‘ประชาธิปไตยดิจิทัล’ที่กินได้!

อะไรคือ “ประชาธิปไตยดิจิทัล” มันช่วยให้ไต้หวันเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างไร?

ผมมีความเชื่อของผมว่าหากคนไทยใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด เราอาจจะสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้าง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” ในการปกครองประเทศอย่างแท้จริงได้

และหากเราสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงแล้ว เราก็จะมีความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในเนื้อหา และไม่เพียงแต่ในรูปแบบเท่านั้น

นั่นจะทำให้เราสร้างสังคมที่เป็นธรรม และเศรษฐกิจที่เท่าเทียมเสมอภาคได้อย่างเป็นรูปธรรม

วันก่อนผมได้อ่านบทความเห็นของคุณ Andrey Tang รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน วิเคราะห์แนวโน้มลักษณะเดียวกันนี้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังต่อ

แกเล่าว่า การระบาดของโควิด-19 เปิดโปงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศ รวมทั้งชาติต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนี้ด้วย

พอโควิดโจมตีหนัก ความไม่พร้อมของหลายประเทศก็ถูกเปิดเผยออกมา มีทั้งข้อบกพร่องและความล้มเหลว

บ้างก็ถือจังหวะนี้ฉวยโอกาสร้างอำนาจให้กับตนเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขอบเขต

บ้างก็ทำอะไรไม่ถูก ถึงขั้นอ้าปากค้างกันเลยทีเดียว

สังคมส่วนใหญ่จะอ้างความเป็นประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงๆ พอถูกทดสอบโดยโรคระบาดที่หนักหน่วงรุนแรงครั้งนี้ก็พิสูจน์ว่ามันไม่เป็นความจริงในหลายกรณี

มันทำให้เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้แทบไม่ได้ปรับปรุงสถาบันประชาธิปไตยให้เพื่อเป็นกลไกแก้ปัญหาวิกฤตที่เผชิญกับประชาชนเลย

แต่วิกฤตนี้ก็คือโอกาส

รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวันบอกว่า เพื่อให้แน่ใจว่าประชาธิปไตยยังคงเฟื่องฟูต่อไป “เราจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชากรของเราอีกครั้ง”

อีกทั้งยังต้องปรับปรุงให้สถาบันต่างๆ ของสังคมเหมาะสมกับโลกที่เราอาศัยอยู่

แกบอกว่า ไต้หวันได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความสามารถสร้างประชาธิปไตยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมของพลเมือง

คุณอังเดร ถัง บอกว่าไต้หวันปรับเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยดิจิทัลภายในหนึ่งชั่วอายุคน

นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไต้หวันได้ผันตัวเองจากสังคมเกษตรกรรมที่ค่อนข้างเรียบง่าย โดยมีอำนาจอยู่ในมือของพรรครัฐบาล มาเป็นรัฐที่มีลักษณะเป็นพหุนิยมทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง

เริ่มด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกเมื่อปี 2539 หลังจากที่ World Wide Web บนอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมในไต้หวัน

มันพิสูจน์ว่าอินเทอร์เน็ตและประชาธิปไตยมีวิวัฒนาการและเติบใหญ่ไปพร้อมๆ กัน

ปี 2014 เป็นปีมีช่วงเวลาที่ชัดเจนในการปลุกพลังประชาธิปไตยของไต้หวัน

ปีนั้นเกิด “ขบวนการทานตะวัน”

ผู้คนกว่าครึ่งล้านออกมาตามท้องถนนเพื่อประท้วงข้อตกลงการค้าบริการข้ามช่องแคบซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่คลุมเครือกับปักกิ่ง

ผู้คนอีกนับล้านสนับสนุนผู้ประท้วงทางออนไลน์และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ

รัฐสภาของไต้หวันถูกยึดครองโดยประชาชนที่ต้องการหยุดความคืบหน้าของกฎหมาย

ในช่วงสองสามวันแรกของเหตุการณ์ครั้งนั้น ข่าวลือและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในรัฐสภาถูกแพร่กระจาย

คุณอังเดร ถัง เล่าว่า เพื่อให้มั่นใจถึงความเปิดกว้างและความโปร่งใส แกได้ช่วยตั้งค่าระบบการสื่อสารกับชุมชน gov ที่กระจายอำนาจ

เรียกว่า gov-zero ซึ่งเป็นกลุ่มแฮ็กเกอร์พลเมือง พื้นที่ที่ถูกยึดครองและถนนโดยรอบเชื่อมต่อกันด้วยเครือข่ายท้องถิ่น และมีการตั้งโปรเจ็กเตอร์ไว้นอกรัฐสภาเพื่อแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในแบบเรียลไทม์

ข้อมูลความเป็นจริงได้รับการถ่ายทอดและแพร่กระจายสดๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทันท่วงที และไม่เป็นเหยื่อของข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวลวงทั้งหลาย

“ขบวนการทานตะวัน” ยุติกิจกรรมในอีกสามสัปดาห์ต่อมา

เพราะรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะกำกับดูแลข้อตกลงการค้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

นั่นเป็นการอินเทอร์เน็ตในการรายงานข้อมูลข่าวสารที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

นี่ไม่เพียงแต่ใช้ได้กับไต้หวันเท่านั้น แต่ทั้งโลกกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังและกว้างขวาง

ขบวนการที่ว่านี้ช่วยให้การรวมตัวของประชาชนเกิดได้ด้วยความช่วยเหลือจากมืออาชีพที่ใช้พลังเทคโนโลยีของพลเมือง นำไปสู่การดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิผล

หากผู้มีอำนาจเข้าใจ แทนที่จะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจหรือพยายามขัดขวาง ก็สามารถจะใช้มันเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

หากใช้เทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์ก็จะสามารถสร้างพลังและแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านนโยบาย ให้แนวคิดในการทำงานร่วมกับประชาชน และซึมซับการกำหนดนโยบายสาธารณะ

นั่นคือการปลดปล่อยพลังที่มีอยู่ในการระดมมวลชนของประชาธิปไตย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน ที่ชี้นำโดยตรงจากความต้องการของประชาชน

ไต้หวันมีหลายโครงการเพื่อสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เช่น งาน Presidential Hackathon ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

โครงการนี้เชิญชวนพลเมืองจากทั่วโลกให้เสนอวิธีแก้ปัญหาแบบ open-data สำหรับปัญหาความยั่งยืนทั่วโลก

รวมถึงวิธีการลดการใช้พลังงาน เพิ่มพลังให้พลเมืองที่ชาญฉลาด และส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรแบบหมุนเวียน

ทีมไหนชนะในการแข่งขันจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในโครงการของรัฐบาล

และระบบที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน

นวัตกรรมประชาธิปไตยอีกอย่างหนึ่ง join.gov.tw ช่วยให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว

โดยที่กระทรวงดิจิทัลจัดการประชุมแบบเห็นหน้ากันเดือนละสองครั้ง เพื่อสำรวจวิธีการรวมคำร้องที่มีลายเซ็นมากกว่า 5,000 รายชื่อในการกำหนดนโยบาย

ผู้ริเริ่มแนวความคิดนี้คือพลเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมากกว่าหนึ่งในสี่ ซึ่งรวมถึงคำร้องล่าสุดเพื่อแบนหลอดพลาสติก

ความคิดนี้สร้างขึ้นโดยเด็กหญิงอายุ 17 ปีเท่านั้น

แนวคิดของรัฐมนตรีดิจิทัลไต้หวันคนนี้ทำให้เราควรจะเห็นว่าศักยภาพของเทคโนโลยีในการสร้าง “ประชาธิปไตยที่จับต้องได้” เกิดขึ้นได้จริงๆ

อยู่ที่รัฐบาลเราจะมีความกล้าหาญและวิสัยทัศน์พอที่จะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่หรือไม่เท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร