ไฉนบริษัทเทคฯยักษ์จึงแห่ ปลดพนักงานครั้งใหญ่!

การปลดพนักงานครั้งใหญ่ของธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสื่อยักษ์ในสหรัฐฯกำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและอนาคตของธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับเทคเนโลยี?

เพียงแค่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พนักงานประมาณ 130,000 คนถูกไล่ออกจากงานในบริษัทเทคโนโลยีและสื่อขนาดใหญ่

เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่?

Alphabet บริษัทแม่ของ Google ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่ามีแผนจะปลดพนักงาน 12,000 ตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้บริษัทใหญ่ ๆ ในแวดวงใกล้กันก็เหมือนจะนัดหมายกันเทพนักงานจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Meta, Amazon, Salesforce, Snap, Twitter และ Warner Bros. Discovery

ประมาณการ 130,000 คนที่โดนซองขาวเฉพาะในช่วงเวลาเดือนเดียวนั้นเทียบเท่ากับจำนวนคนทั้งหมดที่ทำงานที่ Apple ก่อนที่โควิด-19 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก

แต่ไฉนการปลดครั้งใหญ่ในวงการนี้จึงเกิดขึ้นในขณะที่โควิดทำท่าจะกลายเป็นเรื่องของอดีตไปแล้ว?

คนทำงานในบริษัทเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเกิดอาการตกใจและซึมเศร้าเพราะไม่มีเบาะแสมาก่อน

หลายคนงุนงงกับวิธีการปลดแบบสายฟ้าแลบที่ค่อนข้างจะโหดร้ายและไร้ความเข้าอกเข้าใจต่อพนักงานที่หลายคนทำงานมานับสิบปีในองค์กรนั้น ๆ

สถิติทางการก็ไม่ได้ชี้ไปในทางที่การจ้างงานโดยทั่วไปของอเมริกาจะตกอยู่ในภาวะถดถอยแต่อย่างไร

ตรงกันข้ามตัวเลขอัตราการว่างงานโดยรวมในสหรัฐอยู่ที่ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของศตวรรษที่ 21

ย้อนกลับไปในปี 2010 ตลาดแรงงานของสหรัฐฯค่อนข้างอ่อนแอ ในขณะที่ภาคส่วนเทคโนโลยีกำลังเติบโต

แต่ในช่วงการระบาดของโควิดนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ประสบภาวะตกต่ำแบบฉับพลันในขณะที่ภาคเทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟูเพราะทุกอย่างหันมาทำกิจกรรมทางออนไลน์

จนเกิดคำว่า New Normal หรือ “ความปกติแบบใหม่” ทุกวันนี้ ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะค่อนข้างแข็งแกร่ง

แต่ด้วยเหตุผลกลใดหรือเพราะมาตรการอะไรหรือจึงทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสื่อก็กำลังเดือดพล่าน

หรือจะตั้งคำถามอีกแบบก็ได้ว่าอาการผกผันของบรรทัดฐานในศตวรรษที่ 21 นี้กำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับสถานะของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

จึงก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลกรวมทั้งของไทย

ผมพยายามหาคำอธิบายหรือแนวทางวิเคราะห์เพื่อความกระจ่างชัด

คำอธิบายแรกแบบกำปั้นทุบดินคือช่วงเวลานี้คือการระบาดของโควิดได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่อาจจะวิเคราะห์อะไรตามกรอบเดิมได้อีกต่อไป

คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดในปี 2020 นั้นจะต้องทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนธุรกิจออนไลน์ขนานใหญ่

เช่น การเพิ่มขึ้นของความบันเทิงแบบสตรีมมิ่ง แอพส่งอาหารออนไลน์ และฟิตเนสที่บ้าน

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากโรคระบาดที่เป็น “ตัวเร่ง” ที่ผลักดันเราทุกคนไปสู่อนาคตที่กำลังจะมาถึง

หากเชื่อตามแนวนี้ เจ้าโควิดก็เป็นเสมือนไทม์แมชชีน เร่งให้ปี 2030 เข้ามาถึงก่อนกาลเวลา

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเชื่อต่อไปว่าทุกอย่างกำลังเพิ่มมูลค่าของและผลักดันให้การจ้างงานในวงการเทคโนโลยีให้เติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะบริษัทเทคฯเหล่านี้ก็ประกาศจ้างคนเป็นว่าเล่น

เพิ่มพนักงานหลายหมื่นคนเพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของ “อัตราความเร่ง” ที่ว่านี้

แต่ในบางกรณีโควิดก็อาจไม่ใช่ตัวเร่ง เผลอ ๆ  อาจกลายเป็นฟองสบู่

เช่นกรณีของหุ้น Peloton และ Robinhood ที่ทะยานขึ้นอย่างบ้าคลั่งและร่วงลงอย่างบ้าบิ่นในระยะเวลาสั้น ๆ

การจ้างงานในบริษัทเทคโนโลยี เช่น Alphabet และ Amazon ก็เข้าทำนองนั้น

เพราะมองลึกลงไปแล้วก็เกิดความท้าทายของเศรษฐกิจในช่วงท้าย ๆ ของการระบาดมีหลากหลายมากมาย

บางบริษัทเผชิญกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ขณะที่บางบริษัทถูกผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัทด้านความบันเทิงผลักดันหนักไปทางด้านไลฟ์สตรีม แต่ก็เผชิญความผิดหวังเพราะพบว่าผลกำไรมันไม่ตามมาอย่างที่คาดคิด

แนววิเคราะห์ที่สองโยงกับสัจธรรมที่ว่าทุกสิ่งในเศรษฐศาสตร์ทุกวันนี้เป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย

เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนให้ความสำคัญกับเรื่องราวของการเติบโต

และธุรกิจที่เรียกตัวเองว่าบริษัทเทคโนโลยีก็อาจจะติดกับดับของความคิดเรื่อง “เราต้องโต” อย่างเดียว

ในบางช่วงเรื่องเล่าอย่างนี้ก็มีคนเชื่อเสียด้วยเพราะอะไร ๆ ดูสวยงามไปหมด

อัตราส่วนราคาต่อกำไร (PE Ratio) ของบริษัทเทคโนโลยีทะยานขึ้นอย่างน่ากลัว

ในจังหวะนั้น นักลงทุนเชื่อมั่นในบริษัทที่มีเรื่องราวการเจริญเติบโตอย่างพลุ่งพล่านเช่น Netflix และ Uber และ Tesla

ซึ่งเดินนโยบายแบบทิ้งสัญญาระยะยาวมามุ่งเน้นทำกำไรระยะสั้น

แต่เมื่ออัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แผนงานก็มีอันต้องพังพินาศต่อหน้าต่อตา

แต่ยังมีคำอธิบายแนวทางที่สาม

นั่นคือการชะลอตัวของรายได้โฆษณา

ปีที่แล้วเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับตลาดโฆษณา เพราะโควิดทำให้การใช้จ่ายด้านโฆษณาของบริษัททั้งใหญ่, กลางและเล็กมีอันต้องหยุดชะงัก

เป็นที่รู้กันว่างบโฆษณามักเป็นเหยื่อรายแรกในการชะลอตัวของเศรษฐกิจเพราะมันไม่ใช่การใช้จ่ายที่ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ในทันที แต่เป็นการลงทุนในการสร้างแบรนด์และการเติบโตของบริษัทในอนาคต

ที่เป็นเช่นนี้มีเหตุผลว่าบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ Google และ Meta แต่รวมถึง Amazon, Apple, Snap และ Netflix ได้กลายเป็นบริษัทโฆษณาแบบเต็มตัว

จึงไม่ต้องสงสัยว่าธุรกิจเหล่านี้เกือบทั้งหมดมีความอ่อนไหวต่อโฆษณาที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

แต่ก็ยังอาจจะมีแนววิเคราะห์พื้น ๆ อีกแบบหนึ่งที่บอกว่าผู้บริหารระดับสูงนั้นเมื่อเจอกับภาวะไม่ปกติก็มักจะลอกเลียนพฤติกรรมของกันและกัน

 เมื่อบริษัทคู่แข่งหรือที่อยู่ในวงการเดียวกับคุณลดพนักงาน 10% และตลาดตอบแทนกลับมา 10% ในแง่ของราคาหุ้นที่กระเตื้องขึ้น ผู้บริหารอื่น ๆ ก็คงจะเชื่อว่านั่นคือสูตรสำเร็จที่เขาต้องทำเพื่อรักษาสถานภาพของความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้

เดิมในระหว่างการระบาดของโควิดนั้นมีพนักงานจำนวนมากในหลาย ๆ อุตสาหกรรมแห่กันลาออกจากงานเพื่อจะไปทำธุรกิจของตนเพราะเทคโนโลยีเอื้อต่อการเดินทางสายใหม่

เรียกปรากฏการณ์นั้นว่า The Great Resignations

วันนี้เมื่อผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีเผชิญกับภาวะที่ต้องปรับลดคนลงอย่างเป็นระบบก็ต้องเรียกมันว่า The Mass Layoffs

สองปรากฏการณ์นี้จะไปบรรจบหรือตัดกันตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้