อังกฤษได้นายกฯ ‘หญิงเหล็ก’ รุ่นใหม่

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ Liz Truss วัย 47 ปี พูดเสมอว่าเธออยากจะเป็นอย่างอดีตนายกฯ หญิงเหล็ก Magaret Thatcher

เมื่อเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา สมาชิกพรรคอนุรักษนิยม หรือ Conservative Party ก็ลงมติเลือกเธอให้เป็นผู้นำประเทศต่อจากบอริส ยอห์นสัน เพื่อบริหารประเทศในภาวะที่มีวิกฤตมากมายหลายด้าน

แทตเชอร์คือนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1979-1990 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ปี 1975-1990

แทตเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 20 

 

ถึงขนาดที่นโยบายของเธอทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจได้สมญาว่า Thatcherism

วันนี้ ลิซ ทรัสส์ จะสามารถเจริญรอยตามนักการเมืองแม่แบบของเธอหรือไม่ ยังเป็นโจทย์ที่ยากอย่างยิ่ง

ประวัติของลิซ ทรัสส์ เกี่ยวโยงกับความฝันที่จะเป็นนักการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย

ตอนอายุ 9 ขวบ ลิซเคยสวมบทเป็นมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในละครของโรงเรียน

ละครที่เธอเล่นมีฉากที่ต้องหาเสียงเลือกตั้งด้วย

ลิซ ทรัสส์ เล่าแบบขำๆ ว่า "ในละครนั้น ฉันพยายามกล่าวสุนทรพจน์อย่างจริงจัง แต่สุดท้ายไม่มีใครลงคะแนนให้เลย แม้แต่ฉันก็ไม่ลงคะแนนให้ตัวเอง"

เธอเกิดในเมืองออกซ์ฟอร์ด คุณพ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอซึ่งเป็นพยาบาล

เธอเคยบอกว่าคุณแม่มีความคิดการเมืองไปทาง “ซ้าย” และมักเข้าร่วมกิจกรรมเดินขบวนของกลุ่มเรียกร้องปลดอาวุธนิวเคลียร์

นั่นคือช่วงจังหวะที่คนรุ่นใหม่อังกฤษออกมาต่อต้านนโยบายของรัฐบาลแทตเชอร์ที่อนุญาตให้มีการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กรีนแฮม คอมมอนทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร

ลิซ ทรัสส์ ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเรียนวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์

เธอมีแนนวโน้มชอบการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษา และร่วมตั้งกลุ่มการเมืองที่เลื่อมใสในพรรคลิเบอรัล เดโมแครต หรือแนวทางของ “เสรีประชาธิปไตย” ที่ไม่ใช่ทั้งพรรคอนุรักษนิยมและพรรคแรงงาน

จบจากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เธอได้งานเป็นนักบัญชีที่บริษัท เชลล์ (Shell) และบริษัท เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส (Cable & Wireless)

แต่งงานกับฮิว โอเลียรี ซึ่งเป็นนักบัญชีเหมือนกัน มีลูกด้วยกัน 2 คน

ความพยายามครั้งแรกที่จะเป็น ส.ส.ของพรรคอนุรักษนิยมไม่ประสบความสำเร็จ

เธอสมัครที่เมืองเฮมสเวิร์ธ ของเวสต์ ยอร์กเชียร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2001 แต่แพ้ให้กับคู่แข่ง

ต่อมาในปี 2005 เธอลงแข่งอีกครั้ง แต่ก็แพ้ที่เขตเลือกตั้งเมืองคาลเดอร์ วัลเลย์ ซึ่งอยู่ในเวสต์ ยอร์กเชียร์

เธอไม่ยอมแพ้ ปีต่อมาลงสมัครอีกและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาของกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอนในปี 2006

ตั้งแต่ปี 2008 เธอก็ได้ทำงานเป็นรองผู้อำนวยการของรีฟอร์ม (Reform) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่มีแนวทางความคิดที่เอียงไปทาง “ขวา”

แล้วชีวิตก็เปลี่ยนเมื่อเธอก็ได้รับการสนับสนุนจากเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟในขณะนั้น

เขายอมให้เธออยู่ในบัญชีผู้สมัครอันดับต้นๆ ในการเลือกตั้งปี 2010

ครั้งนี้เธอก็ได้รับเลือกให้ลงเลือกตั้งในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่าง เซาท์ เวสต์ นอร์ฟอล์ก

หลังจากได้เป็น ส.ส.เพียง 2 ปี เธอได้เข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยศึกษา

และต่อมาในปี 2014 นายกฯ คาเมรอนก็เลื่อนให้เธอเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม

ฝ่ายตรงกันข้ามของเธอมักจะเตือนคนอังกฤษให้จำไว้ว่า

ในการลงประชามติ Brexit ในปี 2016 ที่ให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปนั้น ลิซ ทรัสส์ อยู่ฝ่าย Remain หรือไม่ให้แยกตัวออกจากอียู แต่ก็มาทำงานกับนายกฯ จอห์นสันที่ทำ Brexit ให้เกิดขึ้นจนได้

ต่อมาในปี 2016 เธอได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในสมัยของนายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์

และต่อมาอีก 1 ปีก็ได้เป็น รมช. คลัง ซึ่งทำให้เธอดูแลเรื่องเศรษฐกิจสำคัญๆ หลายโครงการ

นายกฯ คนต่อมาคือ บอริส จอห์นสัน ก็เห็นความสามารถของเธอ

ในปี 2019 เธอถูกย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ

และเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เธอก็สวมตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล

ที่ทำให้เธอโดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งในตำแหน่งนี้คือ เมื่อรัสเซียบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์นั้น

เธอแสดงท่าทีที่แข็งกร้าว ยืนกรานว่า อังกฤษและยุโรปต้องร่วมมือกันผลักดันกองกำลังทั้งหมดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกไปจากยูเครนให้จงได้

นโยบายสำคัญที่อาจมีส่วนสำคัญทำให้เธอได้รับเลือกเป็นนายกฯ น่าจะเป็นแนวทางช่วยเหลือชนชั้นกลางที่กำลังเผชิญกับความลำบาก เพราะเงินเฟ้อและราคาข้าวของแพงลิ่ว โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน

เธอประกาศจะยกเลิกการปรับขึ้นเงินนำส่งกองทุนประกันสังคม (National Insurance) ของสหราชอาณาจักร หลังจากมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

อีกทั้งยังจะช่วยเหลือธุรกิจเอกชนด้วยการยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เดิมจะปรับขึ้นจาก 19% เป็น 25% ในปีหน้า

อีกเรื่องหนึ่งคือการระงับ "อากรสีเขียว" (green levy) หรือภาษีสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้นเธอยังประกาศจะตัดลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการขยายระยะเวลาการชำระ "หนี้โควิด" ของอังกฤษให้ยาวขึ้นไปอีก

ที่ได้ใจคนทำงานที่ต้องดูแลเด็กและผู้สูงวัยคือ แนวทางของเธอที่จะแก้ไขการจัดเก็บภาษีเพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลลูกหรือญาติที่สูงอายุ

อีกทั้งจะสร้างโซนพิเศษที่เก็บภาษีต่ำและลดกฎเกณฑ์ทางการให้น้อยลงในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสร้าง “ศูนย์กลางวิสาหกิจและนวัตกรรม” เพื่อสร้างอนาคตของประเทศ

เธอรับปากว่าจะพยายามไม่ตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐลง หากหาช่องทางที่เป็นไปได้

เพื่อโยกงบประมาณไปแก้ปัญหาอื่นๆ ในอนาคต

แต่เธอยังจะเดินหน้าปรับขึ้นงบประมาณกลาโหมต่อ

จากเป้าการใช้งบกลาโหมที่ 2.5% ของจีดีพีในปี 2026 และจะตั้งเป้าการใช้งบกลาโหมใหม่เป็น 3% ในปี 2030

ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษคือ พอเธอขึ้นมาบริหารสหราชอาณาจักร จะทำให้สงครามในยูเครนยิ่งจะร้อนแรงขึ้นอีกหรือไม่อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร