เมื่อตะวันตกกดดันรัสเซีย น้ำมันดิบก็ไหลมาเอเชียแต่...

พอประเทศกลุ่ม G7 กับ EU รวมหัวกันกำหนดราคาน้ำมันดิบรัสเซียไว้ที่ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา, ทุกสายตาก็มองมาที่ตลาดเอเชีย

แต่นักวิเคราะห์ก็คาดว่าการเปลี่ยนเส้นทางน้ำมันของรัสเซียมายังเอเชียก็มิใช่จะราบรื่นเสียเลยทีเดียว

เพราะมีประเด็นเรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอันเกิดจากมาตรการของตะวันตกที่ไม่ให้บริษัทประกันรับงานการขนส่งในส่วนที่เกินราคาบังคับ

การพึ่งพาเรือเก่าที่มีประกันน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อ

เริ่มมีคำเตือนว่า รัสเซียและผู้ซื้อน้ำมันดิบจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากอุบัติเหตุในการขนส่งและการรั่วไหลของน้ำมัน

จีนกับอินเดียกลายเป็น 2 ประเทศในเอเชียที่เป็นผู้รองรับน้ำมันดิบจากรัสเซียแทนยุโรปตะวันตก

แต่จุดเสี่ยงที่เพิ่มความยุ่งยากคือ ข้อจำกัดเรื่องห้ามบริษัทประกันทั้งหลายรับงานที่เข้าข่ายถูกคว่ำบาตร

บริษัทจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาถูกห้ามให้บริการประกันภัย การเงินการค้า และบริการทางทะเลอื่นๆ สำหรับการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย เว้นแต่จะมีราคาต่ำกว่าระดับเพดานที่กำหนดโดยสหภาพยุโรป

ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของวงการขนส่งทางทะเล เพราะไม่เคยมีข้อจำกัดเรื่องประกันความเสี่ยงเช่นนี้มาก่อน

พอมีประเด็นนี้ วงการประกันก็ปั่นป่วน เพราะทำตัวไม่ถูก และไม่รู้ว่าเส้นแบ่งระหว่างอะไรที่ทำได้กับทำไม่ได้อยู่ตรงไหน

และโทษของการละเมิดกติกาข้อใหม่นี้จะหนักหนาเพียงใด

เป้าหมายของตะวันตกคือ ต้องการจะลงโทษรัสเซียโดยไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันดิบในโลก

แนวคิดนี้มาจากสหรัฐฯ ก่อน ต่อมา G-7 และสหภาพยุโรปก็เดินตาม

แต่ก็เกิดอุปสรรคหลายประการที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

ข้อขัดข้องแรกก็คือจีนและอินเดียปฏิเสธการเข้าร่วมโปรแกรมจำกัดราคาอย่างเปิดเผย

2 ยักษ์แห่งเอเชียต้องการวางตัวเป็นกลาง ไม่ต้องการถูกมองว่าถือหางข้างใดข้างหนึ่งในสงครามยูเครน

อีกทั้ง 2 ประเทศนี้รู้ดีว่าหากซื้อน้ำมันดิบของรัสเซียก็จะได้ราคาพิเศษในฐานะ “มิตรในยามยาก” ด้วย

เหตุผลก็ชัดเจน นั่นคือเมื่อรัสเซียถูกตะวันตกคว่ำบาตร รายได้จากการขายพลังงานหดหาย ก็ต้องหันมาพึ่งตลาดใหญ่ของ 2 ประเทศนี้

ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และรองนายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ โนวัค ได้ขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะปิดกั้นการขายน้ำมันให้กับประเทศต่างๆ ที่ปฏิบัติตามราคาเพดาน

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเส้นตายวันจันทร์ที่ผ่านมาก็คือ ดูเหมือนว่าน้ำมันดิบรัสเซียประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะต้องหาผู้ซื้อรายใหม่ที่ยอมรับความเสี่ยงว่าจะไม่สามารถเข้าถึงตลาดประกันภัยทางทะเลของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งให้บริการเกือบ 90% ของการค้าน้ำมันทั่วโลก

เป็นผลให้รัสเซียและผู้ซื้อน้ำมันดิบ ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย ตลอดจนสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในตะวันออกกลางที่อาจช่วยบริหารความยุ่งยากใหม่นี้

โดยหันไปใช้การเตรียมการด้านการขนส่งและการประกันภัยแหล่งอื่นๆ แม้จะมีวงจำกัดเพียงใดก็ต้องดิ้นรนให้ได้ แต่ก็มีปัญหาอื่นตามมา

แม้กองเรือบรรทุกน้ำมันที่รวบรวมโดยบริษัทเดินเรือที่ผุดขึ้นทั่วเอเชียและตะวันออกกลางในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการค้าของรัสเซียหลังการคว่ำบาตร

แต่เรือเหล่านั้นมีอายุใช้งานมากนานพอสมควร

ประเมินกันว่าเรือจำนวนมากมีอายุมากกว่า 15 ปี

ซึ่งเป็นอายุที่บรรดาบริษัทน้ำมันของโลกรังเกียจ เพราะความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการขนส่ง

เรือบางลำที่เข้าร่วม "กองเรือมืด" ที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกระบุว่า “เก่าเกินเหตุ”

และในหลายกรณีก็ยังมีปัญหาว่าไม่มีประวัติการใช้เรือเพียงพอที่จะตรวจสอบว่ามีอายุใช้งานจริงๆ มานานเท่าไหร่แล้ว

ที่พอจะมีข้อมูลบ้างก็คือ เรือบางลำเคยถูกใช้ขนส่งน้ำมันเวเนซุเอลาและอิหร่านในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

และแม้กองเรือเหล่านี้จะมีการประกันภัย แต่ความคุ้มครองจะต่ำกว่าปกติมาก

โดยเฉพาะสำหรับการขนส่งน้ำมันในกรณีที่ไม่มีผู้ให้บริการเดินเรือที่เชี่ยวชาญ และไม่มีอะไรรับรองว่าจะได้รับการคุ้มครองและการชดใช้ค่าเสียหายที่โยงกับธุรกรรมในสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร

ซึ่งหมายความว่า รัสเซียและผู้ซื้อน้ำมันดิบจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจากอุบัติเหตุในการขนส่งและการรั่วไหลของน้ำมัน

ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงว่า หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็จะได้รับค่าตอบแทนที่น้อยลง ซึ่งจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากเกิดเรื่องราวกลางทะเลครั้งใหญ่

ในจังหวะเดียวกันนี้เอง ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในนาม OPEC Plus ประกาศจะรักษาระดับการผลิตน้ำมันดิบที่ตั้งไว้ตั้งเเต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นั่นคือจะไม่มีการลดหรือเพิ่มการผลิต เพราะต้องการจะประเมินสถานการณ์ที่กำลังมีความปั่นป่วนอย่างแรงจากกรณีคว่ำบาตรของโลกตะวันตกต่อรัสเซีย

ในวันเดียวกันกับที่ตะวันตกประกาศกำหนดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียที่ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลนั้น ราคาในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบเบรนต์ ราคาเพิ่มขึ้น 2.29 ดอลลาร์ หรือ 2.7% มาอยู่ที่ 87.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ณ เวลา 7 โมงเช้า ที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ

ส่วนราคาซื้อขายล่วงหน้าของน้ำมันดิบ WTI ดีดขึ้น 2.24 ดอลลาร์ หรือ 2.8% มาอยู่ที่ 82.22 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรล

OPEC+ ซึ่งหมายรวมถึงรัสเซียด้วยตัดสินใจก่อนหน้านั้นหนึ่งวันว่าจะคงรักษาระดับการลดการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่วางเอาไว้เมื่อเดือนตุลาคม จนถึงปีหน้า

อีกทั้งยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสริมจากจีนอีกต่างหาก

เพราะหลังจากการประท้วงในหลายๆ เมืองว่าด้วยมาตรการ “โควิดต้องเป็นศูนย์” ทางการจีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับ 1 ของโลกก็ขยายมาตรการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่ง

กลายเป็นปัจจัยใหม่ที่อาจจะมีผลต่อความต้องการใช้น้ำมันของจีนที่ลดลงจากความเข้มข้นของมาตรการล็อกดาวน์ในหลายๆ เมือง

ภาวะความปั่นป่วนของราคาน้ำมันดิบจึงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้        

โดยที่ไม่มีใครบอกได้ว่าสงครามจะแผ่วลงเมื่อใด และผลกระทบต่อการใช้น้ำมันดิบจะผันผวนปรวนแปรอย่างไร

ทุกประเทศ (รวมทั้งประเทศไทยเรา) ก็ต้องปรับตัวตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้ตลอดเวลา

นั่นแปลว่าผู้นำของแต่ละประเทศต้องมีทักษะแห่งการประเมินสถานการณ์ที่ไม่เคยต้องมีมาก่อนอย่างปฏิเสธไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้