๓ เฒ่า ๓ นิ้ว

ไปดูคนอดข้าวประท้วงกันหน่อย

วานนี้ที่ศาลอาญาคึกคักทีเดียว เพราะครบฝากขังครั้งที่  ๓ "ตะวัน" กับ "แฟรงค์"

บรรดาผู้ร่วมอุดมการณ์หวังว่าศาลจะให้ประกันตัวทั้งคู่  หลังมีการรายงานผลของการอดอาหารถี่ยิบแทบจะรายวันว่า เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

เมื่อพรรคก้าวไกล ถอยห่างออกไป นับแต่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแก้ไข ม.๑๑๒ โดยวิธีของพรรคก้าวไกลนั้นเป็นการ เซาะกร่อน บ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์ การขอประกันตัว นักเคลื่อนไหว ๓ นิ้วจึงเปลี่ยนมือ ไปยังผู้ปกครอง บ้างก็เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ

การปรากฏตัวของกลุ่มนายประกันกลุ่มใหม่ ซึ่งมาแทนที่พรรคก้าวไกล จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง

น่าจับตาทั้งการเปลี่ยนทิศทางของพรรคก้าวไกล และกลุ่มเฒ่าสามนิ้ว ที่ลุกจากหน้าคีย์บอร์ด ลงมาเคลื่อนไหวให้เห็นหน้าค่าตากันชัดๆ

สำหรับพรรคก้าวไกล เชื่อว่ามีหลายคน ขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ที่มีคำวินิจฉัย ให้พรรรคก้าวไกลได้อ้างอิง เพื่อการปลดล็อกอนาคตทางการเมืองของพรรค 

หมดประเด็น ม.๑๑๒ โอกาสร่วมรัฐบาลเปิดกว้าง!

ที่จริงในแง่อุดมการณ์ พรรคก้าวไกลไม่ควรถอยห่างจาก "ตะวัน-แฟรงค์" เพียงเพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะการยื่นประกันตัวผู้ต้องหา ม.๑๑๒ หรือ ม.๑๑๖ ในมุมมองของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระไม่ใช่หรือ

ฉะนั้นการถอยของพรรคก้าวไกล ก็เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง

มาที่นายประกันรุ่น ๒ เลิกแอบในโซเชียล เป็นตัวตั้งตัวตี ออกคำแถลงร้องขอให้ศาล ปล่อยตัว "ตะวัน-แฟรงค์"         

คือ ๓ เฒ่า ๓ นิ้ว

เฒ่าแรก ส. ศิวรักษ์

"....ข้าพเจ้าเนติบัณฑิตอังกฤษ จากสำนักเดอะมิดเดิล เทมเปิล ซึ่งเชื่อมั่นว่าโดยหลักแห่งนิติปรัชญา ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และบุคคลจะต้องมีสิทธิเสรีภาพความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน

การควบคุมกักขังที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องทำเพื่อป้องกันภยันอันตรายอื่นใดหรือการหลบหนีเท่านั้น ต้องมีการประกันอิสรภาพของบุคคลอย่างเคร่งครัด และจะตีความกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเป็นหลักไม่ได้

ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสองคน เป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาที่พนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องเป็นคดีต่อศาล และการต่อสู้ของเยาวชนสองคนนี้เห็นชัดว่าเป็นกรณีของการต่อสู้ทางความคิด

ไม่มีเหตุผลใด ทั้งทางมนุษยธรรมและทางหลักกฎหมายที่จะควบคุมขังเด็กไว้ตามคำร้องขอของรัฐ

ขอศาลได้ปลดปล่อยเด็กเหล่านี้ ตามอำนาจที่ศาลยุติธรรมมีอยู่ เพื่อให้เขามีสิทธิต่อสู้ทางความคิด และมีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ หากผิดก็ลงทัณฑ์ หากถูกก็ให้ยกฟ้อง และให้ปล่อยเด็กโดยทันที..."

เฒ่าที่สอง "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ"

"...เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาหลายยุคหลายสมัย เห็นความโหดร้ายในการปราบปรามประชาชนในการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเกิดขึ้นจากการที่มีผู้คนอ้างความเชื่อที่ถูกปลุกปั่นยุยงให้เข้าประหัตประหารเยาวชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์ว่าบ้านเมืองต้องมีกฎหมายเป็นหลัก ผู้คนต้องเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย อันเป็นเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์  บรรพตุลาการและรัฐบุรุษของพวกเราทั้งหลาย เพื่อให้การปกครองบ้านเมืองนั้น ใช้การปกครองในระบบกฎหมายเท่านั้นโดยปราศจากอคติทั้งปวง เมื่อเด็กทั้งสองคนนี้ยังคงเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา

จึงต้องใช้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ และต้องใช้หลักการความเป็นธรรมทางกฎหมายทั้งปวงที่มีอยู่ในมือ เพื่อใช้ดำรงหลักการและคุ้มครองบ้านเมืองให้สงบสุขต่อไป

จึงขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังเยาวชนทั้งสองตามคำขอของตำรวจและให้ปล่อยชั่วคราวไปตลอดเวลาในการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด..."

เฒ่าที่สาม "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"

"...ผมเป็นอดีตนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เติบโตมาในสมัยของเผด็จการถนอม-ประภาส ตลอดชีวิตที่ผ่านมาได้รับรู้และรับทราบรสชาติของการที่ประชาชนจะต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้เผด็จการเป็นอย่างดี         

รู้รสชาติของสภาวะที่อำนาจตุลาการตกอยู่ภายใต้การสั่งการของเผด็จการ รู้รสชาติของการถูกถอดถอนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติจากการมีความเห็นที่ไม่ตรงกับรัฐ

เชื่อว่าเด็กทั้งสองคนในคดีนี้ ไม่ควรได้รับสิ่งที่เคยได้รับรู้รับทราบ ไม่สมควรต้องได้รับรู้รสชาติเช่นตอนที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ซึ่งเห็นว่าไม่เคยได้รับโอกาสในการโต้แย้งใดๆ เมื่อเวลาผ่านมาตนเติบโตมีปริทัศน์ขึ้น อยากให้เด็กได้รับโอกาสนั้นและได้รับโอกาสที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เชื่อว่าเป็นหลักการทางกฎหมาย

ขอเรียนต่อศาลที่เคารพ แม้จะรับรู้รสชาติของภาวะที่อำนาจตุลาการตกอยู่ภายในการสั่งการของเผด็จการ แต่เชื่อว่าตุลาการในยุคใหม่ไม่ใช่เช่นนั้น เชื่อมั่นว่าตุลาการเป็นอิสระได้ สุดท้ายนี้เชื่อว่าการไม่รับฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวเด็กกลับไปสู่พ่อแม่ของเขา จะไม่ทำให้ประเทศไทยในพุทธศักราช ๒๕๖๗ ล่มจมล่มสลายแต่ประการใด

จึงขอให้ท่านไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไป และหากมีการรับฝากขังจองจำผู้ต้องหาทั้งสองนี้ไว้ ก็ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราว พิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวเยาวชนทั้งสองและเป็นหลักประกันความยุติธรรมให้ผู้บริสุทธิ์ทั้งหลายด้วย..."

ขอถามคำถามสั้นๆ ไปยัง ๓ เฒ่า

หากพวกท่านเป็นผู้พิพากษา แล้วต้องมีคำสั่งกับผู้ต้องหาที่ทำผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัวซ้ำซาก ท่านจะสั่งอย่างไร

ให้ประกันตัวไปทำความผิดเดิมซ้ำๆ

หรือไม่ให้ประกันตัวเพื่อให้อยู่ในบรรทัดฐานที่ควรจะเป็น

จะจบจากสำนักเดอะมิดเดิล เทมเปิล 

จะเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย

จะเคยเป็นศิลปินแห่งชาติ

จะเคยสู้กับถนอม ประภาส

ก็ไม่มีผลให้ผู้ต้องหาที่ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวซ้ำซากได้รับการประกันตัวเลย

มันต้องไปดูที่มูลเหตุว่าเกิดจากอะไร

การที่ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี" บอกว่า “คิดว่าเขาคงไม่ทราบว่าข้างหน้าเกิดอะไรขึ้น หรือมีขบวนเสด็จฯ สิ่งที่เรารับทราบโดยทั่วไปก็คือว่ามีปัญหากับเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเอารถมาขวางกั้น เชื่อว่าคงไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น”

บัดซบครับ!

เด็กอัดคลิปเองยอมรับเอง รู้ว่าเป็นขบวนเสด็จฯ แล้วจะมาบิดเบือนประเด็นเพื่ออะไร

ครับ...เห็นความพยายามที่จะกระจายข่าวอาการของ "ตะวัน-แฟรงค์" เป็นระยะๆ อยากรู้ว่าเจตนาที่แท้จริงในการอดข้าวประท้วงคืออะไร

ไม่แน่ใจว่าอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม

หรืออดอาหารต่อรองให้ตัวเองได้พ้นคุก

เพราะหากอดอาหารเพื่ออุดมการณ์อันกล้าแกร่ง ต่อให้ได้ประกันตัว ก็ต้องอดอาหารต่อไป ไม่ใช่หรือ

ฉะนั้นเลิกเสียเถอะ กับการเอาอาการของ "ตะวัน-แฟรงค์" อ้างว่าปางตาย มาต่อรองกับศาล

มันน่าละอาย!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ