Retiro และ Puerto Madero

    นึกสนุกอะไรขึ้นมาก็ไม่รู้ ผมถึงเข้าพักในโฮสเทลยอดนิยมแห่งหนึ่งของกรุงบัวโนสไอเรสช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวนักเดินทาง ในโฮสเทลมีบาร์ มีปาร์ตี้เล็กๆ มีการพูดคุยสนทนากันอย่างออกรสชาติ แถมห้องนอนเป็นแบบดอร์มหรือห้องนอนรวม ในโฮสเทลไม่มีใครสวมหน้ากาก ผมเองก็เลยไม่กล้าสวมเพราะกลัวโดนเด็กล้อ จะสวมก็แค่ตอนเข้าห้องน้ำ

    น่าดีใจ ผมรอดมาได้อีกคำรบ อีก 3 สัปดาห์ต่อมาผมกลับมายังกรุงบัวโนสไอเรสอีก คราวนี้ไม่พร้อมเสี่ยงโควิด เพราะกำลังจะเข้าโหมดเดินทางยาวๆ หลายเมือง หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน และทำให้การเดินทางขาดตอน จึงเลือกเข้าพักในโรงแรม

    ปลายทางของผมอยู่ที่นครเซาเปาโล ประเทศบราซิล แต่ไม่ต้องการเดินทางตรงไปยังเซาเปาโล มีแผนแวะกราบนมัสการพระสงฆ์ลาวที่วัดลาวเมืองโปซาดัส รัฐมิซิโอเนส ทางเหนือของอาร์เจนตินาก่อน จากนั้นจะเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังเมือง “ปวยโตอีกวาซู” ข้ามพรมแดนสู่ “ฟอสดูอีกวาซู” ของบราซิล แล้วจึงค่อยมุ่งหน้าทิศตะวันออกตรงไปยังเซาเปาโล

    แผนการเดินทางจะไม่มีการขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้หากนั่งรถบัสโดยตรงจากกรุงบัวโนสไอเรสไปยังนครเซาเปาโล รถจะวิ่งเป็นระยะทางประมาณ 2,300 กิโลเมตร ใช้เวลาราวๆ 40 ชั่วโมง ซึ่งการอยู่บนรถบัสนานขนาดนั้นไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน ส่วนแผนการเดินทางที่ผมเลือกจะกินระยะทางประมาณ 2,500 กิโลเมตร เพิ่มมาแค่ 200 กิโลเมตร แต่จะได้แวะเมืองตามรายทางอีกถึง 3 เมือง

    จากโรงแรมที่พักบนถนน Tucuman เขต San Nicolas ผมเดินประมาณ 2 กิโลเมตรไปพบคู่รักชาวไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรสคู่เดิมที่ Retiro ศูนย์กลางการขนส่งมวลชนของกรุงบัวโนสไอเรสซึ่งตั้งอยู่ในเขต หรือ Bario ชื่อ Retiro เหมือนกัน

    การนัดพบกันที่สถานี Retiro นั้นต้องระบุให้ชัดว่าพบกันตรงไหน เพราะแต่ละประเภทรถและสายรถไม่ได้อยู่อาคารเดียวกัน มีทั้งรถไฟใต้ดิน รถไฟสาย San Martin รถไฟสาย Tigre และสถานีรถบัส (Terminal de Omnibus Retiro) ซึ่งคุณแม็คและคุณแจ็คไปถึงก่อนแล้วโทรศัพท์บอกทางผมว่าให้เดินบนบาทวิถีไปจนสุดทางของแถวแนวอาคารเหล่านี้ ซึ่งแต่ละอาคารไม่ได้เชื่อมต่อหรืออยู่ติดกัน มีคั่นด้วยตลาดและปากทางเข้าสลัม ขอทานและคนจรจัดปะปนอยู่กับพ่อค้าแม่ค้าที่วางของขายทั้งที่มีแผงและแบกะดิน คุณแม็คกำชับให้ระวังเรื่องกระเป๋าและโทรศัพท์

อาคารชานชาลารถไฟสาย San Martin

    ทั้งคู่มาช่วยผมซื้อตั๋วรถบัสไปเมืองโปซาดัส เพราะห่วงว่าลำพังผมคนเดียวคงสื่อสารกับคนขายตั๋วยากหน่อย ลักษณะห้องขายตั๋วเรียงกันเป็นแถวหน้ากระดานคล้ายๆ หมอชิตหรือสายใต้บ้านเรา แต่ห้องขายตั๋วของที่นี่มีขนาดใหญ่กว่า

    เจอห้องขายตั๋วไปโปซาดัสแล้วคุณแม็คก็สอบถามเที่ยวรถและราคา ตกลงเดินทางเที่ยว 2 ทุ่มวันรุ่งขึ้น เป็นรถของบริษัท Singer (อ่าน “ซิงเก”) เก้าอี้ปรับนอนได้ 180 องศา ราคาตั๋ว 12,400 เปโซ หรือประมาณ 1,600 บาท การเดินทางใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง

    คุณแม็คและคุณแจ็คจะเดินไปส่งผมถึงที่พัก แต่ผมขอให้คู่รักแยกไปก่อนเพราะเกรงใจและทราบว่ามีธุระรออยู่ ทั้งคู่เดินเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน ส่วนผมเดินขึ้นไปยังเนินเขาเตี้ยๆ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดไม่ใหญ่นักเพื่อชมวิวยามใกล้ค่ำ

    สวนสาธารณะขนาดเล็กที่อาร์เจนตินามักถูกเรียกว่า Plaza หรือจัตุรัส สวนสาธารณะแห่งนี้ชื่อว่า Plaza General San Martin ตั้งตามชื่อ “General Jose de San Martin” หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติอาร์เจนตินา เป็นผู้บัญชาการรบกับกองทัพจักรวรรดิสเปนในสงครามเพื่อเอกราชของอาร์เจนตินาระหว่าง ค.ศ.1810-1818 โดยพื้นที่บริเวณนี้นายพลซานมาร์ตินเคยใช้ในการฝึกกองทัพของตนเพื่อออกไปต่อสู้กับกองทัพสเปน อนุสาวรีย์ขี่ม้าของนายพลซานมาร์ตินตั้งอยู่ทางด้านใต้ของจัตุรัส

    ข้างล่างของเนินเขาเล็กๆ นี้ ฝั่งที่ผมเดินขึ้นมาคืออนุสรณ์สถานทหารพลีชีพในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ หรือที่ชาวอาร์เจนตินาเรียกว่า “หมู่เกาะมัลวีนัส” สงครามนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1982 เมื่อกองทัพอาร์เจนตินาบุกจู่โจมเกาะที่อังกฤษยึดไว้ตั้งแต่ 50 ปีก่อนหน้านั้น อังกฤษส่งกองทัพเรือมาตอบโต้และสามารถปิดเกมลงได้หลังสงครามดำเนินไป 10 สัปดาห์ โดยการยอมแพ้ของฝ่ายอาร์เจนตินา

อนุสรณ์สถานทหารพลีชีพในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์

    ทหารอาร์เจนตินาเสียชีวิต 649 นาย ฝ่ายอังกฤษ 255 นาย ชาวเกาะสังเวยไป 3 ชีวิต ทุกวันนี้หมู่เกาะนอกชายฝั่งแอตแลนติกทางใต้สุดของอาร์เจนตินายังเป็นสมบัติของอังกฤษ

    เมื่อก้มมองลงไปยังอนุสรณ์สถานทหารพลีชีพของอาร์เจนตินาแล้วค่อยๆ เงยขึ้นไป เห็นถนน Avenida del Libertador คั่น จากนั้นจะพบกับหอนาฬิกาสูง 75.5 เมตรตั้งอยู่อีกฝั่งถนนในจัตุรัส Plaza Fuerza Aerea Argentina ภายในหอนาฬิกาแบ่งเป็น 8 ชั้น สามารถขึ้นไปชมวิว เห็นครอบคลุมทั้งเขต “เรตีโร”

มองหอนาฬิกาอังกฤษจากจัตุรัส Plaza General San Martin

    หอนาฬิกานี้ชื่อว่า Torre Monumental ก่อนหน้านี้มีชื่อว่า Torre de los Ingleses ซึ่งแปลว่“หอนาฬิกาอังกฤษ” เพราะสร้างขึ้นโดยชาวอังกฤษที่เข้ามาตั้งรกรากในอาร์เจนตินา ทำพิธีเปิดใช้งานเมื่อ ค.ศ.1916 อันเป็นปีครบรอบ 1 ศตวรรษการประกาศเอกราช

    หากหันไปทางขวามือของจัตุรัส Plaza General San Martin มีอาคาร Kavanagh ที่โด่งดังตั้งอยู่อย่างโดดเด่น อาคารนี้สร้างเสร็จเปิดใช้เมื่อปี ค.ศ.1936 มี 31 ชั้น สูง 120 เมตร ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในลาตินอเมริกา และเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงที่สุดในโลกเวลานั้น ผสมผสานระหว่างสไตล์โมเดิร์นและอาร์ตเดโค จากการสำรวจชาวบัวโนสไอเรสที่ไม่ใช่สถาปนิกและไม่ได้อยู่ในวงการก่อสร้างอาคาร พวกเขาชื่นชอบตึกนี้มากกว่าตึกอื่นใดในเมือง

อาคาร Kavanagh ในเขต Retiro

    ผมเดินเล่นอยู่บนเนินเขาจนฟ้ามืด รู้สึกเริ่มหิว ดูแผนที่กูเกิลในมือถือแล้วตัดสินใจเดินไปย่านปวยโตมาเดโร (Puerto Madero) ซึ่งอยู่ห่างออกไปพอๆ กับเดินกลับที่พัก

    ปวยโตมาเดโร แปลว่า “ท่าเรือมาเดโร” เป็น 1 ใน 48 เขตของกรุงบัวโนสไอเรส ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำรีโอเดลาปลาตา (Rio de la Plata) แต่ดูๆ ไปแม่น้ำช่วงนี้มีลักษณะคล้ายทะเลมากกว่า หากจะเดินทางไปฝั่งตรงข้ามซึ่งก็คือเมืองโคโลเนียเดลซาคราเมนโต ประเทศอุรุกวัย ต้องนั่งเรือเฟอร์รีนานกว่า 1 ชั่วโมง ช่วงที่กว้างสุดนั้นกว้างถึง 220 กิโลเมตร หากจัดว่าเป็นแม่น้ำก็ต้องถือว่าเป็นแม่น้ำที่กว้างที่สุดในโลก แต่เมื่อดูจากแผนที่แล้วมีลักษณะของความเป็นอ่าว (Gulf) หรือทะเลชายขอบทวีป (Marginal sea) มากกว่า ทว่าชาวปอร์เตโยพอใจที่จะเรียกว่า “แม่น้ำ” หรืออย่างน้อยก็ต้อง “ปากแม่น้ำ”

ประดับตกแต่งด้วยปั้นจั่น สัญลักษณ์ของเมืองท่าเรือ

    ท่าเรือแห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1897 และหมดประโยชน์ในการเป็นท่าเรือสินค้าเพียง 30 ปีหลังจากเปิดใช้งานเนื่องจากน้ำตื้น เรือมีปัญหาในการเข้าเทียบท่า และเมื่อมีการสร้างท่าเรือใหม่ Puerto Nuevo ขึ้นในเขตเรตีโร (เลยท่ารถบัสไป) ปวยโตมาเดโรก็กลายเป็นย่านที่ถูกทอดทิ้งให้มีแต่โกดังเก่าๆ เพิ่งจะกลับคืนชีพเมื่อ 20 กว่าปีมานี้เอง โดยความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งการแปลงโฉมสิ่งปลูกสร้างเก่า ปรับสภาพพื้นที่ และเนรมิตเมืองบางส่วนขึ้นมาใหม่ 

    ทุกวันนี้ปวยโตมาเดโรเป็นที่ตั้งของโรงแรมหรู อพาร์ตเมนต์ราคาแพง มหาวิทยาลัยเอกชน อาคารพาณิชย์ สำนักงานธนาคาร โรงหนัง โรงละคร ศูนย์วัฒนธรรม แกลเลอรี ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ ถนนคนเดินหลายเส้น และสวนสาธารณะ นี่คือย่านใหม่สุดและมีความโมเดิร์นที่สุดในกรุงบัวโนสไอเรส

    ส่วนที่เป็นท่าเรือเก่ามี 2 ฝั่ง คือฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่ตั้งขนานกันยาวเกือบ 3 กิโลเมตร มีระยะห่างประมาณ 200 เมตร ตรงกลางคือทางน้ำที่ได้จากการถมฝั่งตะวันออกจนกลายเป็นคลอง หรือช่องสำหรับนำเรือเข้าไปจอด ร้านอาหารและผับบาร์ตั้งเรียงอยู่ริมฝั่งทั้งสองช่วงบน (ทิศเหนือ) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร หรือราวครึ่งหนึ่งของความยาวท่าจอดเรือ

สะพานสตรีเชื่อมสองฝั่งท่าเรือ Puerto Madero

    มีสะพาน (เขื่อน+สะพาน+ถนน) สำหรับข้ามฝั่งไปมา 5 สะพาน และสะพานที่ยังไม่ได้นับแต่เป็นแลนด์มาร์กของย่านนี้เลยก็ว่าได้ มีลักษณะเป็นรูปตัว V ล้ม บางคนบอกว่าดูคล้ายขาของคู่เต้นแทงโก สะพานมีชื่อว่า Puente de la Mujur แปลว่า “สะพานสตรี” เวลานี้สะพานปิดชั่วคราว เขียนไว้ว่ากำลังทาสีใหม่

    สาเหตุที่มีชื่อว่า “สะพานสตรี” เพราะถนนในย่านปวยโตมาเดโรล้วนนำชื่อของสุภาพสตรีดังๆ มาตั้ง อาทิ Cecilia Grierson นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเป็นผู้หญิงคนแรกในอเมริกาใต้ที่สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์ระดับปริญญา (เมื่อ ค.ศ.1889) และ Azucena Villaflor ผู้ก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหว Madres de Plaza de Mayo (หมู่แม่แห่งจัตุรัสพฤษภาคม) เรียกร้องการค้นหาบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายในช่วงที่อาร์เจนตินาปกครองด้วยระบอบทหารระหว่าง ค.ศ.1976-1983

    ผมเดินไปได้แค่ 1 กิโลเมตรบนฝั่งตะวันออกแล้วข้ามสะพานเขื่อนกลับมาฝั่งตะวันตก เดินเลือกร้านอยู่นาน เห็นร้านชื่อ “Johnny B. Good” เข้าใจว่าตั้งเลียนชื่อเพลง “Johnny B. Goode” ของ “Chuck Berry” โดยตัดตัว e ออกไป ร้านน่าสนใจ แต่พอเดินเข้าไปเห็นคนแน่นทั้งโซนในร้านและนอกร้าน คิดว่าต้องรออาหารนานแน่นอน อีกทั้งไม่แน่ใจว่าจะมีโต๊ะหรือเปล่า ออกจาก Johnny B. Good แล้วเดินไปเรื่อยๆ จนสุดโซนบาร์ของฝั่งตะวันตกที่ร้านชื่อ KRAKEN หมดแรงและเมื่อยขาแถมหนาวจึงนั่งลงที่ร้านนี้ สั่ง Papas Fritas con Queso และ Cerveza Patagonia โปรโมชั่น 2 ไพนต์ราคาพิเศษ

หนึ่งในสำนักงานธนาคารย่าน Puerto Madero

    เบียร์สด Patagonia แบบ Rojo (สีแดง) มาเสิร์ฟก่อน รู้สึกว่าจืดกว่าแบบกระป๋อง ไม่นาน Papas Fritas con Queso ก็มาเสิร์ฟ ซึ่ง “ปาปัสฟรีตัส” คือมันฝรั่งทอด ส่วน “เกโซ” คือชีส เป็นเชดดาร์ชีสร้อนที่ราดลงบนมันฝรั่งทอด ซึ่งมันฝรั่งทอดของอาร์เจนตินานุ่มนิ่มไม่มีความกรอบ ผมเคยถามคนลาวว่าทำไมไม่กรอบ คนลาวตอบว่าพวกเขากินกันอย่างนี้แหละ

ริมน้ำฝั่งตะวันตกของ Puerto Madero

    แม้จะหิวขนาดไหนปาปัสฟรีตัสนี้ก็ยังเหลือค่อนจาน คิดว่ากิน 2 คนก็คงไม่หมด ทำให้ไม่ได้สั่งอย่างอื่นเพิ่ม เบียร์แก้วที่ 2 ผมขอเปลี่ยนเป็นแบบ Rubia (สีบลอนด์) รสชาติจืดยิ่งกว่าเดิม หรือไม่แน่อากาศที่หนาวเกินไปและลมที่เริ่มพัดแรงมีส่วนทำให้เบียร์จืด

    ไม่ควรนั่งต่อเพราะลมอาจแรงขึ้นอีก ผมออกเดินฝ่าความหนาวไปอีกกิโลครึ่งถึงโรงแรมที่พัก ตั้งแต่เย็นเป็นต้นมาคงเดินไปไม่น้อยกว่า 7 กิโล

    เช้าวันใหม่ตื่นมาพร้อมอาการจามอย่างหนักและน้ำมูกไหลไม่หยุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยโสโอหังไม่ฟังใคร ไม่สนใจกระแส...คิดว่าแจงได้

อ่อนอกอ่อนใจจริงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ตั้งแต่ถ้อยคำ วาจา ท่าที ลีลาการหาเสียงของคนที่ถูกวางตัวว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ตะโกนด้วยสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่พูด ท

สูตรแต่งตั้งตำรวจ

กว่าจะเคาะ กว่าจะคลอด ก็นั่งนับนิ้วกันแทบหงิก เพราะ 180 วัน ตามเงื่อนไขการบังคับใช้กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2567

ฤาประเทศไทยจะไร้สีสวย มีแต่สีแสบ

ประเทศไทยอยู่ในสภาพความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อมาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว แม้เวลานี้เราจะมีรัฐบาลผสมแบบข้ามขั้ว แต่เราก็ยังไม่เห็นบรรยากาศของความปรองดองเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

โลกที่'อันตราย'กับภารกิจของ'คนรุ่นใหม่'

เห็นข่าวเรื่อง ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านออกมาโพสต์