รัฐบาลเนทันยาฮูล่าสุดกับประเด็นอ่อนไหว

     หลังรัฐบาลของนาฟทาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) ประกาศยุบสภา เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย รอบนี้ต่างจากเดิม เพราะพรรคร่วมเป็นสายขวาจัด

ดินแดนปาเลสไตน์หดตัวต่อเนื่อง:

     เป็นที่คาดหมายว่าเนทันยาฮูจะกลับมาเพื่อเรื่องตั้งถิ่นอาศัยในปาเลสไตน์ บรรดาพรรคที่สนับสนุนเรื่องนี้รวมตัวกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เป็นเหตุผลที่พรรคขวาจัด (เป็นไซออนิสต์เหมือนกันแต่เข้มกว่า) ยอมจับมือร่วมรัฐบาลด้วย (ที่ผ่านมาแม้ได้ชื่อว่ายึดแนวไซออนิสต์เหมือนกันแต่จุดยืนวิธีการไม่ตรงกัน)

ภาพ: ยอดผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ในค่ายลี้ภัยปัจจุบันมีราว 6,380,000 คน
เครดิตภาพ: https://www.unrwa.org/sites/default/files/content/resources/unrwa_in_figures_2021_eng.pdf

     นายกฯ เนทันยาฮู กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับการตั้งถิ่นฐานเป็นอันดับแรก พร้อมดูแลความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในย่านนี้

     ในบรรดาประเด็นอ่อนไหวทั้งหลาย เรื่องขยายดินแดนเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ บ้านที่อยู่อาศัยเป็นความจำเป็นพื้นฐานสืบเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งรัฐสมัยใหม่เมื่อพฤษภาคม 1948 และยังคงสำคัญตราบเท่าที่ประชากรอิสราเอลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลลูกหลานเกิดใหม่หรือผู้อพยพต่างแดนที่ย้ายเข้ามาใหม่

     ปัจจุบันชาวอิสราเอล 600,000-750,000 อาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์กับเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศแต่ไม่มีใครห้ามได้ มีแนวโน้มว่าจะกินพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์มากขึ้น

     นายกฯ เนทันยาฮู กล่าวว่า การที่อิสราเอลกลับมาครอบครองเขตเวสต์แบงก์ไม่ผิด เพราะแต่เดิมดินแดนแห่งนี้เป็นของชนชาติอิสราเอลมาแต่โบราณ ไม่ได้บุกยึดหรือแย่งของใคร เช่นเดียวกับเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ไม่มีอำนาจใดสามารถคัดค้านแม้กระทั่งสหประชาชาติ เยรูซาเลมคือ “Holy City of Jerusalem” ถ้อยคำเหล่านี้เนทันยาฮูพูดซ้ำทุกปี

     ด้าน รัฐบาลไบเดนประกาศจะจับตานโยบายและการดำเนินนโยบายของอิสราเอล ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรู้ดีว่า Religious Zionism Party ที่เป็นพรรคร่วมปฏิเสธแนวทางทวิรัฐ (Two-State Solution) การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่อาจรุนแรงกว่ารัฐบาลก่อนๆ

     ข้อวิพากษ์คือ แม้รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนแนวทางทวิรัฐ หลายประเทศต่อต้านการรุกล้ำของอิสราเอลเรื่อยมา พวกอาหรับ อิหร่านต่อต้านอย่างรุนแรง แต่ความจริงคือพื้นที่ของปาเลสไตน์นับวันจะหดหาย ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ต่อเนื่อง เป็นเช่นนี้เนิ่นนานจนผู้อพยพปาเลสไตน์ออกหลานเหลนในค่ายอพยพตามที่ต่างๆ และไม่เห็นวี่แววว่าจะได้กลับบ้านเกิดตัวเอง

     สุดท้ายคำว่าทวิรัฐอาจเป็นเพียง “นโยบายโลกสวย” ที่ไม่เกิดขึ้นจริง กระทั่งศูนย์อพยพอาจเอาตัวไม่รอดด้วยซ้ำหากกองทัพอิสราเอลยาตราทัพเข้าประเทศเพื่อนบ้านแถวนั้น เพราะต้องการดินแดนเพิ่มเติมตามแนวทาง Greater Israel และทำให้อิสราเอลมีแต่ประชากรที่เป็นยิวหรือจงรักภักดีต่อรัฐบาลที่ยิวเป็นแกนนำ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปิดลับ เป็นนโยบายหรือแนวทางที่บางพรรคบางกลุ่มเอ่ยถึงตลอดเวลา ทั้งนี้จะค่อยเป็นค่อยไปตามยุทธศาสตร์ “ยึดทีละคืบกินทีละคำ” สร้างรัฐอิสราเอลที่เป็นของยิว

     เรื่องนี้เกี่ยวพันกับเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะรัฐอาหรับ ประเทศที่พรมแดนติดกัน

จะล้ำเส้นต้องห้ามหรือไม่:

     ปลายปีที่แล้วกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 (King Abdullah II) แห่งจอร์แดน เตือนรัฐบาลใหม่อิสราเอลไม่ล้ำเส้นต้องห้าม (red lines) ที่เกี่ยวกับสถานศักดิ์สิทธิ์ในเยรูซาเลม พรรคขวาจัดอาจชักนำให้รัฐบาลประกาศครอบครองสถานศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นของยิวเท่านั้น พระองค์ไม่อยู่เฉยแน่นอนหากอิสราเอลกระทำการไม่สมควร

     พระองค์กังวลว่าจะเกิดการลุกฮืออีกครั้ง (intifada) ซึ่งเล็งถึงการลุกฮือต่อต้านการยึดครองเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซาที่เคยเกิดในอดีต ตนพร้อมรับมือหากเกิดวันนั้น ย้ำว่าอิสราเอลจะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคก็ต่อเมื่อชาวปาเลสไตน์อยู่อย่างมีอนาคต

     อันที่จริงแล้วถ้าเนทันยาฮูคือตัวแทนของไซออนิสต์ (Zionism) ต้องเข้าใจต่อว่าพรรคลีคูต (Likud) ของเนทันยาฮูเป็นพรรคใหญ่สุด ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ มีพรรคที่ยึดแนวทางไซออนิสต์เข้มข้นยิ่งกว่า ที่เอ่ยถึงมากตอนนี้คือ Religious Zionist Party ซึ่งแต่เดิมไม่เป็นที่นิยมได้ไม่กี่ที่นั่ง เพิ่งจะได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้ถึง 14 ที่นั่ง (จากเดิม 6) แสดงถึงความนิยมชมชอบที่เพิ่มขึ้นมาก (พรรคลีคูตได้ 32 ที่นั่ง-บางคนแบ่งพรรคสายไซออนิสต์เป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และพวกกึ่งกลาง ต่างมีจุดยืนรายละเอียดต่างกันบางข้อ)

     เนทันยาฮูเป็นนายกฯ มาแล้วหลายสมัย แนวนโยบายของท่านเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว แต่เมื่อรัฐบาลชุดใหม่มีส่วนผสมของไซออนิสต์เข้มข้นกว่าเดิม เป็นชาตินิยมเข้มข้น จึงน่าคิดว่ารัฐบาลใหม่นี้จะดำเนินนโยบายที่ขัดใจมุสลิมหรือไม่ จะยั่วยุยิ่งกว่าเดิมหรือไม่ ไม่แปลกที่หลายฝ่ายเตือนล่วงหน้าเพราะรู้จุดยืนของพรรคสุดโต่งเหล่านั้น คำถามสำคัญคือ “จะล้ำเส้นต้องห้าม” หรือไม่

ความสัมพันธ์กับอาหรับจะดีขึ้นหรือเลวลง:

     นับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐอิสราเอลสมัยใหม่ อิสราเอลเคยทำสงครามใหญ่ถึง 5 ครั้งกับเพื่อนบ้าน เพราะไม่ยอมรับการสถาปนารัฐอิสราเอล แต่เรื่องนี้กลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์ เมษายน 2018 มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) กล่าวว่า อิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหากับคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกัน”

     ความอีกตอนกล่าวว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”

     ถ้อยคำของมกุฎราชกุมารซัลมานในตอนนั้นกำลังบ่งบอกว่ารัฐอิสราเอลกับอาหรับกำลังจะเป็นมิตร ละทิ้งความเป็นศัตรูคู่อาฆาต

     สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติตามข้อตกลง Abraham Accords Peace Agreement แถลงการณ์ร่วมระบุว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมาบาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน

     เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุชัดว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

     Abraham Accord คือรูปธรรมการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ เป็นจุดเริ่มหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ แต่หากวันใดอิสราเอลล้ำเส้นต้องห้าม สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป

     ถ้าเทียบอิสราเอลเมื่อสถาปนารัฐสมัยใหม่ 1948 กับปัจจุบัน ไม่อาจปฏิเสธว่าอิสราเอลมั่นคงขึ้นมาก สัมพันธ์กับเพื่อนบ้านดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงอิหร่านที่ยังเป็นปรปักษ์สำคัญ มีการปะทะกันเนืองๆ ในซีเรีย พร้อมกับข่าวอิสราเอลจะโจมตีอิหร่านในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า (ที่เป็นข่าวซ้ำๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา)

     Yair Lapid อดีตนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ไม่ยึดมั่นประชาธิปไตย ทำลายรากฐานสังคม ทำลายระบบการศึกษาเพราะเน้นแนวทางเคร่งศาสนาสุดโต่ง ทำให้กองทัพสังกัดการเมือง บรรจุนายพลที่อิงการเมืองเข้านั่งตำแหน่งสำคัญ เวสต์แบงก์จะปั่นป่วนวุ่นวาย สุดท้ายรัฐบาลชุดนี้จะจบอย่างเลวร้าย ทั้งยังกล่าวหาว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากเนทันยาฮู แต่มาจากพวกพรรคสุดโต่ง เป็นแผนของพวกเขาที่จะยืมมือเนทันยาฮู

     ถ้อยคำข้างต้นเป็นข้อกล่าวหา ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่อนาคตจะเป็นผู้ให้คำตอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีเรียในสงครามที่ไม่จบสิ้น

เพราะการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ “สวยงาม” อย่างที่บางคนขายฝันให้ เต็มไปด้วย “ความไม่แน่นอน” มากมาย ซีเรียคือหนึ่งในตัวอย่างนั้น

ประชุมสุดยอดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ 2023 ซ่อนเร้นเฉพาะกาล?

ความบาดหมางฝังลึกที่เกาหลีใต้มีต่อญี่ปุ่น ความไม่ไว้วางใจรัฐบาลทำให้การปรับความสัมพันธ์ยุ่งยาก น่าสงสัย อาจมีผลช่วงสั้นๆ ตามอายุรัฐบาล

ประชาธิปไตยโลกถดถอยไม่หยุด อำนาจนิยมเข้มแข็ง

ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศมีขึ้นมีลง โดยรวมแล้วเสรีภาพโลกถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ฝ่ายอำนาจนิยมเข้มแข็งขึ้น แต่ประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้นก็มี

ศึกยูเครนนำสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

ทั้งรัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียและประเทศต่างๆ ล้วนตระหนักผลเสียของสงครามโลก คำถามคือ ทำไมคนทั้งโลกต้องรับผลเสียจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ การตัดสินของคนไม่กี่หยิบมือ

ปูตินระงับ New START โลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์?

โลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ตั้งแต่ก่อนเกิดศึกยูเครนแล้ว สงครามยูเครนเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นอีก แต่รัสเซียจะ “กดปุ่ม” หรือไม่ยังคงยึดหลักการเดิม

ศึกยูเครนครบปีไบเดนให้สู้ต่อแต่อย่างไรเรียกว่าชนะ

ภายใต้คำประกาศขอยืนหยัดสู้เคียงข้างยูเครน นาโตรวมตัวเข้มแข็ง มีคำถามว่ายูเครนจะชนะศึกได้อย่างไร กำลังสู้ศึกเพื่ออนาคตลูกหลานใคร