แนวคิดเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

นับจากเกาหลีเหนือทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์เมื่อปี 2006 และทำต่อเนื่องอีกหลายครั้ง ภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือเป็นจริงเป็นจังทันที ยุทธศาสตร์การทูตนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือสำแดงฤทธิ์อีกครั้ง รัฐบาลเกาหลีใต้หารือเรื่องนี้กับสหรัฐเสมอ ทั้งคู่แสดงท่าทีตรงกัน ต่างกันเพียงขั้นตอนรายละเอียด

เกาหลีเหนือยืนยันต้องมีอาวุธนิวเคลียร์:

รัฐบาลเกาหลีเหนือยึดความคิดว่าสหรัฐจะโจมตีตนด้วยระเบิดนิวเคลียร์ จึงต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้ตามแนวคิดป้องปรามสงครามนิวเคลียร์ “กองกำลังนิวเคลียร์เกาหลีเหนือมีเพื่อต้านภัยคุกคามจากนิวเคลียร์สหรัฐ”

ในยุคสงครามเย็น สหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์หลายชนิดในเกาหลีใต้ เคยคิดใช้อย่างจริงจังในสงครามเกาหลี

สื่อเกาหลีเหนือ KCNA ให้ข้อมูลว่า สหรัฐมีนโยบายโจมตีเกาหลีเหนือด้วยอาวุธนิวเคลียร์มานานหลายทศวรรษแล้ว “สหรัฐกำหนดให้เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่จะชิงโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน”

“จึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของเกาหลีเหนือที่จะป้องกันตนเองด้วยการเสริมขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ตราบเท่าที่สหรัฐยังใช้นโยบายข่มขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์” ในมุมมองของเกาหลีเหนือ อาวุธนิวเคลียร์คือเครื่องมือป้องกันการคงอยู่ของระบอบ จะไม่ยอมแลกสิ่งนี้กับสิ่งใดๆ

ไม่ว่าจะใช้มุมมองของฝ่ายใด คาบสมุทรเกาหลีเป็นอีกแห่งที่ภัยสงครามนิวเคลียร์คุกรุ่นเรื่อยมา รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์

ขีปนาวุธและจรวดร่อนรุ่นต่างๆ ของเกาหลีใต้
ขีปนาวุธและจรวดร่อนรุ่นต่างๆ ของเกาหลีใต้ https://i1.wp.com/missilethreat.csis.org/wp-content/uploads/2018/03/SouthKorean_missiles_web.jpg

แนวคิดสหรัฐอยากติดตั้งนิวเคลียร์ที่เกาหลีใต้:

รายงาน Ground-Based Intermediate-Range Missiles in the Indo-Pacific ของ RAND เมื่อปี 2022 ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐคิดติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและญี่ปุ่น

แผนติดตั้งนิวเคลียร์อินโด-แปซิฟิกน่าจะเทียบเคียงกับ “Nuclear sharing” ความร่วมมือด้านอาวุธนิวเคลียร์ของนาโต ข้อมูลปี 2019 ระบุว่าสหรัฐมีระเบิดนิวเคลียร์ B61 จำนวน 150 ลูกที่อยู่ในยุโรปภายใต้ Nuclear sharing การตัดสินใจใช้อาวุธเป็นระบบตัดสินใจร่วม สหรัฐจะเป็นผู้เตรียมอาวุธให้พร้อมใช้งาน ส่วนชาติยุโรปทำหน้าที่ปล่อยอาวุธ ส่งเครื่องบินขึ้นปฏิบัติการ

ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนแล้วว่า เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ปัจจุบันมีทหารอเมริกันในเกาหลีใต้กว่า 26,000 นาย แต่การคงอยู่มีปัญหาบางประการ ที่เอ่ยถึงมากคือการแบ่งเบาภาระงบประมาณจากเกาหลีใต้ ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของเกาหลีใต้ จึงต้องระมัดระวังหากทำเรื่องที่จีนกังวลใจ สมัยประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) รัฐบาลเกาหลีใต้แสดงท่าทีว่ายังไม่ต้องการนิวเคลียร์ จึงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบันและอนาคต

ที่ผ่านมาการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันมุ่งชี้ว่าเพื่อป้องกันเกาหลีเหนือ แต่การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางไม่อาจอ้างเหตุผลนั้นอีก เกาหลีใต้ต้องใคร่ครวญว่าหวังร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐหรือจะเป็นประเทศที่มีอิสระด้านการป้องกันประเทศ เพราะจะสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ทั้งหมด หากวันหนึ่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตรห้ามติดต่อค้าขายกับจีน รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่ จีนเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2003 แล้ว

แนวคิดมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง:

ในขณะที่มีแนวคิดว่ารัฐบาลสหรัฐอยากติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่นี่ ความคิดอีกกระแสดังขึ้น นั่นคือเกาหลีใต้ควรมีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง

ผลโพลของ Chicago Council on Foreign Relations เมื่อกุมภาพันธ์ 2022 พบว่าคนเกาหลีใต้ 71% เห็นด้วยที่ประเทศจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือ พฤษภาคมปีเดียวกันโพลของ Asan Institute for Policy Studies ให้ผลตรงกัน คนเกาหลีใต้ 70.2% อยากให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ 63.6% อยากให้ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองแม้จะโดนคว่ำบาตรเพราะการสร้างอาวุธนี้ก็ตาม

จากฐานคิดว่าหากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นจริง รัฐบาลสหรัฐคงไม่เสี่ยงร่วมสงครามนี้ ไม่ต้องการให้ประเทศตัวเองเป็นพื้นที่หัวรบนิวเคลียร์หล่นใส่ แม้เกาหลีใต้กับสหรัฐมีสนธิสัญญาป้องกันประเทศต่อกัน

แนวคิดนี้น่าสนใจเพราะนับวันคนเกาหลีใต้ที่เห็นด้วยเพิ่มขึ้น

ในแง่เทคโนโลยี นักวิชาการบางคนมั่นใจว่าเกาหลีใต้สามารถสร้างทั้งตัวหัวรบกับระบบปล่อยนิวเคลียร์ (เกาหลีใต้สร้างขีปนาวุธพิสัยกว่าพันกิโลเมตรของตัวเองได้แล้ว)

Lee Jung-hoon จาก Yonsei University ให้ความเห็นว่า แม้จะใช้นโยบายคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์มาหลายปีแต่ไม่อาจห้ามการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 (ครั้งต่อไป) ที่เกาหลีเหนือกำลังจะทำ และคงไม่หยุดเท่านี้ เป็นหลักฐานว่านโยบายดังกล่าวล้มเหลว วิธีการเดิมๆ ที่ใช้มา 2 ทศวรรษล้มเหลว ควรหาแนวทางใหม่

บางคนถึงกับพูดว่าถ้าเกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์ครั้งที่ 7 เกาหลีใต้ควรถอนตัวออกจาก NPT ทันที ข้อนี้จะเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนที่จะต้องกดดันเกาหลีเหนือระงับโครงการอาวุธนิวเคลียร์แทนที่จะสุ่มเสี่ยงให้ตึงเครียดกว่าเดิม อีกทั้งเป็นไปได้ว่าหากเกาหลีใต้ถอนตัวออกจาก NPT ญี่ปุ่นจะทำตามด้วย

บรรทัดสุดท้ายของแนวคิดนี้คือถ้าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีใต้จะขอมีด้วย เรื่องที่จะหวังพึ่งการปกป้องจากสหรัฐไม่น่าเชื่อถือ

Cheong Seong-chang จาก Sejong Institute ชี้ว่า ในยามนี้สหรัฐต้องหวังความร่วมมือจากพันธมิตรที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีใต้มีศักยภาพดังกล่าว สามารถสร้างนิวเคลียร์ 4,000 หัวรบ และสามารถผลิตลูกแรกภายใน 2-3 ปี คำถามคือจะเริ่มผลิตเมื่อไหร่

นักวิชาการบางคนคิดว่าเกาหลีใต้มีแผนสร้างเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ด้วย กันยายน 2021 เกาหลีใต้ทดสอบยิงขีปนาวุธจากเรือดำน้ำที่สร้างเอง เป็นไปได้ว่าเป้าหมายในระยะแรกคือขีปนาวุธที่มีพิสัยไม่เกิน 800 กิโลเมตร

เกาหลีใต้จะมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่เป็นประเด็นที่วิพากษ์ได้อีกมาก ที่สุดแล้วนักวิชาการบางคนคิดว่าถ้าจำเป็นจริงๆ ย่อมต้องมีไม่ว่าจะแลกด้วยอะไรก็ตาม

มุมมองจากสหรัฐ รัสเซีย จีน:

ถ้าข้อสรุปคือต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ คำถามตามมาคือรัฐบาลสหรัฐจะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าสหรัฐตั้งเป้าว่าต้องเป็นระบบคล้าย Nuclear sharing ที่ทำกับยุโรป เอื้อให้สหรัฐมีอิทธิพลในเกาหลีใต้ต่อไป รักษาความเป็นมหาอำนาจผู้ครองความเป็นเจ้า

ในอดีตรัฐบาลสหรัฐเกลี้ยกล่อมห้ามอินเดียสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง เสนอให้อินเดียเข้าร่วม Nuclear sharing และจะป้องกันอินเดียหากโดนโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่รัฐบาลอินเดียปฏิเสธ ทุกวันนี้อินเดียจึงมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง

รัฐบาลเกาหลีใต้จะตอบคำถามนี้อย่างไร บรรดานักการเมืองมีอิสระมากพอที่จะตัดสินใจบนผลประโยชน์แห่งชาติของตนแค่ไหน เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

ไม่ว่าเกาหลีใต้จะมีขีปนาวุธพิสัยกลางหรือ Tactical ballistic missile พิสัย 150-300 กิโลเมตร ล้วนตีความได้ว่ากระทบความมั่นคงของจีนกับรัสเซีย ลำพังกระทบเกาหลีเหนือก็กระทบต่อจีนแล้ว

จีนกับรัสเซียคงไม่เห็นด้วยแน่นอน ที่ผ่านมาการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันมุ่งชี้ว่าเพื่อป้องกันเกาหลีเหนือ แต่การติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางยากจะอ้างว่ามีไว้เพื่อยิงเกาหลีเหนือ

ประเด็นสุดท้ายที่เกาหลีใต้ต้องใคร่ครวญคือ ต้องการร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐ หรือจะเป็นประเทศที่มีอิสระด้านการป้องกันประเทศ เพราะจะสัมพันธ์กับด้านอื่นๆ ทั้งหมด หากวันหนึ่งสหรัฐประกาศคว่ำบาตรห้ามติดต่อค้าขายกับจีน รัฐบาลเกาหลีใต้พร้อมทำตามหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป

State of the Union 2024 ไบเดนลั่นกลองหาเสียง

คำแถลงนโยบายประจำปี 2024 เหมือนการหาเสียงมากกว่า ซึ่งไม่แปลกเพราะตรงกับปีเลือกตั้ง แม้ไม่เอ่ยว่าคำว่า “ทรัมป์” แต่ผูกประเด็นเข้ากับคู่แข่งการเมืองอย่างชัดเจน