“ธุรกิจขนส่งพัสดุ”ยังโตแรง

 “โควิด-19” ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากเทคโนโลยีในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการเงินและแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับเรื่อง “ออนไลน์” ในทุกรูปแบบมากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจขนส่งพัสดุในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างน่าสนใจ

โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ประเมินว่า ธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce เติบโตก้าวกระโดด ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมอยู่ในระดับค่อนข้างทรงตัว

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นช่องทางการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว โดยในปี 2561-2562 ธุรกิจขนส่งพัสดุมีมูลค่าในตลาดราว 4.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่งที่เติบโตกว่า 90% และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนเกือบทุกด้าน รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในการเสริมทักษะความรู้ สนับสนุนด้านการเงิน และให้คำแนะนำด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมและสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นได้

สำหรับในช่วงปี 2563-2564 สถานการณ์การโควิด-19 กลับหนุนให้ธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตสูงกว่า 30% มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาลงทุนในตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนได้จากมูลค่าตลาด E-Commerce ด้านการค้าปลีกและค้าส่งในปี 2564 ที่เติบโตกว่า 16%

โครงสร้างธุรกิจขนส่งในปี 2564 แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 75% ซึ่งลดลงจาก 93% ในปี 2561 และกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 25% เพิ่มจาก 7% ในปี 2561 โดยกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจ E-Commerce เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าในช่วงปี 2562-2564 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมกลับมีอัตราการเติบโตของรายได้ทรงตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ส่วนในปี 2565 หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท จากการที่ผู้คนมี

ความคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดย ttb analytics คาดว่าในปี 2566 ธุรกิจขนส่งพัสดุจะมีมูลค่าถึง 1.15 แสนล้านบาท เติบโต 18% ตามการเติบโตของตลาด E-Commerce ที่เติบโตราว 11% แต่อาจไม่เติบโตสูงเท่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายมากขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าจากช่องทางต่างๆ โดยคาดว่าลูกค้าในตลาด E-Commerce จะเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้นผู้ประกอบการหลายรายจึงเริ่มปรับตัวเพิ่มช่องทางการขายสินค้าทางออนไลน์ใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการแข่งขันภายในสูง แม้จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่องแต่ความสามารถในการทำกำไรที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจต้องพึ่งพาผู้บริโภคเป็นหลัก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากแรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิมที่ไม่ได้มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ของตัวเองจำเป็นต้องเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการรักษามาตรฐานการบริการและการจัดส่ง ระยะเวลาการจัดส่ง และการจัดการการส่งคืนสินค้าให้มีประสิทธิภาพ หรือการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายการบริการให้ครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด