ฉิน กัง: เอเชียไม่ใช่กระดาน หมากรุกความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

วันที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ฉิน กัง แถลงข่าวใหญ่ในตำแหน่งใหม่ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พอเข้าประเด็นเรื่องไต้หวัน เขาก็ยกรัฐธรรมนูญเล่มแดงขึ้นมาประกอบการชี้แจงทันที

เขาเริ่มด้วยการบอกว่า ขออ้างถึงสองประโยคในคำปรารภของ “รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” ว่า “ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นแดนจีนอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของชาวจีนทุกคน รวมทั้งเพื่อนร่วมชาติชาวไต้หวันที่จะบรรลุจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ในการรวมแผ่นดินมาตุภูมิให้สำเร็จ”

เขาย้ำว่าการแก้ปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องของคนจีน ประเทศอื่นย่อมไม่มีสิทธิ์แทรกแซง และย้อนทวนความว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ อ้างว่าปัญหาไต้หวันไม่ใช่เรื่องภายในของจีน

“เราขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด และระมัดระวังขั้นสูงสุดต่อเรื่องนี้”

สำหรับจีนและไต้หวันเรามีบ้านหลังเดียวกัน เรียกว่าประเทศจีนในฐานะเพื่อนร่วมชาติที่มีเลือดเนื้อเดียวกัน เรายินดีที่จะพยายามต่อไปเพื่อการรวมชาติอย่างสันติด้วยความจริงใจและพยายามอย่างดีที่สุด

ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้ละทิ้งมาตรการทุกวิถีทางที่จำเป็น “กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน” ของจีนกำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 “ไม่ว่าใครก็อย่าได้ดูถูกความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ความตั้งใจอันแน่วแน่ และความสามารถอันแข็งแกร่งของรัฐบาลจีนและประชาชนจีนในการปกป้องอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดน”

ฉิน กัง เน้นว่าปัญหาไต้หวันเป็นผลประโยชน์หลักของจีน เป็นฐานรากของรากฐานทางการเมืองของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และเป็นเส้นสีแดงเส้นแรกที่ไม่อาจก้าวข้ามได้ในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการเกิดปัญหาไต้หวัน

เหตุผลที่จีนเจรจาเกี่ยวกับปัญหาไต้หวันกับสหรัฐฯ ก็เพื่อให้สหรัฐฯ หยุดแทรกแซงกิจการภายในของจีน คนจีนมีสิทธิ์ที่จะถามว่า ทำไมสหรัฐฯ ได้แต่พูดถึงการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนในประเด็นยูเครน แต่กลับไม่เคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีนในประเด็นไต้หวัน

และเขาก็ตั้งคำถามว่า ทำไมในขณะที่ขอให้จีนไม่จัดหาอาวุธให้รัสเซีย สหรัฐฯ กลับขายอาวุธให้ไต้หวันโดยละเมิดแถลงการณ์ “17 สิงหาคม” มาเป็นเวลานาน เหตุใดจึงยังคงพูดถึงการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แต่ก็แอบวางแผน “ทำลายไต้หวัน” อย่างลับๆ

การแยกเอกราชของไต้หวันกับสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบ เป็นเหมือนน้ำกับไฟที่อยู่ร่วมกันไม่ได้ ภัยคุกคามที่แท้จริงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันคือ กองกำลังแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน

หลักการจีนเดียวคือหลักความมั่นคงของช่องแคบไต้หวัน และแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ 3 ฉบับคือแนวป้องกันที่แท้จริง หากปัญหาไต้หวันไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ก็จะสั่นคลอน

หากสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดความสงบในช่องแคบไต้หวันจริง ก็ควรหยุด “ใช้ไต้หวันเพื่อกีดกันจีน”

และกลับไปสู่ความหมายดั้งเดิมของหลักการจีนเดียว  หันมาปฏิบัติตามพันธกรณีทางการเมืองที่มีต่อจีน พร้อมแสดงจุดยืนชัดเจนในการคัดค้านและยับยั้งความพยายามในการแยกแผ่นดินไต้หวัน

นายฉิน กัง กล่าวว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ของสหรัฐฯ อวดอ้างเสรีภาพและการเปิดกว้าง แต่แท้จริงแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มก๊วนที่ต้องการปิดกั้นและผูกขาดผู้อื่น

 “พวกเขาอ้างความมั่นคงในภูมิภาค แต่แท้จริงแล้วกลับกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้า วางแผนจัดตั้ง  NATO เวอร์ชันเอเชีย-แปซิฟิก พวกเขายังอ้างว่าจะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค แท้จริงแล้วต้องการสร้างความแตกแยกและทำลายกระบวนการบูรณาการระดับภูมิภาค

พร้อมซัดกลับว่า คำกล่าวอ้างต่อสาธารณชนของสหรัฐฯ ที่ว่าจะ “กำหนดสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์โดยรอบของจีน” สิ่งนี้ได้เผยให้เห็นถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของ “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก” ที่ต้องการปิดล้อมจีน

ผลสุดท้ายจะกระทบต่อกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่เปิดกว้างและครอบคลุม ซึ่งมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง และสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์โดยรวมและระยะยาวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาจะไม่มีทางสำเร็จและต้องล้มเลิกกลางคันอย่างแน่นอน

ฉินกังย้ำว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผู้นำหลายประเทศในภูมิภาคระบุว่า อาเซียนไม่ควรเป็นตัวแทนของกองกำลังภายนอกใดๆ และไม่ควรติดอยู่ในกระแสน้ำวนของเกมระหว่างมหาอำนาจ เอเชียควรเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่กระดานหมากรุกสำหรับเกมทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามเย็นทุกรูปแบบจะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำในเอเชีย วิกฤตแบบยูเครนจะไม่มีทางเกิดขึ้นซ้ำในเอเชีย

พอนักข่าวถามถึงเรื่อง “กับดักหนี้” กับโครงการก็กลายเป็นอีกประเด็นร้อนขึ้นมาทันที

เพราะคำถามของนักข่าวเน้นไปตรงที่ว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนกำลังแข่งขันกับแผนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่เสนอโดยสหรัฐฯ และยุโรปหรือไม่

นายฉิน กัง ตอบว่าความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นผลผลิตสาธารณะคุณภาพสูงที่ริเริ่มโดยจีน ร่วมสร้างโดยทุกฝ่าย และแบ่งปันกันทั่วโลก                

ที่กล่าวว่ามีคุณภาพสูงก็เพราะมีมาตรฐานสูง ยั่งยืน และเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณชน เนื่องจากมีคุณภาพสูงและสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

จึงได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีประเทศมากกว่า 3 ใน 4 ทั่วโลก และองค์กรระหว่างประเทศ 32 องค์กรเข้าร่วม โดย 10 ปีหลังการเสนอข้อริเริ่มนี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากพิมพ์เขียวสู่ความเป็นจริง  และกลายเป็นผลลัพธ์การพัฒนาที่แท้จริงของประเทศต่างๆ นำประโยชน์มาสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนมากมาย  ช่วงเวลา 10 ปีได้ปูทางไปสู่การพัฒนาร่วมกัน และได้ฝากสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์สำคัญของชาติ” “โครงการเพื่อการดำรงชีวิตของประชาชน” และ “ผลงานที่ยิ่งใหญ่จากความร่วมมือ” ไว้มากมาย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้อริเริ่มนี้ได้ขับเคลื่อนการลงทุนเกือบหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ก่อให้เกิดโครงการความร่วมมือมากกว่า 3,000  โครงการ สร้างงาน 420,000 ตำแหน่งให้แก่ประเทศต่างๆ ตลอดเส้นทาง และทำให้ผู้คนเกือบ 40 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน รถไฟจีน-ลาวได้ปลดล็อกประเทศลาวจาก “ประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อทางทะเล” สู่  “ประเทศที่เชื่อมต่อทางบก”

นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้า Puttalam ในศรีลังกา ที่ได้นำแสงสว่างมาให้ประชาชนทุกครัวเรือน

รถไฟสายมอมบาซา-ไนโรบี ได้กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากกว่าอัตราร้อยละ 2 

 “Luban Workshop” ช่วยให้เยาวชนจากกว่า 20 ประเทศได้ฝึกฝนทักษะวิชาชีพ

จนถึงขณะนี้ China-Europe Railway  Express ได้ให้บริการรถไฟไปแล้ว 65,000 ขบวน  เป็นขบวนอูฐเหล็กที่เชื่อมระหว่างเอเชียกับยุโรป ในปีนี้ จีนจะใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ซึ่งจะทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ให้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้น

เขาเน้นว่า สำหรับข้อริเริ่มของประเทศอื่นที่ไม่ขีดเส้นแบ่งทางอุดมการณ์ เรายินดีต้อนรับ ขอแค่พวกเขาไม่มีเจตนาซ่อนเร้นทางภูมิรัฐศาสตร์

เรายินดีที่จะได้เห็นความสำเร็จของพวกเขา

คำว่า “กับดักหนี้” นั้นไม่มีทางโยนความผิดให้จีนอย่างแน่นอน ตามสถิติหนี้สาธารณะของประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 80% มีสถาบันการเงินพหุภาคีและการค้าเป็นเจ้าหนี้ นี่คือที่มาของแรงกดดันด้านหนี้สินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ทำให้เงินทุนจากประเทศต่างๆ ไหลออกตามๆ กัน ส่งผลให้สภาพหนี้สินของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องย่ำแย่ลงไปอีก

เห็นหรือไม่ว่า ฉิน กัง ตอบทุกประเด็นด้วยข้อมูลและจุดยืนของจีนที่ตอกย้ำว่า

คุณอย่ามาโยนบาปใส่เรา เพราะเราจะโยนมันกลับไปหาคุณแน่นอน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้