อิหร่านมีการ 'เลือกตั้ง' ด้วย

ระหว่างผมหาประเด็นเขียนคอลัมน์สำหรับสัปดาห์นี้ ผมเจอข่าวเรื่องหนึ่งทำให้ผมชะงักและเกิดข้อสงสัย

เรื่องดังกล่าวคือ การเลือกตั้งในประเทศอิหร่านเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวคือ “เขามีเลือกตั้งด้วยเหรอ?” อย่าเข้าใจผมผิดครับ ผมไม่ได้ดูถูก ไม่ได้ด้อยราคาใคร แต่ผมแค่สงสัยว่าประเทศแบบนี้มีการเลือกตั้งด้วยเหรอ? ผมอาจไม่ฉลาดพอที่จะรู้เรื่องประเทศแบบนี้อย่างลึกซึ้ง ผมเลยมีภาพ (และความเข้าใจ) ว่าเขาเป็นตามภาพที่ผมเห็นผ่านสื่อตะวันตก ซึ่งรู้ทั้งรู้ว่าสื่อวาดให้ใครเป็นอย่างที่เขาอยากให้เป็นได้ แต่ภาพที่สื่อตะวันตกวาดให้กับสภาพความเป็นจริงคงไม่ต่างกัน ราวฟ้ากับดินขนาดนั้นมั้ง

และเรื่องนี้ทำให้ผมสงสัยเรื่องการชุมนุมและประท้วงในอิหร่านเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่านำความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าย้อนกลับไป พวกเราคงจำได้ว่า ตอนนั้นการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ยิ่งใหญ่ และดูเหมือนจะนำความเปลี่ยนแปลงในอิหร่านกับประเทศอื่นๆ ที่บริหารประเทศแนวเดียวกัน เป็นแนวอนุรักษนิยมสุดโต่ง ประเภทเอาเรื่องศาสนามาอ้างและบังหน้า

ที่เลือกตั้งไปเมื่อวันศุกร์คือเลือก 2 ส่วน เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 290 ที่นั่ง และเลือก Assembly of Experts (หรือ Assembly of Experts of the Leadership หรือ Council of Experts ขึ้นอยู่กับว่าใครแปลอย่างไร) จำนวน 88 ที่นั่ง หน้าที่ของ Assembly of Experts คือแต่งตั้ง ปลด และตรวจสอบการทำงานของผู้นำสูงสุดประเทศ Supreme Leader (Ayatollah Ali Khamenei) ที่มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ นิติบัญญัติ กับบริหาร เป็นเบอร์ 1 ของประเทศก็ว่าได้

ฟังดูตรงไปตรงมา และสมาชิกทั้งหมดถูกเลือกโดยตรงจากประชาชน แต่….ในการเป็นผู้สมัครระดับอะไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะระดับท้องถิ่น สส.ระดับชาติ ประธานาธิบดี หรือ Assembly of Experts ก็ตาม จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ Guardian Council (หรือ Council of Guardians หรือ Constitutional Council ขึ้นอยู่กับการแปลอีก) จำนวน 12 ท่านที่ Supreme Leader แต่งตั้งเอง

อำนาจหน้าที่ของ Guardian Council คือ 1.มีอำนาจคว่ำกฎหมายที่ผ่านสภา 2.ควบคุมการเลือกตั้งทุกระดับ และ 3.เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบผู้สมัครทุกระดับในประเทศ….ทำให้อำนาจ (บ้าบอ) สว.เราที่เลือกนายกฯ ได้ ดูกระจอกไปเลย…

คงไม่ต้องสงสัยกันว่าผลการเลือกตั้งจะออกอย่างไร…แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกครั้งแรก หลังมีการชุมนุมใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถึงแม้ผลจะไม่ได้นำความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่มันสามารถวัดอารมณ์ประชาชนได้ระดับหนึ่ง

พวกเราจำการชุมนุมในอิหร่านได้ไหมครับ?

ทุกอย่างเริ่มจากการเสียชีวิตของ Mahsa Amini เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2022 Amini ถูกรวบจากกองกำลังพิเศษ Morality Police ที่มีหน้าที่ “รักษาศีลให้กับชาวอิหร่าน” Amini ถูกรวบเพราะฝืนกฎคุมศีรษะของผู้หญิง ทางการอิหร่านประกาศการเสียชีวิตของ Amini เกิดจากโรคดั้งเดิมที่เธอมีอยู่ แต่มีหลักฐานหลุดออกมาว่าเธอถูกซ้อมหนักจึงเสียชีวิต

ข่าวนี้ทำให้คนอิหร่านลุกฮือ แสดงพลังความไม่พอใจ ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย ทั้งคนสูงอายุ วัยกลางคน วัยรุ่น ออกมาชุมนุมกัน และปะทะกับกองกำลังที่จะรักษาความสงบ และการชุมนุมแพร่หลายไปทั่วโลกอีกต่างหาก มีการชุมนุมในสหรัฐ ในยุโรป โดยทุกคนพูดเสียงเดียวกันว่า พวกเราอยู่เคียงข้างผู้หญิงอิหร่าน และทุกคนต่อสู้เพื่อความกล้าหาญของ Mahsa Amini

เกือบ 2 ปีผ่านมา ในประเทศอิหร่านมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไหมครับ?

ผลการชุมนุมคือ ผู้ชุมนุมตายเป็นร้อย และติดคุกเป็นพัน ที่ติดคุกจำนวนไม่น้อย ยังติดคุกอยู่ และบางรายถูกลงโทษ ขั้นสูงสุดคือประหารชีวิต บรรยากาศสังคมและการเมืองในประเทศแย่กว่าและเข้มงวดกว่าเดิม พอสายตาชาวโลกหันไปมองเรื่องอื่นและลืมเรื่องอิหร่านนั้น ผู้มีอำนาจในประเทศยิ้มหวานครับ เพราะพอไม่ได้เป็นที่สนใจของคนนอก เขาจัดการตามวิธีเดิมของเขาเต็มที่ได้

ผมยอมรับว่าผมก็คนหนึ่งที่ลืมเรื่องการชุมนุมในอิหร่าน พอไม่เป็นข่าวก็เปรียบเสมือนเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้น และถ้าผมไม่ได้เจอข่าวการเลือกตั้งอิหร่าน ผมก็คงไม่นึกถึงการชุมนุมที่เคยเกิดขึ้น การชุมนุมที่ผมเคยสนใจ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Be Careful What You Wish For….Your Wishes May Come True

ปกติถ้าบอกว่า “รอดูผลอีก 9 เดือน” คงไม่ต้องอธิบายความหมายใช่ไหมครับ? แต่สำหรับแฟนๆ TikTok ในสหรัฐอเมริกา ความหมายจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Joe Biden ได้ลงนามอย่างเป็นทางการให้บริษัท Bytedance ขาย TikTok ในสหรัฐภายใน 9 เดือน หรือถ้าจะยืดเวลาออกไป

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา