เมื่อจีนผงาดขึ้นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไปเล่นบทผู้แสวงหาสันติภาพที่มอสโกอยู่ขณะนี้ ก็ต้องหันไปดูบทบาทจีนที่ทำให้อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียกลับมาสานสัมพันธ์กันอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้เป็นตัวอย่างชัดเจน

คำแถลงการณ์ร่วมของสามฝ่ายออกที่ปักกิ่งเมื่อวันที่  11 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดขึ้นในจังหวะเดียวกับที่จีนกำลังเสนอ “สูตรสันติภาพ 12 ข้อ” เพื่อหาทางให้มีการเจรจาสงบศึกยูเครน

จีนกำลังได้ภาพลักษณ์ของประเทศที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อระงับความขัดแย้งในเวทีสากล ขณะที่อ้างว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายกระพือให้เกิดการสู้รบกันต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

หากจีนสามารถรักษาบทบาทนี้ไปได้ก็จะสามารถสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ และจะเล่นบท “มหาอำนาจแห่งสันติภาพ” ได้

กรณีที่ทำให้สองยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลางที่ตัดความสัมพันธ์กันไปเมื่อ 7 ปีก่อน หันกลับมาฟื้นคืนดีกันได้อย่างเป็นรูปธรรมและออกแถลงการณ์ร่วมสามฝ่าย ต้องให้คะแนนปักกิ่งเต็มๆ และถือว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของจีนเลยทีเดียว

อาจจะเรียกได้ว่า จีนเล่นบทบาทนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระเบียบโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านใช้เวลาเจรจารอบสุดท้ายที่ปักกิ่ง 4 วัน ก็สามารถตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเปิดสถานทูตอีกครั้งภายในสองเดือน

ข้อตกลงนี้ยืนยันถึง “การเคารพอำนาจอธิปไตยของรัฐและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน”

สื่อของทั้งสามประเทศโพสต์ภาพและวิดีโอของอาลี  ชัมคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน ขณะจับมือกับมูซาด บิน โมฮัมเหม็ด อัล-ไอบัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย

โดยมีหวัง อี้ นักการทูตอาวุโสที่สุดของจีนยืนอยู่ระหว่างกลาง

จีนระมัดระวังในการวางตัวเป็นโซ่ข้อกลางในเรื่องนี้มาก

บทบาทของจีนในฐานะคนกลางแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนานระหว่างศัตรูในภูมิภาคนั้น ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมาก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ

หวัง อี้ บอกว่าจีนจะยังคงมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการจัดการปัญหาจุดร้อนๆ หรือ “ฮอตสปอต” ในเวทีระหว่างประเทศ

และแสดงความรับผิดชอบในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกวันนี้

เขาเสริมว่า ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยที่ "สุจริต" และ "เชื่อถือได้" จีนได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในฐานะเจ้าภาพสำหรับการเจรจา

นี่ต้องถือว่าจีนเข้าใจเล่นเกม "ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสูง"

สองยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลางตัดความพันธ์ในปี  2559 เมื่อซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตนักวิชาการมุสลิมชีอะห์คนสำคัญ

ทำให้เกิดการประท้วงในอิหร่าน โดยผู้ประท้วงโจมตีสถานทูตของซาอุฯ ในกรุงเตหะราน

ความจริงแล้วความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างทั้งสองต้องย้อนกลับไปหลายทศวรรษ

ทั้งสองฝ่ายยืนอยู่บนฝั่งตรงข้ามกัน และมีส่วนร่วมในสงครามตัวแทนในพื้นที่ความขัดแย้งหลายแห่งในตะวันออกกลาง ในเยเมนสงครามดำเนินมาถึงปีที่ 8 แล้ว

กลุ่มกบฏ Houthi ได้รับการสนับสนุนจากเตหะราน ขณะที่ริยาดเป็นผู้นำแนวร่วมทางทหารเพื่อสนับสนุนรัฐบาล

ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองกลุ่มในอิรักและโอมาน แต่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้

ทำไมจีนจึงแซงหน้าสหรัฐฯ ในบทบาทผู้ไกล่เกลี่ย?

คำตอบง่ายๆ คือวอชิงตันเป็นศัตรูกับอิหร่าน ไม่อาจจะสร้างความไว้วางใจกับผู้นำของประเทศนั้นได้

แต่จีนสามารถเข้าได้กับทั้งสองฝ่าย

แม้วอชิงตันจะมีความสนิทสนมกับซาอุฯ มายาวนานก็ตาม

สำหรับจีนแล้วความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีขึ้นระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน จะช่วยลดโอกาสในการเกิดความขัดแย้งและลดความตึงเครียดในภูมิภาค

ซึ่งก็จะเป็นแนวโน้มที่เอื้อต่อการลงทุนและการค้า  พร้อมกับความสัมพันธ์ทางสร้างสรรค์กับตะวันออกกลางในภาพรวมด้วย

ต้องไม่ลืมว่าอ่าวอาหรับเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญสำหรับปักกิ่ง

จีนนำเข้าพลังงานทั้งจากอิหร่านและซาอุดีอาระเบียมาตลอด

ในปี 2019 โรงกลั่นน้ำมันของซาอุดีอาระเบียตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของพวกฮูตี ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันของประเทศชั่วคราว

และดันให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งไปกว่าร้อยละ 14 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ

แต่สหรัฐฯ กลับถูกมองว่าได้ดำเนินนโยบายที่ยืนอยู่ข้างใดข้างหนึ่งอย่างชัดเจนในระดับภูมิภาค

กลายเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งระดับภูมิภาค

ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับวอชิงตันที่จะมีบทบาทสร้างสันติภาพ

ส่วนจีนไม่ได้โอนเอียงเข้าข้างซาอุดีอาระเบียหรืออิหร่านอย่างชัดเจน และพยายามไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมืองภายในของประเทศอื่น

แม้กับอิสราเอลเอง จีนก็มีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ดีต่อกัน

แต่สหรัฐฯ มีแนวทางชัดเจนคือ ยืนข้างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียเพื่อต่อต้านอิหร่าน

อิหร่านจึงมองอเมริกาเป็นศัตรู ไม่เชื่ออะไรที่วอชิงตันพูดทั้งสิ้น

สำหรับซาอุดีอาระเบียในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา  อเมริกาเป็นพันธมิตรเดียวที่มีศักยภาพ

แต่ตอนนี้ประเทศเหล่านี้มีทางเลือกอื่น

จีนสามารถเสนอการสนับสนุนได้หลายทาง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความสัมพันธ์ทางทหาร

อีกทั้งจีนก็เข้าร่วมกิจกรรมในตะวันออกกลางพร้อมกับพันธมิตรอย่างรัสเซียด้วย

หลังจากแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียถูกโจมตี  สหรัฐฯ ภายใต้อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามหรือเพื่อตะวันออกกลางอีก

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ซาอุฯ เริ่มจะต้องทบทวนนโยบายของตนใหม่หมด

เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้านั่งในทำเนียบขาว ก็พยายามปรับแก้นโยบายนี้ด้วยการส่งสัญญาณว่าจะยืนหยัดเคียงข้างพันธมิตรในภูมิภาค

โดยวอชิงตันเชื่อว่าพันธมิตรนี้จะเป็นเครื่องมือในการแข่งขันกับจีน

แต่ด้วยวิถีทางการทูตของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางมากขึ้น

อิหร่านกับซาอุดีอาระเบียทำสงครามตัวแทนในภูมิภาคมานานหลายทศวรรษ

ส่งผลกระทบต่อซีเรีย อิรัก เลบานอน และเยเมน

แม้ว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองจะกลับเป็นปกติแล้ว แต่ก็ยังมีการบ้านที่ต้องปรับแก้กันอย่างมากมาย

เพราะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางไม่ได้ลบหายไปได้ง่ายๆ

แถลงการณ์ไตรภาคีที่เผยแพร่จากปักกิ่งอ้างถึงข้อตกลงด้านความมั่นคงในปี 2001 และข้อตกลงความร่วมมือในวงกว้างในปี 1998 ที่อิหร่านและซาอุดีอาระเบียตกลงกันไว้ในขณะนั้น

ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้น หลังจากความสัมพันธ์ทางการทูตถูกตัดขาดในช่วงทศวรรษ  1980 หลังการปฏิวัติอิหร่าน

ความสัมพันธ์ของอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียค่อนข้างดีตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2005-2006

และหากทุกฝ่ายทำตามข้อตกลงใหม่นี้ ก็คงหมายถึงความเต็มใจที่จะพยายามหวนกลับไปสู่วันเวลาช่วงที่ยังมีความสัมพันธ์อันอบอุ่น

และต้องหาทางป้องกันไม่ให้เสื่อมทรุดกลับไปสู่หลุมดำแห่งการแข่งขันเพื่อยื้อแย่งอิทธิพลกันอีก

จีนกับสหรัฐฯ ยังต้องแข่งขันสร้างอิทธิพลในทุกเวทีระดับโลกกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร