นายกฯหลัง30กันยา

ถ้าคิดว่าเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหา

กลับกันถ้าคิดว่าไม่ใช่ปัญหา มันก็ไม่เป็นปัญหา

เรื่องนายกฯ ๘ ปี ยิ่งพูดก็ยิ่งยืดยาว

วันนี้มันไม่ใช่เรื่อง "ลุงตู่" อยู่ครบวาระแล้วหรือไม่ แต่มันเป็นเรื่อง ห้าม "ลุงตู่" อยู่ต่อแม้วันเดียว

เมื่อตั้งธงเอาไว้แบบนั้น ก็เลิกอ้างอิงข้อกฎหมายกันครับ

เห็นฝ่ายค้านพูดกันมาหลายวันแล้ว หากวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "ลุงตู่" นั้นสิ้นสุดไปตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคมที่ผ่านมา "ลุงตู" ต้องไปทันที

ห้ามนั่งเก้าอี้นายกฯอีก

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด                       

ครับ...ไล่กันจนหน้ามืด ไม่พลิกดูรัฐธรรมนูญเสียก่อนว่า กำหนดเอาไว้อย่างไร

กลับไปดูมาตรา ๑๕๘ กันอีกทีครับ

"...พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบกันเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง..."

ชัดเจนมั้ยครับ!

วรรคท้าย "มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

ก็หมายความว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า "ลุงตู่" พ้นวาระไปตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ก็ยังสามารถกลับมา เป็นนายกฯรักษาการจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

แต่...ต้องดูด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญยกเลิกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยหรือไม่

ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ยกเลิก ในเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่า จำนวน ๘ ปีนั้นไม่นับรวมระหว่างเป็นนายกฯรักษาการ

ฟัง รองศาสตราจารย์เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดถึงประเด็นหลังมีคำสินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ออกทางไหนก็ไม่จบ

"...ปัญหาไม่จบถ้าพล.อ.ประยุทธ์เข้ามารับตำแหน่งในปี ๕๗ และต้องออกไปวันที่ ๒๔ สิงหาคมที่ผ่านมา แนวโน้มสูงมากที่ ส.ว. รวมกับเสียงข้างมากอาจจะไม่เลือกคุณอนุทิน ชาญวีรกูล

หากคุณอนุทิน อาจจะดูไม่เหมาะสม แต่เหมาะในด้านของผู้ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯได้ เพราะเป็น ส.ส. มีพรรคการเมือง และมาจากการเลือกตั้ง

แต่หากไม่เลือกคุณอนุทิน แต่ไปเลือกนายกฯคนนอก เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปัญหาไม่จบ เพราะยังอยู่ในอำนาจ ๓ ป. เป็นการสืบทอดอำนาจ..."

ก็จริงครับ ออกทางไหนก็ไม่จบ

"ลุงตู่" อยู่ต่อ จะปี ๒๕๖๘ หรือ ๒๕๗๐ ไม่ว่าปีไหนก็ไม่จบทั้งนั้น

ม็อบมาแน่นอน!

หาก"ลุงตู่" ไม่ได้ไปต่อ เป็น "อนุทิน"  มันก็ต้องเลือกครับ เพราะมันเป็นวิถีตามรัฐธรรมนูญ เหมาะหรือไม่เหมาะอยู่ที่รัฐสภาเป็นผู้เลือก

ถ้าเสียงส่วนใหญ่บอกว่า เหมาะ มันก็ต้องเหมาะ

แต่หากบอกว่าไม่เหมาะรับไม่ได้ ก็ยังมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯอีกหลายคน มีทั้ง อภิสิทธิ เวชชาชีวะ,สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ชัชชาติ สิทธิพันธ์, ชัยเกษม นิติศิริ

มันไม่ได้ตีบตันถึงขนาดบอกว่าไม่มี

ไอ้ที่ไม่มี ประชาชนไม่ได้เป็นคนสร้างเงื่อนไข แต่นักการเมืองสร้างกันเองทั้งนั้น

"สุดารัตน์" เพื่อไทยไม่เอาแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเพราะประชาชนบอกว่าไม่ให้เป็น แต่เป็นตระกูลชินวัตร ที่เฉดหัวออกไปจากเพื่อไทย

"ชัชชาติ" ก็ไปเป็นผู้ว่าฯกทม. แต่ไม่แน่อาจอยากจะกลับมาลองเป็นนายกฯดู เพราะเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.เล็กเกินไปแล้ว ไม่สามารถช่วยให้แก้ปัญหาน้ำท่วมกทม.ได้

ถ้าได้เป็นนายกฯซิ ไม่แน่ เพราะสั่งได้หมดทุกกระทรวง ทบวง กรม

สำหรับ "อภิสิทธิ์" หลุดวงโคจรไปไกลพอควรแล้ว แค่สู้กันในพรรคประชาธิปัตย์ ก็หืดขึ้นคอ

เหลือแต่ "ชัยเกษม นิติศิริ" ที่พอดูได้ แต่บทบาทในพรรคเพื่อไทยล่าสุด เห็นประกาศหาคนหายอยู่

"ทักษิณ" วางแผนชู ลูกสาวอยู่ ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะไม่มีแคนดิเดตอะไรทั้งนั้น บทบาทในพรรคขณะนี้จึงไปกองอยู่ที่ "อุ๊งอิ๊ง"

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากน้ำมือประชาชนนะครับ

นักการเมืองเล่นกันเองทั้งนั้น

ไอ้ที่บอกว่าทำเพื่อประชาชน ประชาชนต้องมาก่อน กองไว้ตรงนั้่นเถอะครับ โกหกทั้งเพ

เหม็นขี้ฟัน

ฉะนั้นหากว่ากันตามรัฐธรรมนูญกรณี "ลุงตู่" ไม่ได้ไปต่อ  "ลุงตู่" ก็สามารถกลับมาเป็นนายกฯรักษาการได้ และทำหน้าที่จนกว่า รัฐสภาจะเลือกนายกฯคนใหม่

หากดูตามเส้นทางแล้ว "อนุทิน" มีโอกาสมากที่สุด

ชอบหรือไม่ชอบ ก็เป็นอีกเรื่อง

แต่มาตามรัฐธรรมนูญ       

ถ้าบอกว่า "อนุทิน" ไม่เหมาะ แคนดิเดตนายกฯที่มีรายชื่ออยู่ทั้งหมด ไม่มีใครมีสักยภาพมากพอที่ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ต้องใช้คนนอกบัญชีพรรคการเมือง

แล้วชี้ไปที่ "ลุงป้อม"

จบยากครับ!

เราอยูในพ.ศ.๒๕๖๕ แล้ว ไม่ใช่ปี ๒๕๐๐                   

แม้มันจะอยู่ในกติการัฐธรรมนูญ แต่การนำมาปฏิบัติให้สง่างามนั้น เป็นไปได้ยากมาก เพราะมันผิดธรรมชาติ

เราผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมา วีรชนต้องล้มตายเพราะการต่อต้านนายกฯคนนอก

แม้ "ลุงป้อม" มิใช่เป็นคนนอก ๑๐๐% เหมือน พล.อ.สุจินดา คราประยูร  เพราะ "ลุงป้อม" เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และอยู่ในการเมืองมานาน           อีกทั้งบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญยังรองรับนายกฯก็อกสอง ที่มาจากคนบอกบัญชีพรรคการเมือง

แต่การทำให้การเมืองซับซ้อนขึ้น มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ซับซ้อนตามเช่นกัน

เวลานี้สถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลใช่จะเป็นปึกแผ่นนัก

พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พร้อมเปิดศึกสามเส้าได้ทุกเวลา

ที่ผ่านมาก็มีแอบตีท้ายครัวกันเป็นระยะๆ

ยิ่งมโนกันว่าใกล้เลือกตั้งมากเท่าไหร่ ความเป็นอิสระจากกันเพราะต้องต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง ก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ดูกรณี พ.ร.บ.กัญชง กัญชา  พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ครับ        

ไม่ใช่ก็เหมือนใช่

ไม่ขัดแย้งก็เหมือนขัดแย้ง  เพราะเส้นทางมันมาแนวนี้

ลองนึกภาพ พรรคร่วมรัฐบาลบอกว่าไม่เอา "อนุทิน" ใครจะเป็นคนเคาะ

ถ้า "อนุทิน" ยอมให้มีนายกฯก็อกสองด้วยตัวเอง ก็ไม่มีอะไรในก่อไผ่

แต่หากไม่ยอมจะเกิดอะไรขึ้น?

ครับ...ว่าไปเสียยืดยาว

หลัง ๓๐ กันยายนอะไรเกิดก็ต้องเกิด ประเทศไทยผ่านไปได้แน่นนอน  หนักกว่านี้ก็เจอมาเยอะแล้ว ไม่ได้โม้

แต่ "ลุงตู่" อยู่ต่อจัดประชุมเอกเปค เสร็จแล้วยุบสภาต้นปีหน้า ดูจะลงตัวที่สุด.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง