ยุบพรรค-ล้มล้าง

คำพูดสะท้อนแนวคิด

วานนี้ (๑๓ มีนาคม) "ชัยธวัช ตุลาธน" เผยตัวตนที่แท้จริง ว่ามีแนวความคิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์

สืบเนื่องมาจากการที่ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยอ้างอิง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดี แก้ ม.๑๑๒ ล้มล้างการปกครอง

คำพูดของ "ชัยธวัช" ทำให้ต้องระวังพรรคก้าวไกลมากขึ้น 

"...ซ้ำร้ายการยุบพรรคการเมืองโดยอ้างเหตุผลเรื่องการล้มล้างการปกครอง การเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน อาจจะเป็นเรื่องที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ในด้านกลับก็ได้ เพราะยิ่งดึงประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น เรื่องนี้ต้องระมัดระวัง..."

ใช่ครับต้องระวัง!

จุดเริ่มต้นของการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเป็นฝีมือใคร?

"ชัยธวัช" และพรรคก้าวไกล มีเป้าหมายอะไรในการแก้ ม.๑๑๒

ตอบให้ตรงประเด็นได้หรือไม่?

เพราะคำตอบนี้ เกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง 

สิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่กล้าพูดตรงๆ แต่แนวร่วม ด้อมส้ม ด้อมเฒ่า นั้นมีพฤติกรรมเซาะกร่อนบ่อนทำลาย อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เช่นการแสดงความเห็นในโซเชียลของ "สุชาติ สวัสดิ์ศรี"  สะท้อนสิ่งที่คิดอย่างชัดเจน

"...อะนิเมชั่นเรื่อง '2475 Dawn of Revolution' มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าไม่ต้องห่วงเรื่อง ม.๑๑๒ แก่นแกนที่ปรากฏคงอาจจะแตกต่างออกไป..."

หมายความว่าอย่างไร?

เพราะมี ม.๑๑๒ บังคับใช้อยู่ แก่นแกนการเล่าเรื่องจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างนั้นหรือ

ปี ๒๔๗๕ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายถูกกระทำต่างหาก

ฉะนั้นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง สำหรับ ม.๑๑๒ แล้วแทบไม่มีผลอะไรเลย  

ไม่มีเรื่องราวตอนใดที่อ้างถึงแล้วเสี่ยงต่อการทำผิด ม.๑๑๒

เว้นเสียแต่ว่าพูดเรื่องเท็จ!

ประกาศหลายๆ ฉบับของคณะราษฎร โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง

เช่นประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ที่หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านท่ามกลางการชุมนุมของทหารบก ทหารเรือ และราษฎรเพื่อแจ้งให้ทราบ เรื่องการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

 “...ราษฎรทั้งหลาย เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในขั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองให้ราษฎรได้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายตามเดิม...

เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเมืองที่ได้รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังกันตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภาได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิด ดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นคณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้ขออัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไปแต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้...”

บันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ปรากฏความตอนหนึ่งว่า

....."ถ้าเราจะรบโดยใช้ทหารหัวเมืองหรือ นั่นเป็นของแน่ที่เราอาจทำได้ แต่ฉันไม่ยินยอมเลยแม้แต่ชั่วขณะเดียว เพราะเจ้านายในกรุงเทพฯ อาจจะถูกฆ่าหมด

ฉันรู้สึกว่าฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ฯ แนะนำตลอดเวลาให้ยินยอมกลับกรุงเทพฯ และช่วยคณะราษฎรจัดตั้งการปกครอง โดยมีกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นของที่ฉันเคยอยากจะทำมานานแล้ว แต่ว่าฉันเสียขวัญ"....

ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น คณะผู้ก่อการได้จับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อภิรัฐมนตรี, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรี, พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก, พลตรี หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พลเอก พระวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ)  ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย  (สวัสดิ์ บุนนาค) เสนาธิการทหารบก เป็นต้น

และเมื่อคณะราษฎรได้ตัวประกันคนสำคัญมาครบ จึงได้ออกประกาศว่า

"ด้วยบัดนี้ คณะราษฎรได้จับพระบรมวงศานุวงศ์มาไว้เป็นประกันแล้ว ถ้าผู้ใดขัดขวางคณะราษฎร ผู้นั้นจะต้องถูกลงโทษ และพระบรมวงศานุวงศ์จะต้องถูกทำร้ายด้วย"

นี่คือเรื่องจริงที่สามารถเล่าได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะตกเป็นจำเลยคดี ม.๑๑๒

เพียงแต่อาจมีบางคนนึกโกรธคณะราษฎรที่ไม่ไปให้สุดทาง

คือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ 

จึงอาจต้องการเล่าเรื่องในมุมที่ต่างออกไป

แต่ปัจจุบันมี ม.๑๑๒ คุ้มครองกรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่ ตัวการใหญ่จึงเอาแต่ยุเด็กอยู่ข้างหลัง

ปล่อยเด็กติดคุกแทน

กลับมาที่ "ชัยธวัช"

อย่าเข้าใจผิด!

การยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการเมือง

แต่เป็นการลงโทษพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย

ปัญหาการเมือง จะได้รับการแก้ไขก็ต่อเมื่อ นักการเมือง และพรรคการเมือง ไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมาย ทำลายความมั่้นคงของประเทศ

การที่ "ชัยธวัช" พูดถึงการเซาะกร่อนบ่อนทำลายในมุมกลับ ว่าอาจเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

พูดง่ายๆ คือ "ชัยธวัช" บอกว่า การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน คือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่

อดีตบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน วันๆ พูดเรื่องอะไร ก็เป็นที่รับรู้กันอยู่ 

ไม่มีหรอกครับมุมกลับ

ขณะนี้มีอยู่มุมเดียวคือ กลุ่มคนและพรรคการเมือง ต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

และการแก้ไขหรือยกเลิก ม.๑๑๒ คือการเปิดทางไปสู่เป้าหมายนั้นได้ง่ายขึ้น โดยที่บรรดาหัวโจก ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดคุกติดตะราง

การยุบพรรคไม่ควรเกิดขึ้น

เช่นเดียวกัน พรรคการเมืองที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ควรมี.

              

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ