จับตา“แนวโน้มรายได้เกษตรปี66”

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง ได้ส่งผลดีกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หลายส่วนมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ “ภาคการเกษตร” จากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากหลายๆ ส่วน อาทิ สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในพืชและสัตว์ ที่อาจกดดันภาคการเกษตรให้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2-3% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศโดยทั่วไปที่ยังเอื้ออำนวย

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีในการผลิต ยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารจัดการการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมไปถึง “การเปิดประเทศ” ทำให้มีการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ทั้งจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะต่อเนื่องไปถึงต้นปี 2566 ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์แนวโน้มรายได้เกษตรกรสุทธิในปี 2566 น่าจะเผชิญความท้าทายที่มากขึ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเภทสินค้าเกษตร เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงชะลอลง จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรและกดดันราคา โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในคำสั่งซื้อจากจีน ที่แม้จีนอาจลดความเข้มงวดในการใช้มาตรการ Dynamic Zero-COVID แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และความคืบหน้าของการฉีดวัคซีน mRNA ที่ยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังมีความเปราะบางในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งความต้องการสินค้าเกษตรจากไทย และกดดันราคาให้อาจปรับตัวลดลงราว 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยคาดว่ารายได้เกษตรกรในปี 2566 อาจหดตัวอยู่ที่ราว 0.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่น่าจะขยายตัวได้ราว 13.5% โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ 16% ขณะที่ต้นทุนการผลิตอย่าง ราคาน้ำมัน และ ราคาปุ๋ยเคมีในตลาดโลก แม้คาดว่าจะย่อลงจากปี 2565 แต่ยังคงอยู่บนฐานที่สูง ทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิอยู่ในกรอบที่แคบลง!

ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละสินค้าเกษตร จะพบว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรที่ลดลงในปี 2566 นั้น จะมาจากแรงฉุดด้านราคาที่ลดลงเป็นหลัก คิดเป็นราว 1% ซึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรในรายการหลักเป็นส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลง ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทุเรียน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากแรงฉุดด้านอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และสอดคล้องกับแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรในตลาดโลกที่น่าจะย่อลงจากฐานที่พุ่งสูงในปีนี้

อย่างไรก็ดี “ข้าว” น่าจะเป็นพืชที่ยังประคองราคาให้ขยายตัวเป็นบวกต่อไปได้ จากความต้องการที่มีรองรับทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ในฝั่งของผลผลิตสินค้าเกษตรแต่ละชนิด คาดว่าน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2565 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐในปี 2566 ที่รายได้เกษตรกรสุทธิมีความเสี่ยงจะปรับตัวลดลงแตกต่างกันนั้น คงต้องพิจารณา “มาตรการที่เฉพาะเจาะจงสินค้าเกษตรแต่ละชนิด” โดยอาจเน้นให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่เปราะบางมากขึ้น อย่างไรก็ตามในภาพรวมแล้ว มาตรการระยะสั้นที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศต่อสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อประคองราคายังมีความจำเป็น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น ขณะเดียวกัน มาตรการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ยกระดับไปสู่สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตอบรับกับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญต่อ ESG และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คงต้องเร่งดำเนินการเช่นกัน.

ครองขวัญ รอดหมวน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี