นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.?

เริ่มตีเกราะเคาะกะลา นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

ดูเหมือนจะเป็นการปลุกสถานการณ์ทางการเมืองก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มาใช้ประโยชน์กับการเลือกตั้งครั้งนี้

สาเหตุคงมาจาก พรรคเพื่อไทย ไม่เสนอชื่อ "อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา" อยู่ในบัญชีของผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะไม่มีชื่อของ  "ลุงตู่" ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

แต่ทั้ง ๓ คนจะถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค

ก็ไม่มีอะไรแปลกประหลาดครับ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

ฉะนั้นไม่ผิดกติกา

แล้วสง่างามหรือไม่

มันอยู่ที่บริบททางการเมืองช่วงเวลานั้นๆ

รูปแบบ กับผลลัพธ์ หลายครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

ยุคหนึ่งเรากลัวทหารสืบทอดอำนาจ ประชาชนจึงออกมาเรียกร้องว่า นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.

และแทบทุกยุคสมัย เราเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง เพราะเมื่อนักการเมืองเข้าสู่อำนาจแล้ว พากันตั้งหน้าตั้งตาถอนทุนคืน

คอร์รัปชันจนเป็นเรื่องปกติวิสัย

เป็นเหตุให้ทหารนำไปอ้างเพื่อทำรัฐประหาร

วนเวียนอยู่แบบนี้

แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหนกันแน่

เป็นเพราะนายกฯ ไม่ได้มาจาก ส.ส.

หรือ ส.ส.ไร้อุดมการณ์

ครับ....วานนี้ (๒๘ มีนาคม) ปิยบุตร แสงกนกกุล  เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งหัวข้อว่า....   "นายกฯ ต้องเป็น ส.ส."

เนื้อหาร่ายยาวตั้งแต่หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  และรัฐประหาร ๒๕๒๐ กองทัพและชนชั้นนำไทย พยายามออกแบบระบบการเมืองที่ยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่มีกองทัพ ระบบราชการ ชนชั้นนำ คอยควบคุมบงการอยู่

การเลือกตั้ง ๒๕๒๒ พรรคกิจสังคมได้ลำดับที่หนึ่ง  ๘๙ ที่นั่ง แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เสียงข้างมากในสภาลงมติเลือก พล.อ.เกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี “สืบทอดอำนาจ” จากรัฐประหาร ๒๕๒๐ อีกครั้ง

และเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ลาออกกลางสภาในปี  ๒๕๒๓ เสียงข้างมากในสภาก็พร้อมใจกันเลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผบ.ทบ. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ

ถามว่า "เกรียงศักดิ์-ป๋าเปรม" เป็นนายกฯ เถื่อนหรือเปล่า

ก็เปล่า เพราะสภาเป็นคนเลือก

สภาเป็นใคร?

ก็คือ ส.ส.ที่ประชาชนเลือก

แล้วทำไม ส.ส.ถึงได้เลือก เพราะบริบทการเมืองขณะนั้น มันเป็นเช่นนั้น

ยุคสมัยของป๋าเปรม เป็นนายกฯ ๘ ปี ประเทศไทย ไร้อนาคตหรือเปล่า?

ก็เปล่า

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า บางยุคสมัยทหารก็สร้างปัญหาจริงๆ

"ปิยบุตร" โพสต์ไว้แบบนี้ครับ...        

...หลังรัฐประหาร ๒๕๓๔ ในช่วงทำรัฐธรรมนูญถาวร  มีเสียงเรียกร้องจากภาคประชาชนกดดันว่ารัฐธรรมนูญควรต้องบังคับลงไปให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เพื่อป้องกันไม่ให้ รสช.แปลงกายสืบทอดอำนาจต่อ เหมือนที่เป็นมาภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๒๑ 

แต่แล้ว รัฐธรรมนูญ ๒๕๓๔ ก็ไม่ได้เขียนบังคับไว้

คดียึดทรัพย์รัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลชาติชาย ยกฟ้อง

มีการตั้งพรรคใหม่ ชื่อ พรรคสามัคคีธรรม โดยทหารคนสนิทของ รสช. ไปรวบรวมกำลังพล ส.ส.มาจากหลายพรรค

การเลือกตั้งเดือนมีนาคม ๒๕๓๕ พรรคสามัคคีธรรมได้ลำดับหนึ่ง ๗๙ ที่นั่ง พรรคสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม ประชากรไทย และราษฎร เสนอให้ นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นนายกรัฐมนตรี     แต่เกิดกรณีปัญหารัฐบาลสหรัฐอเมริกาแถลงว่านายณรงค์เป็นบุคคลที่สหรัฐฯ ไม่ออกวีซ่าให้เพราะใกล้ชิดกับผู้ค้ายาเสพติด

ทำให้พรรคทั้งห้าหันไปสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ พล.อ.สุจินดา ยืนยันเสมอว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จนในท้ายที่สุด ต้องเอ่ยคำว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ก่อนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประชาชนออกมาประท้วงต่อต้าน เพราะเห็นว่านี่คือแผนการ “สืบทอดอำนาจ” ที่วางเอาไว้ ลุกลามเกิดเป็นเหตุการณ์ พฤษภา ๒๕๓๕...

พล.อ.สุจินดา จึงเป็นนายกฯ คนนอกที่หลอกหลอนมาจนทุกวันนี้

แล้วทำไม ส.ส.พรรคมาร ที่นำโดยพรรคสามัคคีธรรมถึงเลือก พล.อ.สุจินดา

พรรคสามัคคีธรรมนับเป็นพรรคบรรพบุรุษของพรรคเพื่อไทยได้อยู่นะครับ เพราะ ส.ส.รุ่นลายคราม รุ่นพ่อ ของพรรคเพื่อไทยก็เคยสังกัดหัวหน้าพรรคมารพรรคนี้มาก่อน

แม้กระทั่ง "สมัคร สุนทรเวช" ที่พรรคพลังประชาชน พรรคในระบอบทักษิณ เชิญมาเป็นนายกฯ ก็เคยเป็นรองนายกฯ รัฐบาลสุจินดา

ถ้าวันนั้น ส.ส.ทั้งสภาพากันบอยคอต พล.อ.สุจินดา  เหตุการณ์พฤษภาทมิฬก็อาจจะไม่เกิดขึ้นมา

แล้วทำไม ประชาชนไม่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งสภาเลือกเป็นนายกฯ ในปี ๒๕๖๒ เหมือนที่เคยต่อต้าน พล.อ.สุจินดา

ขณะที่เหตุการณ์นองเลือดปี ๒๕๕๓ เกิดจากนักการเมืองแย่งชิงอำนาจกัน

แม้จะบอกว่าต้นเหตุมาจากการรัฐประหาร ๒๕๔๙  แต่ก่อนหน้านั้นเกิดเผด็จการรัฐสภา

สาเหตุเพราะ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจมากเกินไป จนระบบตรวจสอบในสภาผู้แทนฯ ไม่อาจทำได้

"ทักษิณ" จึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย

ปฐมเหตุก็เรื่องเดิมๆ "ทักษิณ" ควบรวมพรรคการเมือง จนไทยรักไทยกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นประชาธิปไตย กลับกลายเป็น คณาธิปไตย

และปัญหาที่สร้างโดย "ทักษิณ" ก็คาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้

ฉะนั้นเมื่อตั้งประเด็นว่า นายกฯ ควรมาจาก ส.ส.หรือไม่ โดยบริบทการเมืองในปัจจุบัน ถือเป็นประเด็นเล็กครับ

นายกฯ มาจาก ส.ส. หรือมาจากคนนอก ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลเหมือนเมื่อปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕

มีที่ต้องกังวลยิ่งกว่าคือ ปัญหาเก่าที่นายกฯ มาจากส.ส.สร้างเอาไว้ วันนี้ยังแก้กันไม่ได้

ยังไม่นับรวมประเด็นใหม่ เริ่มมีคำถามว่า แคนดิเดตนายกฯ ไม่มีคนอื่นอีกแล้วหรือ นอกจาก ลุงตู่ ลุงป้อม  อุ๊งอิ๊ง เศรษฐา อนุทิน จุรินทร์ เพราะเบื่อหน้าเก่า

บทสรุปจึงอยู่ที่นักการเมืองนั่นแหละครับ

แมวอ้วนพีสีสวยจับหนูไม่ได้มันก็ไร้ประโยชน์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หนีล้มเจ้า' ปะ 'โกงคุก'

น่าจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันเยอะพอควร ไม่ชอบ "ระบอบทักษิณ" แต่ไม่ไว้ใจ "ขบวนการล้มเจ้า" กัดฟันยอมเห็นพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ผิด 'ทักษิณ' ที่ล้างไม่หมด

มันเหลือเชื่อมั้ยล่ะครับ.... เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี่เอง "ประยุทธ เพชรคุณ" โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นั่งแถลงข่าวพูดถึงอาการของ "นักโทษชายทักษิณ" ว่าป่วยขั้นวิกฤต

๑ ประเทศ ๒ นายกฯ

มีคนสงสัยว่า "นักโทษชายทักษิณ" ออกนอกบ้านจันทร์ส่องหล้าได้หรือ

ปรากฏการณ์ทักษิณ

หวังว่าคงอยู่สุขสบายดีนะครับ ไม่ได้หมายถึง "นักโทษชายทักษิณ" แต่เป็น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กับ หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ

ยุบพรรค-ล้มล้าง

คำพูดสะท้อนแนวคิด วานนี้ (๑๓ มีนาคม) "ชัยธวัช ตุลาธน" เผยตัวตนที่แท้จริง ว่ามีแนวความคิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ซีรีส์ยุบก้าวไกล

ถึงบางอ้อสิครับ... วานนี้ (๑๒ มีนาคม) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์