วันนี้วันที่ 397 ของสงครามยูเครน ประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครน คงกำลังรอสายจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน
เพราะมีการบอกกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เมื่อ “ท่านสี” เจอกับ “เพื่อนรัก” ปูตินแห่งรัสเซีย ที่มอสโกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ปักกิ่งก็จะติดต่อมากรุงเคียฟเพื่อให้ผู้นำทั้งสองสนทนากันผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
เผื่อว่าสี จิ้นผิง จะมาเล่าให้เซเลนสกีฟังว่าปูตินพร้อมจะเจรจาสันติภาพหรือไม่อย่างไร
เท่าที่ผมติดตามการพบปะระหว่างสีกับปูตินช่วงวันที่ 20-23 มีนาคมที่ผ่านมา การเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนกับมอสโกคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
เพราะปูตินบอกว่า รัสเซียพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการสันติภาพที่จีนเสนอ แต่เขาเชื่อว่าตะวันตกและยูเครนยังไม่พร้อม
เพราะยังเห็นตะวันตกส่งอาวุธมาให้ยูเครนตลอดเวลา โดยไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงแต่อย่างใด
แผนของจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้วไม่ได้เรียกร้องให้รัสเซียออกจากยูเครนอย่างชัดเจน
ฝั่งตะวันตกบอกว่า “12 ข้อ” ในข้อเสนอของจีน ที่เรียกร้องให้มีการพูดคุยสันติภาพและเคารพอธิปไตยของทุกประเทศนั้น ไม่มีประเด็นใหม่หรือรายละเอียดแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่รู้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเงื่อนไขอย่างไร
ยูเครนยืนกรานให้รัสเซียถอนตัวออกจากดินแดนของตนอันเป็นเงื่อนไขสำหรับการเจรจาใดๆ
ไม่มีวี่แววว่ารัสเซียจะยอมตามนั้น
เพราะมอสโกยืนยันว่ายูเครนต้อง “ยอมรับความจริง” ว่าทหารรัสเซียมีสิทธิ์ที่จะยึดครองดินแดนของยูเครนทางตะวันออกและทางใต้ เพราะเข้ามาเพื่อ “ปกป้องสิทธิ” ของคนรัสเซียหรือคนพูดภาษารัสเซีย
แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังแสดงความกังขาต่อเนื้อหาข้อเสนอของจีน
เขาบอกว่า การเรียกร้องให้หยุดยิงก่อนที่รัสเซียจะถอนตัวออกจากยูเครนก็เท่ากับ "เป็นการสนับสนุนการให้สัตยาบันว่ารัสเซียเป็นผู้มีชัยชนะในสงคราม"
เราเห็นภาพของสี จิ้นผิง กับปูตินแถลงข่าวร่วมกันอย่างอบอุ่น
ปูตินเอาใจปักกิ่งด้วยการบอกว่า "เนื้อหาของแผนสันติภาพของจีนสามารถใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการยุติความขัดแย้งในยูเครน เมื่อใดก็ตามที่ตะวันตกและเคียฟพร้อมสำหรับเรื่องนี้"
แต่ปูตินชี้ว่ารัสเซียยังไม่เห็น "ความพร้อม" เช่นว่านี้จากอีกฟากฝั่งหนึ่ง
สี จิ้นผิง ยืนเคียงข้างปูติน ตอกย้ำถึงความจริงใจและจริงจังของปักกิ่งที่จะสนับสนุนสันติภาพและการเจรจา
โดยบอกว่าจีน “ยืนอยู่ข้างความถูกต้องของประวัติศาสตร์เสมอ”
สีไม่ลืมที่จะยืนยันว่าจีนมี "จุดยืนที่เป็นกลาง" ต่อความขัดแย้งในยูเครน
และพร้อมจะช่วยทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงที่จะนำไปสู่ความสงบอีกครั้ง
ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องสงครามคือ การกระชับความร่วมมือด้านอื่นๆ ของสองประเทศ
โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ทางการค้า พลังงาน และการเมืองที่ถูก “ยกระดับ” ขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ
“จีนเป็นหุ้นส่วนการค้าต่างประเทศอันดับหนึ่งของรัสเซีย” ปูตินบอก
และประกาศคำมั่นว่าจะเดินหน้าทำให้การค้าระหว่างสองชาติเพิ่มขึ้นไปในระดับสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ที่น่าสนใจคือ การบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการสร้างท่อส่งก๊าซในไซบีเรียเพื่อส่งก๊าซรัสเซียไปยังจีนผ่านมองโกเลีย
เห็นชัดว่าตั้งแต่สงครามยูเครนระเบิดกว่าหนึ่งปีมานั้น จีนซื้อพลังงานจากรัสเซียในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่า 40%
อีกทั้งปูตินประกาศว่าจะร่วมมือกับจีนและประเทศคู่ค้าอื่น ในการใช้เงินสกุลหยวนและรูเบิลในการค้าขายต่อกัน
เท่ากับเป็นการสร้างขั้วเศรษฐกิจใหม่ที่มีจีนกับรัสเซียเป็นแกนกลางเพื่อแข่งกับขั้วเดิมที่มีสหรัฐฯ เป็น “หัวโจก” สำคัญ
แต่ทั้งสองก็ไม่ลืมที่จะประกาศว่าจะต้องไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาเป็นอันขาด
น่าสนใจเช่นกันว่าทั้งสองได้ระบุถึงความกังวลที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียได้ก่อตั้ง AUKUS ขึ้นมาในภูมิภาคเอเชียเพื่อช่วยออสเตรเลียสร้างกองเรือดำน้ำ
ที่จีนและรัสเซียเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตะวันตกที่จะ “ปิดล้อม” จีน
ขณะที่ตะวันตกอ้างความวิตกว่า จีนจะส่งอาวุธให้รัสเซียเพื่อเพิ่มความรุนแรงในการทำสงครามในยูเครน
แม้ว่าเยนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต จะกล่าวที่กรุงบรัสเซลส์ในจังหวะเดียวกันว่าเขา “ไม่เห็นหลักฐานใดๆ ว่าจีนกำลังส่งอาวุธร้ายแรงให้รัสเซีย”
แต่เสริมว่ามี "สัญญาณ" ว่ารัสเซียได้ขออาวุธจากจีนและปักกิ่งกำลังพิจารณาข้อเรียกร้องนั้น
จีนออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งอาวุธให้ฝ่ายใดในสงครามยูเครนทั้งสิ้น
สี จิ้นผิง มีสีหน้ายิ้มแย้มและอิ่มเอิบตลอดเวลาที่ปรากฏเป็นภาพและข่าวระหว่างการพูดคุยกับปูติน
เขาบอกว่า "มีความสุขมาก" ที่ได้มามอสโกและได้พูดจา "ตรงไปตรงมา เปิดเผย และเป็นมิตร" กับปูติน
ทั้งสองเรียกขานกันว่า “เพื่อนรัก” ตลอดงาน
แต่ก็มีเงามืดที่มาทับบรรยากาศอันอบอุ่นนั้น
เพราะก่อนที่สี จิ้นผิง จะบินไปมอสโกเพียงวันเดียว ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ออกหมายจับปูตินด้วยข้อกล่าวหา “อาชญากรสงคราม”
แม้จะไม่มีการกล่าวถึงประเด็นนี้ในแถลงการณ์ของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสีและปูตินย่อมจะเห็นเรื่องนี้เป็นการจงใจข่มขู่ปูตินจากฝั่งตะวันก
โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนโต้ว่า ตะวันตกไม่ควรจะใช้ “สองมาตรฐาน” ในกรณีนี้
หมายถึงการที่ประเทศตะวันตกไปรุกรานชาติอื่นๆ แต่ไม่มีการถูกตั้งข้อหาอาชญากรสงครามเหมือนที่ปูตินกำลังโดน
ที่ไม่พูดถึงไม่ได้อีกเรื่องคือไต้หวัน
สีและปูตินบอกว่า ได้มีการหารือเรื่องไต้หวันอันเป็นสาเหตุแห่งความตึงเครียดที่สำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
แถลงการณ์ร่วมบอกว่า รัสเซียสนับสนุนหลักการ "จีนเดียว" ของปักกิ่ง และยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่แบ่งแยกไม่ได้
และย้ำว่ารัสเซียต่อต้านความพยายามใดๆ ที่จะแยกดินแดนไต้หวันจากจีน
และมอสโกสนับสนุนการกระทำของจีนเพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน
ถ้าถามว่าสี จิ้นผิง จะสามารถต่อสายคุยกับปูตินและเซเลนสกีพร้อมๆ กันได้ไหม
ถึงวันนี้ต้องบอกว่ายังไม่อาจจะคาดหวังเช่นนั้นได้
แต่เมื่อได้จับเข่าคุยกับปูตินแล้ว สีก็จะต้องแสดงความ “เป็นกลาง” ด้วยการคุยกับเซเลนสกีด้วย
จากนั้นจึงค่อยๆ ตะล่อมเกลี้ยกล่อมให้ทั้งสองคนยอม “ถอยคนละก้าว”
ทั้งหมดนี้อยู่ที่ฝีมือของ “ท่านสี...ผู้มากด้วยบารมี” แล้ว!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
คิสซิงเจอร์ในวัย 100 เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (2)
เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในความเห็นของเฮนรี คิสซิงเจอร์, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายสมัยของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะฉลองวันเกิดที่ 100 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาย้ำว่าไต้หวันจะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่หรือไม่
คิสซิงเจอร์ (ในวัย 100 ปี) เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (1)
เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในสงครามและความขัดแย้งระดับโลก อายุครบ 100 ปี เมื่อวันเสาร์ (27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา
ผู้นำภูมิภาคถามหาบทบาท อาเซียนในวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์
ผู้นำเอเชียหลายท่าน รวมทั้งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เวียดนามรักษาดุลถ่วงระหว่าง จีนกับสหรัฐฯ อย่างไร?
ผมเขียนเรื่องจีน-สหรัฐฯ และอาเซียนมาหลายวัน วันนี้ส่องกล้องดูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามที่กำลังเข้าสู่จุดที่น่าสนใจยิ่ง
วาทะปะฉะดะระหว่าง รมต. จีนกับทูตมะกัน
ที่ผมเขียนถึงเรื่องจีนกับสหรัฐฯบ่อย ๆ ในช่วงนี้เพราะการเผชิญหน้าของสองยักษ์ระดับโลกจะเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของ “ระเบียบโลก” อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
จีนกับอาเซียนเร่งข้อตกลง ‘กติกามารยาท’ ทะเลจีนใต้
ข่าวล่าสุดบอกว่าจีนกำลังพยายามจะปิดเกมการเจรจาร่างกฎกติกามารยาทกับอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้