เดิมยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต เมื่อสิ้นระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตแยกตัวออกเป็นรัฐอธิปไตย ยูเครนเป็นหนึ่งในนั้น เป็นประชาธิปไตยเกิดใหม่ ประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจ การเมืองอ่อนแอ อำนาจปกครองกระจุกตัวอยู่ในคนไม่กี่กลุ่ม
ช่วงปี 2013-14 ฝ่ายการเมืองแย่งชิงกันอย่างหนัก ฝ่ายหนึ่งอิงชาติตะวันตก อีกฝ่ายรัสเซียให้การสนับสนุน ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) หนีออกจากประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลใหม่อิงชาติตะวันตก

รัฐบาลยูเครนที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง:
พฤษภาคม 2019 นายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskiy) นักแสดงตลกผู้ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน ชนะเลือกตั้งจากการหาเสียงเน้นต่อต้านทุจริตทางการเมือง ต่อต้านกลุ่มการเมืองที่ครอบงำประเทศ สัญญาให้ประชาชนมีอำนาจการเมืองการปกครอง ยุติความขัดแย้งภายในประเทศ นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าเหตุที่ชนะเพราะชาวยูเครนเบื่อหน่ายนักการเมืองไม่ว่ามาจากขั้วใด
เซเลนสกีที่นิยมตะวันตก แสดงตัวอย่างรวดเร็วเมื่อดำเนินนโยบายใกล้ชิดอียู ร้องขอเป็นสมาชิกนาโต แม้รัสเซียจะเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีก ระดมกองทัพนับแสนซ้อมรบใกล้ชายแดน ชาติตะวันตกเตือนเช่นกันว่ารัสเซียอาจส่งกองทัพบุกยูเครนแต่เซเลนสกีไม่ฟัง ในที่สุด 24 กุมภาพันธ์ปีก่อนกองทัพรัสเซียบุกข้ามพรมแดน รัฐบาลสหรัฐกับพวกเริ่มส่งความช่วยเหลือทางทหารและอื่นๆ แก่ยูเครน
ปลายเดือนธันวาคม 2022 เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “พฤติกรรมร่วมของพวกตะวันตกกับหุ่นเชิดเซเลนสกี (puppet Zelensky) ตอกย้ำลักษณะวิกฤตยูเครนที่เป็นเหมือนกันทั่วโลก”
ไม่ว่าจริงหรือเท็จ รัสเซียคิดว่าเซเลนสกีเป็นแค่ “หุ่นเชิด” เท่านั้น
ยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว เส้นต้องห้ามของปูติน:
พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ชาติตะวันตกดำเนินยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว (NATO Enlargement, NATO expansion) รวบรวมประเทศที่แตกออกเข้าเป็นสมาชิก ชี้ว่าการรับสมาชิกใหม่จะยิ่งทำให้มั่นคง เพราะสมาชิกจะทำไม่สงครามต่อกันและหวังว่ารัสเซียจะเป็นสมาชิกด้วย
เมษายน 2014 ลาฟรอฟกล่าวว่ารัสเซียอยากได้ระบบความมั่นคงที่ทุกประเทศในยุโรป-แอตแลนติกเท่าเทียมกันและไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ชาติตะวันตก “ขยายสมาชิกภาพนาโต สร้างพันธมิตรทางทหารขยายตัวมาทางตะวันออก”
ตามมุมมองของรัสเซีย ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการจำกัดอิทธิพลของตนในยุโรป ประเทศที่เคยเป็นพวกถูกดึงเข้านาโต ตีความว่าการเป็นสมาชิกนาโตหมายถึงการอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลสหรัฐ พูดง่ายๆ นาโตคือกลุ่มประเทศที่อยู่ใต้อิทธิพลทางทหารของสหรัฐนั่นเอง
รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึงภัยคุกคามจากรัสเซียอยู่เสมอ คำถามคือรัสเซียเป็นภัยคุกคามมากถึงขั้นนั้นจริงหรือ อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงที่พยายามรับสมาชิกเพิ่ม Benjamin Schwarz ชี้ว่า เป็นนโยบายที่สหรัฐต้องการขยายอิทธิพลตนเองมากกว่า ต้องการขยายไปถึงประเทศที่พรมแดนติดรัสเซีย
Ronald Steel อธิบายว่า คือการพยายามรักษาความเป็นเจ้า ยิ่งสหรัฐถดถอยยิ่งต้องพยายามกระชับอำนาจ รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าชุดใดจะต้องทำบางอย่างเพื่อรักษาความเป็นเจ้าของตนไว้ และเนื่องจากอิทธิพลของสหรัฐต่อยุโรปตะวันตกลดลงเรื่อยๆ จึงพยายามเข้าแทรกด้วยการมีอิทธิพลต่อสมาชิกนาโตใหม่ ผลคือนาโตแยกออกเป็น 2 ฝ่าย (สมาชิกจากยุโรปตะวันตกมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่ายุโรปตะวันออก)
ภายใต้แนวคิดนี้รัฐบาลสหรัฐจะไม่หยุดยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว ศึกยูเครนในยามนี้เป็นเครื่องมือกระชับอำนาจดังกล่าว
รัฐบาลรัสเซียประกาศมานานแล้วว่ายูเครนต้องไม่เป็นสมาชิกนาโต เป็นเส้นต้องห้าม (redline) ตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่จะมีแนวรัฐกันชน (buffer state)
รัฐมนตรีลาฟรอฟชี้ว่ารัสเซียกับยูเครนมีแนวพรมแดนยาว 2,259 กิโลเมตร เป็นพรมแดนทางบก 1,974 กิโลเมตร และอีก 321 กิโลเมตรเป็นพรมแดนทางทะเล หากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต การเผชิญหน้าทางทหารย่อมเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องส่งทหารเข้าประจำการตามแนวพรมแดน สร้างความตึงเครียด รัสเซียจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องทำนองนี้
แต่รัฐบาลเซเลนสกียืนกรานขอเป็นสมาชิกนาโต เป็นแนวทางอธิบายแบบหนึ่งว่าทำไมในที่สุดกองทัพรัสเซียบุกเข้ายูเครน
Mason Clark นำเสนอว่า นับจากเริ่มศตวรรษที่ 21 รัสเซียได้ทำและกำลังทำสงครามไฮบริดกับสหรัฐ พร้อมกับที่รัสเซียปรับปรุงกองทัพและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ สำหรับสงครามนี้
Ralph D. Thiele อธิบายว่า รัสเซียต้องการยูเครนมานานแล้ว เปิดฉากทำสงครามไฮบริดต่อยูเครนด้วยการส่งอาวุธให้กองกำลังท้องถิ่นที่ต่อต้านรัฐบาลยูเครน ส่งทหารรับจ้างไปช่วยก่อเหตุร้าย ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้ระบบของรัฐบาลกลางไม่ทำงาน ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร คนยูเครนจำนวนมากหนีออกจากพื้นที่
ไม่ว่าจะใช้มุมมองจากนาโตหรือรัสเซีย ข้อสรุปประการหนึ่งที่แน่นอนคือ ทั้งสองฝ่ายต่างหวังมีอิทธิพลต่อยูเครน จนรัฐบาลยูเครนไม่เป็นตัวของตัวเอง เป็นพัฒนาการตั้งแต่ยูเครนแยกตัวเป็นอิสระเมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เป็นสมรภูมิการแข่งขันช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ในที่สุดเป็นเหตุให้รัสเซียส่งกองทัพบุกยูเครน
ศึกยูเครนรอบนี้อาจตีความว่าคือภาค 2 ของสถานการณ์เมื่อปี 2014 ที่รัสเซียยึดไครเมีย เป้าหมายหลักเหมือนเดิม คือ ยูเครนต้องไม่เป็นเครื่องมือของนาโตที่คุกคามตน
คำอธิบายอีกแบบที่รัฐบาลปูตินใช้คือ เป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อหยุดสงครามในดอนบัส (Donbass)
มกราคม 2023 ประธานาธิบดีปูตินย้ำอีกครั้งว่าตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมาเกิดความเป็นปรปักษ์อย่างแรงในสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ (Donetsk People's Republic) กับสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสค์ (Luhansk People's Republic) ฝ่ายตรงข้ามใช้อาวุธสงครามทั้งเครื่องบินรถถังโจมตีชนเชื้อสายรัสเซียนที่อยู่ใน 2 พื้นที่นี้ รัสเซียพยายามใช้สันติวิธีแล้วแต่กลายเป็นว่าโดนหลอก เป็นที่มาของปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อหยุดสงครามในพื้นที่ดังกล่าว (ทั้งโดเนตสค์กับลูฮันสค์ต่างเป็นส่วนหนึ่งของดอนบัส)
มุมมองจากรัฐบาลปูตินคือเข้าไปปกป้องชนชาวรัสเซียนที่อยู่ในดอนบัส
ยุทธศาสตร์ทำลายรัสเซีย จัดระเบียบโลกใหม่:
ศึกยูเครนมองได้หลายกรอบ อาจตีความว่าหวังทำลายรัสเซียหรือทำให้รัสเซียอ่อนกำลัง ตีความว่ารัฐบาลสหรัฐกำลังกระชับอำนาจของตนในนาโต (สังเกตว่าสงครามยูเครนทำให้นาโตผนึกกำลังกันโดยมีสหรัฐเป็นแกนนำ) กรอบที่กว้างที่สุดคือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบโลก
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐกับพันธมิตรนาโตคือเอาชนะรัสเซียโดยใช้สนามรบเป็นกลไกบั่นทอนหรือทำลายประเทศของเรา” อีกทั้งเป็นแผนการของรัฐบาลสหรัฐที่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรป และทำให้ชาติยุโรปเหล่านั้นขึ้นตรงกับอเมริกามากขึ้น
กลางเดือนมกราคม 2023 Dmitry Medvedev รองหัวหน้าสภาความมั่นคงรัสเซีย (deputy head of Russia’s security council) กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลย ศัตรูของเราจะพยายามบั่นทอนหรือทำลายเรา”
ถ้าตีความในกรอบกว้าง ศึกนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งของยูเครนกับรัสเซีย ไม่ใช่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในดอนบัสเท่านั้น ถ้าอธิบายเชิงตั้งรับรัสเซียหวังหยุดยุทธศาสตร์นาโตขยายตัว ศึกยูเครนเป็นคำเตือนแก่นาโตว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากนาโตยังคุกคามรัสเซีย
ประเด็นที่ควรตอกย้ำคือ นับจากยูเครนแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตกลายเป็นรัฐประชาธิปไตย พวกนักการเมืองพยายามแบ่งแยกประชาชน เกิดความเป็นขั้วอย่างรุนแรง ทั้งนี้ชาติมหาอำนาจร่วมผสมโรงได้ประโยชน์จากการแตกแยกของคนยูเครน สามารถดึงฝ่ายการเมืองให้อยู่กับตนเกิดรัฐบาลที่อิงตะวันตกหรืออิงรัสเซีย ในที่สุดได้รัฐบาลเซเลนสกีที่ไม่ยอมถอนคำร้องขอเป็นสมาชิกนาโตจนกลายเป็นสงครามดังที่เป็นอยู่ ชาติมหาอำนาจต่างได้ผลประโยชน์มากมาย กล่าวได้ว่าชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน
ยูเครนเป็นแค่เหยื่อที่ต้องถูกทำลาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตน แต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)
ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (2)
Russian Foreign Policy Concept 2023 สะท้อนมุมมองสถานการณ์โลก โดยเฉพาะส่วนที่รัสเซียกำลังเผชิญ วิสัยทัศน์อนาคตโลก
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (1)
Russian Foreign Policy Concept 2023 มีรายละเอียดมาก ช่วยให้เข้าใจนโยบายต่างประเทศรัสเซียได้เป็นอย่างดี
จับตาเกาหลีจะกลายเป็นยูเครน2หรือไม่ (2)
ปัจจัยรัสเซียเป็นข้อโต้แย้งว่าเกาหลีเหนือไม่น่าจะเป็นยูเครน 2 ถ้าตีความว่าฝ่ายเหนือมีนิวเคลียร์ รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศเรื่อยมาว่าพร้อมใช้เพื่อป้องกันประเทศ