ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ

เริ่มจะพูดถึงกันเยอะครับ

หลังเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ใคร พรรคการเมืองไหน จะได้อำนาจไปครอบครอง

สถานการณ์การเมือง ๒ ขั้ว บนความขัดแย้ง ที่หยั่งรากลึกมานาน อำนาจอาจไม่ใช่ปัจจัยที่ตัดสินทุกสิ่งอย่าง

แต่อำนาจก็คืออำนาจ

มีคำกล่าวว่า อำนาจมักได้มาจากการช่วงชิง กว่าจะได้มายากเย็นแสนเข็ญ แต่การรักษาอำนาจไว้เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า

ก็คงจะจริงตามนั้น ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พิสูจน์ให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การรักษาอำนาจ ไม่เคยมีใครทำสำเร็จ

แต่ที่เห็นจะจะคือ ละทิ้งอำนาจ!

"ขอบคุณ ผมพอแล้ว ขอให้ช่วยประคับประคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย" พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  รัฐบุรุษและอดีตนายกฯ บอกกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ  เมื่อครั้งพาพรรคร่วมรัฐบาลไปเชิญ "ป๋า" เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ในปี ๒๕๓๑

๘ ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจะเข้าสู่ปีที่ ๙ หาก  "ป๋าเปรม" รับเทียบเชิญ

แต่ "ป๋า" ขอหยุดอยู่แค่นั้น

"ผมพอแล้ว" จึงเป็นประโยคอมตะที่ถูกจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

แต่โดยทั่วไปแล้ว "อำนาจ" มันหอมหวนจนนักการเมือง อยากครอบครองเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่้จะนานได้

มุมบวก นักการเมืองบางคนต้องการทำงานให้ประเทศอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายกลายเป็น วีรบุุรุษของชาติ  เช่น ลี กวนยู ของสิงคโปร์

มุมลบ นักการเมืองจำนวนหนึ่งต้องการรักษาอำนาจไว้ เพราะอำนาจคือที่มาของผลประโยชน์มากมาย เช่น ระบอบทักษิณ ในประเทศไทย

จากพี่ชายผู้เป็นพ่อ สู่น้องสาว และลูกสาว

เป็นการสืบทอดอำนาจ ผ่านกลไกการเลือกตั้ง แต่ใช่ประชาธิปไตยหรือเปล่า นั่นคือปัญหาที่คนไทยต้องรู้เท่าทัน

เช่นเดียวกัน การได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ทุนเดิมเป็นสิ่งต้องห้าม การรักษาอำนาจต่อจึงยากยิ่งกว่า

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หักปากกาเซียน รักษาอำนาจมา ๘ ปีเต็มแล้ว และมีแนวโน้มจะไปต่อถึงต้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย หากผ่านรอยต่อข้อกฎหมาย "นายกฯ ๘ ปี" ไปได้

การรักษาอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแลกกับหลายสิ่ง เพราะระหว่างทางที่ได้อำนาจมาและต้องรักษาอำนาจต่อนั้น มีทั้งสูญเสียและงอกเงย

ครับ...วานนี้ (๘ สิงหาคม) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์  อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊ก ฝากข้อความไปยัง ๓ ป. ในหัวข้อ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ กับ ๓ ป.

.....การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี ๒๔๗๕  นั้น แกนนำคณะราษฎร ฝ่ายทหาร ได้เป็นกำลังหลักที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จลงได้ในที่สุด

ในขณะที่แกนนำคณะราษฎร สายพลเรือน ไปนั่งเรือจ้างรอดูท่าทีว่าจะหนีหรืออยู่ต่อไปลอยลำอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จลงได้นั้น นอกจากการใช้เล่ห์เหลี่ยมสารพัดเรื่อง ต่อทหารด้วยกันเอง โดยเฉพาะกับนักเรียนนายร้อยตามที่เคยเล่าไปแล้วนั้น ก็บังเอิญไปสอดคล้องกับพระราชประสงค์ของ ร.๗ ที่ต้องการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนพอดี

 (อนึ่งในห้วงเวลาก่อนที่จะมีการปฏิวัตินั้น การเตรียมพระราชทานรัฐธรรมนูญของ ร.๗ ได้ถูก “คณะอภิรัฐมนตรี" ซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ๕  พระองค์ ระงับไว้ถึง ๒ ครั้ง )

ดังนั้นเมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติ พระองค์จึงทรงเห็นด้วยไม่ได้ขัดขวาง ทั้งๆ ที่ทรงมีกำลังทั้งทหาร-พลเรือนที่จะสนับสนุนพระองค์มากกว่าเยอะ

ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ ขอนำเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ฝากไว้เป็นข้อคิดถึง "พวกทหารที่อยู่กันในปัจจุบัน” ว่า  เรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ หลังจากที่สำเร็จลงแล้ว ได้เป็นผลทำให้แกนนำกลุ่มทหารเหล่านี้ หันมาฆ่าฟันกันเองในภายหลัง

จนต้องกระจัดกระจายกันหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ

บางคนเสียชีวิตในต่างประเทศ คนที่อยู่ในประเทศ ก็ถึงจุดจบของชีวิตลงอย่างทุกข์ทรมานทั้งๆ ที่ “เคยรักกันปานจะกลืนกิน” มาก่อน

ก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ มีนายทหาร ๓ คน (พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และ พระยาศรีสิทธิสงคราม) ซึ่งทั้ง ๓  คน สนิทสนมผูกพันกันมาก             

จนคนทั่วไปเรียกกันว่า “ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ” เลียนแบบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส จากเรื่องสามทหารเสือ (Les Trois Mousquetaires; หรือ  The Three Musketeers)

หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ก็เกิดคำเรียกขานทหารกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกว่า เป็น “สี่ทหารเสือ“ (พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ พระยาฤทธิ์ฯ และ พระประศาสน์ฯ)

ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม นั้นรู้เรื่องการทำปฏิวัติดี แต่ขอไม่เข้าร่วม โดยสัญญาว่าจะไม่บอกใคร และไม่ขัดขวาง เพราะเป็นทหารรักษาพระองค์

นอกจากนั้น ทหารที่เข้าร่วมทั้งหมดล้วนแต่ได้รับคำมั่นสัญญาว่า “การปฏิวัติจะไม่ส่งผลกระทบต่อพระฐานะ และพระเกียรติยศ ของ ร.๗”

คำว่า “ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ” และ “สี่ทหารเสือ” ตามที่เขียนมานั้น ขอฝากไปให้เป็นข้อคิด ถึงทหารที่ประชาชน เรียกกันว่า “๓ ป." นำไปขบคิดด้วยครับ

ถ้าอ่านครั้งแรกไม่เข้าใจ ลองทบทวนแล้วอ่านกันอีกทีหนึ่ง อาจจะเกิดความเข้าใจอะไรดีๆ ขึ้นมาบ้างก็ได้ครับ

โดยเฉพาะเรื่องที่ต้อง “รักกันให้เหมือนเดิม"........

กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไว้ในหนังสือ เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ว่า

"พระยาพหลฯ มีเพื่อนเกลอที่สนิทชิดชอบกันอย่างที่สุดอยู่ ๒ ท่าน คนหนึ่งได้แก่นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช  และอีกคนหนึ่งได้แก่นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม  เจ้ากรมยุทธการทหารบก ความสนิทชิดชอบระหว่าง ท่านนายพันเอกาหัวเยอรมันทั้ง ๓ นี้เป็นที่ปรากฏแจ้งชัดแก่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ทั่วไป จนถึงท่านเสนาบดีกระทรวงกลาโหม หม่อมเจ้าอลงกฎ ได้ประทานฉายา แก่ท่านทั้ง ๓  ว่า 'ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ' แห่งกองทัพไทย ทรงเรียกพระยาทรงฯ ว่า ดาตายัง เรียกพระยาศรีฯ อาโธส และเรียกพระยาพหลฯ ว่า ปอโธส

ทั้งนี้ถือตามรูปลักษณะของท่านทั้ง ๓ และก็เป็นที่ปรากฏแก่กองทัพบกไทยใน เวลานั้นว่า ท่านนายพันเอกซึ่งสำเร็จวิชาทหารจากประเทศเยอรมันทั้ง ๓ ท่านนี้ เป็นผู้มีชื่อเสียงเพื่องในวิชาการทหาร สมกับที่ท่านเสนาบดีกลาโหมได้ประทาน ฉายาว่า 'ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ' แห่งกองทัพบกไทยจริงๆ"

แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความสัมพันธ์ ของ "ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ" ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน

พระยาทรงสุรเดชมีบทบาทสูงสุดในคณะทหาร มีการปรับโครงสร้างกองทัพบกใหม่ ให้พระยาพหลพลพยุหเสนา  รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่พระยาทรงสุรเดชรับตำแหน่ง ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ

ในทางปฏิบัติอำนาจทางทหารถูกรวบเอาไว้ที่พระยาทรงสุรเดช นำไปสู่ความบาดหมางหลังจากนั้น

ส่วนพระยาศรีสิทธิสงคราม คุณตาของพลเอก สุรยุทธ์  จุลานนท์ ประธานองคมนตรีคนปัจจุบัน ถูกย้ายไปอยู่กระทรวงธรรมการ เป็นผู้ตรวจการลูกเสือ

นี่คือความแตกร้าว ของ "ทแกล้วทหาร ๓ เกลอ"

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ คงยกมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับ ๓ ป. ปัจจุบันโลดแล่นบนเส้นทางการรักษาอำนาจทางการเมือง

ยุทธศาสตร์ของ ๓ ป. ไม่เหมือนที่นักการเมืองปกติเขาใช้กัน จึงยากต่อการคาดเดา โดยเฉพาะ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" ที่บางคราวภาพออกมาดูเสมือนว่า ๓ ป.แตกคอกันเอง

เส้นทางการเมืองของ ๓ ป. จะว่าเหลือเวลาอีกยาวไกลก็ได้

หรือสั้นจุ๊ดจู๋ก็ได้เช่นกัน  

อยู่ที่ฝีมือของ ๓ ป.เอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ