
กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้การประกอบกิจการต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล หรือ BCG Model ที่เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 3 มิติไปพร้อมกัน ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลเกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน
ซึ่ง รมว.อุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นผลักดันโรงงานสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งเป้าทุกแห่งภายในปี 2568 โดยในปี 2565 มีเป้าหมายที่ 60%, ปี 2566 เป้าหมาย 80%, ปี 2567 เป้าหมาย 90% และเป็น 100% ในปี 2568 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 2564-2580 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมและกำกับดูแลคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสถานประกอบการ
ล่าสุด วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสนองตอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการปล่อยของเสียเป็นศูนย์หรือมีของเสียเกิดน้อยที่สุด ใช้วัตถุดิบและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีและได้มาตรฐาน รวมถึงดำเนินกิจกรรมที่น่าเชื่อถือ เกื้อกูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสังคมโดยรอบ
โดย กนอ.สนับสนุนที่ปรึกษาเข้าให้คำแนะนำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมในการดำเนินงานตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และยังส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดการเกิดของเสีย และหมุนเวียนทรัพยากรเหลือใช้มาใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ นอกจากนี้ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจก
โดยมีเป้าหมายในปี 2565 กนอ.จะทบทวนเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะพิจารณาอ้างอิงตามแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นต์ขององค์กร ซึ่งจะนำมาปรับใช้กับนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานด้วย และจะดำเนินนโยบายผลักดันสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวให้เป็นไปตามเป้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้
พร้อมทั้งเตรียมผลักดันนิคมอุตสาหกรรมหนองแค จ.สระบุรี ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ เนื่องจากมีความพร้อมและปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ทั้งในด้านการดำเนินตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 โดยได้รับการรับรองเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ในระดับเวิลด์คลาส อีกทั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0 ด้านน้ำและพลังงานที่มีโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำในการผลิตและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นเอกชนรายใหญ่พัฒนาโครงการต่างๆ และยังปรับตัวให้สอดคล้องกับชุมชนโดยรอบ
และล่าสุด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็เดินหน้าขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยจับมือกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโปรแกรม ITAP สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก
การดำเนินการของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ แต่ก็อย่าเมินเฉยกับปัญหากากอุตสาหกรรมที่อยู่ใต้พรมที่นับวันกองยิ่งใหญ่ขึ้นทุกๆ วัน.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แปลงขยะอินทรีย์รับเทรนด์ESG
การลดปริมาณและแยกประเภทขยะอินทรีย์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของชุมชนและองค์กรต่อไป
รับมือเศรษฐกิจผันผวน
คงต้องจับตาภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ที่ต้องเผชิญ มรสุมคลื่นลมแรงจากภายนอก ทั้งปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก
เน็กซ์เจนปั้นธุรกิจครอบครัวยุคโควิด
“โควิด-19” ถือเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเกือบทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ แ
ความหวังของเศรษฐกิจ กับการเปิดประเทศอีกครั้ง
ประเทศไทยหลังจากผ่านมรสุมมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของการต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่
การบินเริ่มกลับมาคึกคัก
หลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พ.ค.2565
พลังงานมั่นคง-ลดพึ่งพา
วิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงทะลุเพดาน