ความจำเป็นของเรา ที่ต้องเข้ามาพยุงค่าเงินบาทน้อยลงไปเยอะ ไม่เหมือนกับสมัยปี 2540 ซึ่งเรา Fixed เรื่องค่าเงิน

ที่สำคัญตัวเลขที่เราเห็นและสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรองฯ จริงๆ ไม่ได้มาเฉพาะจากการที่มีการเข้าไปในตลาด

แต่การเปลี่ยนเปลี่ยนของทุนสำรองมาจาก 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน ถ้าได้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ทุนสำรองฯ ก็เพิ่ม ถ้าผลตอบแทนติดลบ ทุนสำรองฯ ก็จะหด

การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท. เช่น ธปท.เข้าไปขายดอลลาร์ เพื่อดูแลค่าเงิน ทุนสำรองฯ ก็จะลดลง

แต่มีอีกประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในยามนี้คือ การตีมูลค่าหลักทรัพย์ (Valuation)

ซึ่งก็คือ ช่วงที่ดอลลาร์แข็ง สินทรัพย์ที่อยู่ในสกุลอื่นๆ ถ้าวัดเป็นดอลลาร์จะลดลง ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทุนสำรองฯ ตามตัวเลข เป็นไปในทิศทางนั้น เพราะอย่างที่ทราบกันธนาคารกลางทุกที่ ไม่ได้ถือทุนสำรองฯ ไว้เฉพาะเป็นเงินดอลลาร์ แต่ถือเป็นอย่างอื่นด้วย

เช่น มีประเทศหนึ่งถือทุนสำรองฯ เป็นทองทั้งหมดเลย ถ้าราคาทองเทียบกับดอลลาร์ลดลงมา 5% คือ ดอลลาร์แข็ง แล้วราคาทองลงมาเทียบกับดอลลาร์ ทุนสำรองฯ ของประเทศนั้น ก็จะลดลง 5%

"ที่มาของการเปลี่ยนแปลงทุนสำรองฯ มาจากหลายปัจจัย และความจำเป็นของเราที่ต้องเข้า (แทรกแซง) ก็น้อยลง เพราะเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว"

@ ทุนสำรองฯ ของไทยสูงติดท็อปของโลก-เงินไหลออกไม่น่ากังวล

(พรุ่งนี้ : จริงไหม : เงินบาทอ่อน, ทุนสำรองลด...น่ากลัวเหมือนวิกฤต 2540?).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้