“ตลาดรถยนต์ไทย”ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)” ได้ตั้งเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2566 อยู่ที่ 1.95 ล้านคัน และรถจักรยานยนต์ที่ 2.1 ล้านคัน โดยปัจจัยสนับสนุนในส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออก มาจากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะ ซึ่งขนส่งสินค้าและคนเพื่อส่งออกไปทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ จึงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกันการเปิดประเทศของจีน ที่อาจส่งผลให้การค้าโลกและการท่องเที่ยวเติบโตเป็นผลดีต่อการส่งออกของหลายประเทศ ซึ่งก็รวมถึงไทยด้วย

นอกจากนี้ การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลงมาก ส่งผลให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น อาจมีการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในปลายปีนี้ได้

ส่วนปัจจัยที่จะสนับสนุนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การมีเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาทจากนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งรัฐบาลยังลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ รวมถึงหลายหน่วยงานประเมินว่าเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะโตได้มากกว่า 3% เป็นต้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แต่ก็ยังมีปัจจัยลบต่างๆ ที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ช่องแคบไต้หวันและอื่นๆ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลงซึ่งมีผลต่อการส่งออกรถยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2566 มีโอกาสทำได้เหนือระดับ 1 ล้านคันอีกครั้ง ไปอยู่ที่ราว 1.01 ล้านคัน หรือขยายตัวเล็กน้อยที่ 1% นำโดยเอเชียและตะวันออกกลางที่เป็นตลาดส่วนใหญ่ซึ่งยังคงขยายตัวได้ ขณะที่โอเชียเนีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ เริ่มหันไปนำเข้า BEV มากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่โอกาสส่งออกรถใช้น้ำมันของไทยอาจลดน้อยลง ไม่นับรวมปัญหาเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังเสี่ยงสูง

ขณะเดียวกัน คาดว่าสัดส่วนรถยนต์ BEV ที่ส่งออกจากไทยไปต่างประเทศในปีนี้ก็จะยังคงอยู่ในระดับที่น้อยมาก ไม่เกิน 0.04% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย จากในปี 2565 คาดว่าจะมีสัดส่วนเพียงไม่เกิน 0.007% โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปไม่ลุกลาม และเหตุการณ์ในยูเครนไม่ยกระดับรุนแรง ซึ่งในทางตรงข้ามหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สถานการณ์ต่างๆ บานปลายก็มีโอกาสที่การส่งออกรถยนต์ของไทยอาจทรุดต่ำลงกว่าที่คาดได้ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของวิกฤต

อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์ของไทยยังมีตลาดส่วนใหญ่ที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่คาดว่าน่าจะช่วยดึงให้การส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยไม่ปรับลดลงมาก เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีการปรับมาใช้รถยนต์ BEV ไม่มาก เพราะความพร้อมของตลาดน้อยกว่ากลุ่มแรก ขณะเดียวกันประเทศกลุ่มนี้ส่วนใหญ่พบว่าอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัว ยกเว้นในบางตลาด เช่น เวียดนาม ที่อาจยังมีความไม่แน่นอนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และจากผลกระทบของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ชะลอลงจากตลาดยุโรปและสหรัฐ โดยเฉพาะในหมวดสิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์

และด้วยตลาดที่ไทยส่งออกรถยนต์ไปได้ดีนั้น มีส่วนแบ่งมากกว่าตลาดที่เผชิญกับความท้าทายสูง ประกอบกับการได้รับแรงหนุนจากปัญหาการขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้การผลิตเพื่อส่งออกทำได้ราบรื่นกว่าปีที่ผ่านมามาก และยังมีราคาน้ำมันในปี 2566 ที่ปรับตัวลงจากความกังวลเรื่องอุปสงค์ที่อาจจะชะลอตัว ทำให้ความต้องการรถยนต์น้ำมันยังไปต่อได้ในตลาดส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ตลาดรถยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของรถยนต์ BEV มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้การดึงดูดค่ายรถสัญชาติต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ BEV ในไทย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ BEV ในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจะเป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อการส่งออกของไทยในอนาคต แต่สุดท้ายแล้วปริมาณการส่งออกที่จะเกิดขึ้นจริงคงต้องขึ้นอยู่กับการวางแผนกำลังผลิตและกลยุทธ์ของค่ายรถแต่ละค่ายด้วย.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผนดันเศรษฐกิจไทยด้วยซอฟต์เพาเวอร์

ในช่วงปีที่ผ่านมา คนไทยมักจะได้ยินคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ (Soft Power) อย่าหนาหู เพราะมีกระแสเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผลผลิต สินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการของไทยนั้นได้รับความนิยมมากขึ้น

ล้อมคอกแท็กซี่นอกรีต

ดูเหมือนว่าปัญหาแท็กซี่เอารัดเอาเปรียบผู้โดยสารจะกลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากโลกออนไลน์ได้มีการโพสต์ถึงพฤติกรรมแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์-โก่งราคาผู้โดยสารชาวต่างชาติ หนักหนาสาหัสไปกว่านั้นคือไม่รับผู้โดยสารคนไทย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นที่บริเวณอิมแพ็ค

ESGความยั่งยืนคือ“โอกาส”

ESG แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน และไม่ใช่แค่เทรนด์เท่านั้น เป็นแนวคิดระดับโลกที่ธุรกิจทุกขนาดจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้โลกของเราอยู่ได้อย่างยั่งยืน และธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ในอนาคต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก

ยังต้องจับตาดูเศรษฐกิจรอบโลก

ดูเหมือนว่าจะยังมีหลายสถานการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ต้องเฝ้าจับตาดูในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐ ที่เฟดเผยว่าอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก

การจัดตั้งรัฐบาลในม่านหมอก

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการเซ็น MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง MOU ฉบับนี้ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกล โดยในเนื้อหาหลักของข้อตกลงนี้มีหลายประเด็น ทั้งในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และนโยบายด้านการต่างประเทศ