จุดจบระบอบทักษิณ

วุ่นวายขายปลาช่อนครับ...

ตอนนี้แต่ละพรรคเจอปัญหาเหมือนๆ กัน คือการจัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

ใครที่บอกว่า นักการเมืองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งลำดับชั้น

โดยเฉพาะพวกที่บอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยตัวดีเลยครับ จัดลำดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามกำลังทรัพย์

สมัยยกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ทั้งกรรมาธิการ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องมี ส.ส.ประเภทที่สอง ซึ่งก็คือ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อเติมเต็มสภาผู้แทนราษฎร

ให้ผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ในสภา

มีการยกตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ หรือ ต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นแทบไม่มี ส.ส.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังเลย 

ไม่มี เทคโนแครต ด้านนี้เลย

ฉะนั้นรัฐธรรมนูญควรจะเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นเข้าสภา เพราะโดยธรรมชาติคนกลุ่มนี้ไม่ประสงค์ลงสมัคร ส.ส.ระบบเขต

ลงไปก็แพ้ ต่อกรกับอิทธิพลท้องถิ่น บ้านใหญ่ ไม่ได้

นั่นคือเจตนารมณ์เดิมของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

แต่วันนี้เปลี่ยนไปหมดแล้วครับ

รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เริ่มต้นด้วยตัวตึงแต่ละพรรคทั้งนั้น

หากพิจารณาตามโครงสร้างพรรค พอเข้าใจได้ครับว่า หัวหน้าพรรคต้องอยู่ในลำดับที่ ๑ ของผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากนั้นเป็นเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรค ลดหลั่นกันไป

ควรจะมี เทคโนแครต มาคั่นเป็นช่วงๆ

แต่...เท่าที่เห็น คั่นด้วย "นายทุนพรรค"

หรือไม่ ก็เด็กของนายทุนพรรค

ไม่มีที่ว่างให้ เทคโนแครต อีกต่อไป

ฉะนั้นภาพที่้เราเห็นวิ่งกันตีนขวิดเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในรายชื่อต้นๆ ของลำดับผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มันคือการแก่งแย่งตั้งแต่ยกแรกของนักการเมือง

ใครจ่ายให้พรรคเยอะก็ได้ลำดับดีหน่อย

ใครจ่ายน้อย ไปวัดดวงกันในลำดับที่มีความเสี่ยงสูงที่จะสอบตก

นี่ครับยกแรก

ยังมีอีกหลายยก

ตอนตั้งรัฐบาลจะได้เห็นกันอีกที

ต้องทำใจครับ

มันได้แค่นี้

แต่อย่าเพิ่งเบื่อการเมืองเสียก่อน เพราะการเลือกตั้งยังมีอีกหลากหลายมุมที่เป็นเชิงบวก อย่างน้อยๆ คือการพัฒนาประชาธิปไตย

ประชาชนได้เรียนรู้ว่าควรเลือกคนแบบไหนเข้าสภา

ควรจะเลือกใครเป็นนายกฯ

การเลือกคนดี มีความรู้ความสามารถ และเข้ากับสถานการณ์ ก็ไม่ได้ง่าย เพราะองค์ประกอบมันเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ดูไม่ได้นั่นคือ "ภูมิหลัง"

ดู "เศรษฐา ทวีสิน" เป็นตัวอย่าง

"...หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหารพรรค นั่นคือสิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่าหากต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยครับ

ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ”

เริ่มเล่นการเมืองเป็นครับ

ถูกต้อง ไม่ได้ลอยมาจากไหน

เพราะจู่ๆ ก็ลอยออกมาจากพรรคเพื่อไทย

เราเห็นเศรษฐีหมื่นล้าน จู่ๆ ไปนั่งกินข้าวกับชาวบ้านด้วยความใกล้ชิดสนิทสนมมาแล้ว ก็ไม่ต้องแปลกใจอะไร หาก "เศรษฐา" จะได้เป็นนายกฯ

ประกาศตัวลงเล่นการเมือง ๒ เดือนครึ่งได้เป็นนายกฯ  ถือว่ามีวาสนาครับ

แข่งยาก!

เพราะนักการเมืองหลายๆ คนเล่นการเมืองมาตลอดชีวิต ยังเอื้อมไม่ถึงเก้าอี้นายกฯ

แต่ขอโทษครับ! ยังทำลายสถิติของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่ได้ เพราะรายนั้น เปิดตัวกับพรรคเพื่อไทย ๔๙ วันก็ได้เป็นนายกฯ

ที่จริง "เศรษฐา" ก็อยู่ในข่าย เทคโนแครต เหมือนกัน  เพียงแต่ไม่ประสงค์จะลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

มุ่งไปที่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ภูมิหลัง "เศรษฐา" นับว่าเข้ากับสถานการณ์อยู่ไม่น้อย  เพราะมีแนวโน้มว่ารัฐบาลหน้า จะต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เริ่มจากการล่มสลายของธนาคารในยุโรปและอเมริกา

ได้ "เศรษฐา" ขวัญใจ CEO มาเป็นนายกฯ ก็ถือว่าถูกฝาถูกตัว

แต่นี่เราพูดถึง "เศรษฐา" ที่มีจิตใจทุ่มเท เสียสละ ปลดพันธนาการจากธุรกิจหมื่นล้านแสนล้าน มาเล่นการเมืองเพื่อชาติ ประชาชน

คนละคนกับ "เศรษฐา" ที่ลงเล่นการเมืองเพราะ "ทักษิณ"

ถึงวินาทีนี้มีแนวโน้มสูงครับว่า หากพรรคเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาล คนที่จะมาเป็นนายกฯ คือ "เศรษฐา"

ไม่ใช่ "อุ๊งอิ๊ง" หรือตัวแถมอย่าง "ชัยเกษม นิติสิริ"

หากอยู่ยาวก็มีแนวโน้มจะได้เห็นนายกฯ คนละครึ่ง

"เศรษฐา" ครึ่ง "อุ๊งอิ๊ง" ครึ่ง

ครึ่งแรก "เศรษฐา" ครึ่งหลัง "อุ๊งอิ๊ง"

สัญญาณเช่นนี้ ตอกย้ำว่า รัฐบาลเพื่อไทย ยังคงถูกครอบงำจาก "ทักษิณ"

และนี่คือ "เศรษฐา" ที่น่ากังวล

นักการเมือง ปากก็บอกว่ายึดโยงกับประชาชนกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่คน ที่เห็นประชาชนมาก่อนเจ้าของคอก

นับแต่....

สมัคร สุนทรเวช

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การเป็นนายกฯ ของคนเหล่านี้วนเวียนอยู่กับปรากฏการณ์การถูกครอบงำจาก "ทักษิณ"

เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตามมาอย่างต่อเนื่อง

หากแผ่นเสียงตกร่อง "เศรษฐา" ถูกทำให้ย่้ำรอยเดิม  ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากเดิม

ที่่ต่างจากเดิมคือ ทุกคนมีอายุมากขึ้น 

ถ้าสังคมโดยรวมมีวุฒิภาวะมากขึ้นตาม สามารถแยกแยะนักการเมืองได้ ผลลัพธ์ ย่อมเปลี่ยนเช่นกัน

คือจุดจบของระบอบทักษิณ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

รัฐบาลลิงแก้แห

ชี้แจงก็เหมือนไม่ชี้แจง ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงจะหน้าเขียวไปตามๆ กัน เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ร่วมโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินที่รัฐบาลล้วงมาคือ ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท

วอลเล็ตมรณะ

อย่าเพิ่งดีใจ... ใครที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตทันไตรมาส ๔ ของปีนี้ ควรเผื่อใจไว้บ้าง