เริ่มชัดเจนกับแผนอุ้มน้ำมัน

ผ่านมาก็หลายสัปดาห์แล้ว ไม่สิ ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ความคืบหน้าที่ดูเหมือนจะชัดเจนก็ยังดูคลุมเครือ และดูเลื่อนลอย แต่ก็ยังต้องหวังกันต่อให้สามารถสรุปจบได้ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะนำมาอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลกมาหลายเดือน และดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เคยเก็บสะสมไว้มาใช้จนล่าสุดติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว

เมื่อวิกฤตเกิด แผนกู้วิกฤตก็ต้องตามมา แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพลังงานก็กระตือรือร้นอยู่บ้างที่จะผลักดันแผนดูแลราคาพลังงานต่างๆ หลากหลายวิธี จนมาจบอยู่ที่การกู้เงิน โดยเรื่องนี้คุยกันมายาวนานหลายเดือน จนประชาชนเริ่มสงสัยแล้วว่าจะไปจบที่ตรงไหน

แต่ล่าสุดลำแสงที่ปลายอุโมงค์ก็เริ่มโผล่มาให้เห็น เพราะการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดย สกนช. วงเงิน 150,000 ล้านบาท พร้อมมอบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาปรับแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ

ซึ่งแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 (กู้ยืมครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2565-ก.พ.2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 ซึ่งจะชำระหนี้ครบภายในเดือน ก.พ.2568

ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค.2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือน ต.ค.2572

นอกจากนี้ล่าสุดได้ยินข่าวมาว่า กบน.ก็เตรียมเดินหน้าเต็มกำลัง โดยจะเตรียมประชุมเร็วๆ นี้ เพื่อกำหนดวงเงินกู้ครั้งแรกและแผนการชำระหนี้เงินกู้ที่ชัดเจน ภายหลังจากได้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านความเห็นชอบ 3 แผนของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) แล้ว คือ แผนการกู้เงิน, แผนการชำระหนี้ และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทก็มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 5 ต.ค.2566

และแน่นอนว่า หลังจากนี้ สกนช.จะเตรียมขั้นตอนการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะประกาศเชิญชวนสถาบันการเงินต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมปล่อยกู้ในรูปแบบการประมูลที่รายใดเสนอเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่ดีที่สุดจะได้รับการพิจารณาก่อน และหลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ พิจารณาเลือกสถาบันการเงินเพื่อปล่อยกู้ คาดว่ากองทุนจะได้รับเงินในเดือน พ.ย.นี้

โดยอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวว่า สำหรับวงเงินก้อนแรกของ 1.5 แสนล้านบาทที่ได้บรรจุไว้ในหนี้สาธารณะแล้ว คือวงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่ง กบน.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเริ่มต้นกู้เท่าไหร่ ซึ่งอาจไม่ถึง 30,000 ล้านบาท โดยจะดูตามความจำเป็นในการใช้เงินเป็นหลัก หากไม่จำเป็นจะไม่กู้มากเกินไป เพราะจะกลายเป็นภาระหนี้ประเทศ        

ทั้งนี้ หากในอนาคตจำเป็นต้องกู้เพิ่ม เช่น 20,000 ล้านบาท ก็ต้องให้ ครม.บรรจุวงเงินนั้นไว้ในหนี้สาธารณะก่อน จึงจะเริ่มกู้ได้ แต่โดยรวมต้องไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท และมีระยะเวลาให้ทำเรื่องกู้ได้ไม่เกิน 1 ปี แต่ไม่จำเป็นต้องกู้ให้ครบ 1.5 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาพลังงานในช่วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก

เท่านี้ก็น่าจะเริ่มอุ่นใจได้แล้วว่าความเลื่อนลอย หรือการที่ดูไร้หลักแหล่งก่อนหน้านี้ของเรื่องการกู้เงินดังกล่าว เริ่มจะทำให้กลับมามีหวังได้ว่าจะสามารถทำได้โดยเร็ว แต่หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งพิจารณากันต่อว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นดาบสองคมหรือไม่ เพราะเป็นเหมือนนโยบายที่ทำก็ดี ไม่ทำก็อาจจะดีเช่นกัน.

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล