๕ ปีวันคล้ายวันสวรรคต

วันนี้ (๑๓ ตุลาคม) ครบรอบ ๕ ปี วันคล้ายวันสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙
    ย้อนกลับไป ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เสด็จออกมหาสมาคมนอกพระนครครั้งแรก 
    และนับเป็นการเสด็จออกมหาสมาคมครั้งสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์
    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสแก่ปวงชนชาวไทยในการพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ในศุภวารมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ ท้องพระโรง ศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
    

ขอขอบพระทัย และขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิต พรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิด รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาโดยประการต่างๆ ข้าพเจ้าขอแสดงสนองพร และไมตรีจิตทั้งนั้น ด้วยใจจริงเช่นกัน

บ้านเมืองของเราเป็นสุขสืบมาช้านาน เพราะเรามีความปึกแผ่นในชาติ และต่างบำเพ็ญกรณียกิจตามหน้าที่ให้สอดคล้องเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ของชาติ 

คนไทยทุกคนจึงควรจะตระหนักในข้อนี้ให้มาก และตั้งใจประพฤติตัวปฏิบัติงานให้สมฐานะและหน้าที่ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวม คือ ความมั่นคงปลอดภัยของชาติบ้านเมืองไทย

ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านทุกคน ให้มีแต่ความผาสุก ร่มเย็นตลอดไป”

หลังจากนั้นวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมีพระอาการไข้ 

ตลอดระยะเวลาที่ประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ พระอาการประชวรได้ดีขึ้นแลทรุดลงเป็นครั้งคราว 

โดยพระราชกรณียกิจครั้งสุดท้ายของพระองค์ คือ การพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้พิพากษาประจำศาลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

และการปรากฏพระองค์ครั้งสุดท้าย คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙

จากนั้นพระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา  ๑๕.๕๒ น. 
    สิริพระชนมพรรษา ๘๘ ปี ๓๑๓ วัน 
    ทรงครองราชย์ ๗๐ ปี ๑๒๖ วัน
    ครับ...คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ยังไม่ลืม 
    และระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ 
    แต่ก็มีคนไทยจำนวนหนึ่ง ปลุกขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมา 
    ขบวนการนี้เคลื่อนไหวผ่านพรรคการเมือง ผ่านมวลชน โดยใช้สื่อโซเชียล บิดเบือนข้อมูล
    ชุดข้อมูลเดิมถูกทำให้ผิดเพี้ยน โดยนักการเมือง และนักวิชาการ ที่คั่งแค้นสถาบันพระมหากษัตริย์มานานหลายสิบปี
    อาศัยชุดข้อมูลใหม่ที่เพิ่งจะแต่งเติมช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ปั่นหัวคนรุ่นใหม่ 
    และได้ผล...เพราะถูกนำไปผสมโรงกับความไม่พอใจทางการเมือง บวกกับความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่เดิม  ประชาชนแบ่งเป็นเสื้อสี พรรคการเมืองแบ่งเป็นขั้ว
    นั่นคือความเปราะบางของสังคมไทย 
    ฉะนั้นการเติมด้วยข้อมูลเท็จจึงไม่ใช่เรื่องยาก 
    จะเห็นได้ว่าเดือนตุลาคมปีนี้ มีการแต่งข้อมูลใหม่ๆ ขึ้นและเผยแพร่ในสื่อโซเชียล เพื่อโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ
    หรือแม้กระทั่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับในหลวง ร.๙ เช่นโครงการหลวง โครงการพระราชดำริ ซึ่งคนในพื้นที่โครงการรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่กลับมีการบิดเบือนพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ
    ที่สำคัญ มีคนเชื่อโดยตั้งใจ และไม่ตรวจสอบข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น 
    ครับ ๑๔ ตุลา ก็จะมีชุดข้อมูลบิดเบือนออกมาอีกเป็นระลอก หลังใช้ข้อมูลเท็จอธิบายเหตุการณ์ ๖ ตุลา ไปแล้ว 
    นักวิชาการรุ่นใหม่ ฟังนักวิชาการรุ่นเก่าที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันฯ แล้วตีความเหตุการณ์ใหม่ นำเสนอไปสู่คนรุ่นใหม่ เข้ารกเข้าพงไปอย่างตั้งใจ 
    ๔ ปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์เดินได้ในขณะนั้น คือ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร พูดในวันครบรอบ ๔๔ ปีเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ 
    เป็นการพูดที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา
    คำพูดของ พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ในฐานะนายตำรวจราชสำนักประจำ ยังตรึงความคิดผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้  แม้ท่านจะจากไปแล้ว เมื่อปี ๒๕๖๑ 

 ....วันที่ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ผมมีตำแหน่งเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำ หน้าที่ของผมไม่ได้เกี่ยวกับการบ้านการเมือง แต่เกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมพระราชินีนาถ  และพระบรมวงศานุวงศ์

 แต่ท่านก็คงจะทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเลี่ยงการเมืองไม่พ้น เพราะเหตุว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ และเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามปกติ บังคับหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตอนเที่ยงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ผมได้รับคำสั่งให้ไปคอยรับผู้แทนของนิสิตนักศึกษาที่จะเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัว ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นว่าพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฝ้าฯ

ผมก็ไปคอยรับผู้แทนนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ที่ประตูพระวรุณอยู่เจน ผมคอยอยู่ตั้งแต่เที่ยงจนบ่ายสองโมงจึงมีผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาถึงที่ประตู แต่ปรากฏว่ามายังไม่ครบ ต้องรอจนถึงบ่ายสี่โมงถึงได้มากันครบ แต่ขาดไปคนหนึ่ง ที่ขาดไปคือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ผมก็นำผู้ที่มาแล้วไปที่ศาลาดุสิดาลัย คอยอยู่จนกระทั่ง  ๑๗.๓๐ น. พระเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จลง ตอนเสด็จลงผมไม่ได้อยู่ที่ศาลาดุสิดาลัยด้วย ผมจึงไม่ทราบว่ารับสั่งว่าอะไรบ้าง  แต่มารู้ทีหลังว่าเขาเฝ้าฯ กันอยู่จนเกือบสองทุ่มจึงกลับออกมา 

แต่ระหว่างที่อยู่ในวังกำลังจะออกจากสวนจิตรลดานั้น  ผมก็ได้ยินผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในวังปรารภขึ้นบอกว่า เราถูกหักหลังเสียแล้ว

ผมก็ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า เขาก็บอกว่าคุณเสกสรรค์ซึ่งไม่ได้เข้าประชุมด้วย แล้วเป็นผู้ที่คุมการชุมนุมอยู่ข้างนอกได้ทำผิดข้อตกลงที่จะไม่เคลื่อนกำลังจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาที่ลานพระราชวังดุสิต เพราะกังวลว่าถ้ามาถึงตรงนั้นแล้วอาจจะเลยมาถึงวังสวนจิตรลดา ซึ่งเขาไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้น

เมื่อพูดกันไม่รู้เรื่องและทำท่าว่าเหตุการณ์เริ่มไม่สงบ ผู้แทนนิสิตนักศึกษาก็ไม่ยอมออกจากวัง ผมก็ต้องรับหน้าที่ออกไปตามหาตัวคุณเสกสรรค์ให้เข้ามาในวัง

เนื่องจากมันนานมาแล้ว อาจจะนึกไม่ออก แต่ผมจำได้ว่าผมใช้รถตำรวจของกองปราบปราม แล้วพาผู้แทนนิสิตนักศึกษาขึ้นรถโฟล์กตู้เพื่อจะไปรับคุณเสกสรรค์ ที่หมายของเราคือลานพระราชวังดุสิต หวังว่าจะไปเจอคุณเสกสรรค์ที่นั่น

ไปถึงแล้วขบวนรถหลุด ตามกันไม่ทัน คนมันเยอะเหลือเกิน รถตำรวจที่ผมนั่งอยู่ไม่ทันรถตู้ที่ผู้แทนนิสิตนักศึกษานั่งมาด้วย เมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ การติดต่อลำบากมาก  วิธีการหาตัวคุณเสกสรรค์คือต้องไปหาโทรศัพท์บ้านที่อยู่ใกล้เคียงหรือในวัด แล้วโทรไปอีกเครื่องที่เดาว่าอยู่ใกล้ตัวคุณเสกสรรค์ ลงท้ายหลังจากที่ทุลักทุเลกันอยู่เราก็ได้ตัวคุณเสกสรรค์เข้ามาในวัง

คุณเสกสรรค์ในขณะนั้นเนื่องจากพูดปราศรัยติดต่อกันมา ๗ วัน ๗ คืน พูดเกือบไม่รู้เรื่อง เข้ามาถึงในวังแล้วเขาก็พบกันกับคุณธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายที่เข้าใจกันผิด ทั้งสองคนเถียงกันโดยมีผมคอยตะแคงหูฟังว่าเขาพูดอะไรกัน

เมื่อรู้ว่าเขาเข้าใจผิดเรื่องไหน เราซึ่งรู้เหตุการณ์ที่แท้จริงก็เป็นคนชี้แจงให้เข้าใจ คุณเสกสรรค์ป่วยมากถึงขนาดต้องให้หมอหลวงมาดูอาการ แล้วฉีดยาให้ ลงท้ายเขาก็พูดกันรู้เรื่อง  แต่ในขณะที่เขาพูดกันรู้เรื่อง ข้างนอกไม่รู้เรื่อง

นิสิตที่อยู่ข้างนอกที่มีคนมากระซิบว่าเขาจัดการคน  (นิสิตนักศึกษา) ในวังหมดแล้วคือคุณพีรพล ตริยะเกษม

เพราะข่าวนี้เองทำให้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเคลื่อนมาที่หน้าประตูพระวรุณอยู่เจนที่สวนจิตรลดา  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนแสนมาชุมนุมกันอยู่ที่หน้าวัง

พอเป็นอย่างนั้นผมก็ขอร้องพวกที่อยู่ในวังที่พูดกันรู้เรื่องแล้วให้ไปเจรจากับคนที่อยู่ข้างนอกหน่อยว่าบัดนี้อะไรๆ ก็เรียบร้อยหมดแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาว่ารัฐบาลยอมปล่อยผู้ต้องหาทั้ง ๑๓ คนแล้ว แล้วก็ปล่อยตัวแล้ว นอกจากจะปล่อยแล้วยังมีข้อตกลงระว่างฝ่ายรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังเป็นลายลักษณ์อักษร และจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน ๒๐  เดือน แทนที่จะเป็น ๓ ปีตามที่รัฐบาลเคยบอก

เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนิสิตไปชี้แจง ผู้แทนนิสิตบอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ อยากได้คนในวังไปด้วย ตอนนั้นคนในวังที่เป็นผู้ใหญ่มี ๓ คน คนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนคือพันเอก เทียนชัย จั่นมุกดา (ยศในเวลานั้น)  แล้วก็มีผม

เราก็ถามว่ามี ๓ คน เลือกเอาว่าจะเอาใครไป    คุณเสกสรรค์ชี้ว่าเอาพี่ ก็คือผม ที่เอาผมก็เพราะผมเคยเป็นนิสิตจุฬาฯ และผมเขียนหนังสือขาย เป็นดาราทีวีด้วย 

ผมก็ทิ้งปืน ทิ้งวิทยุไว้ในวัง ออกไปแต่ตัว คนที่พาผมออกไปยังที่ชุมนุมก็คืออาจารย์สมบัติ ธํารงธัญวงศ์

เวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวคันไม่ใหญ่นัก ใช้หลังคาเป็นที่ยืนพูด ผมก็ปีนขึ้นไปบนหลังคารถกับอาจารย์สมบัติ พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ผมก็อัญเชิญพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่สำนักพระราชวังเขาบันทึกไว้ แล้วขึ้นไปอ่านให้ที่ชุมนุมฟัง

ผมก็ขึ้นไปอ่านพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัว รายละเอียดเรื่องทั้งหมดอยู่ในหนังสือชื่อ เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์ พิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๑๖

ผมก็อ่านสำเนาพระราชดำรัสและแถมท้ายว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งแบบนี้ เหตุการณ์ยุติลงแล้ว ผมเห็นว่าพวกเราสมควรยุติการชุมนุมและกลับบ้านกันได้

ผมบอกว่าพระเจ้าอยู่หัวของท่านทั้งหลายไม่ได้บรรทมมา ๗ วัน ๗ คืนแล้ว เพราะเป็นห่วง รอฟังสถานการณ์บ้านเมือง พอผมพูดจบ ที่ประชุมก็ปรบมือกัน ใครก็ไม่ทราบเป็นต้นเสียงให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีพร้อมๆ กัน คนแสนคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกระหึ่มหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ผมคุกเข่าลงร้องไห้ด้วยความปีติ

จากความปีติอยู่ได้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง ผมกำลังปีนกลับลงจากหลังคารถสองแถว ได้ยินเสียงระเบิดตูมขึ้นทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นนักเรียนอาชีวะคนหนึ่งพกระเบิดขวดในกระเป๋าแล้วระเบิดโดยอุบัติเหตุ ทีแรกได้ยินเสียงระเบิดก็ใจหายเลย นึกว่าจะเป็นสมรภูมิที่หน้าวัง แต่พอรู้ว่าเป็นแค่นั้นก็คิดว่าคงไม่มีอะไรมากกว่านั้น

แต่ต่อมาอีกสักประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงตูม ตูม คราวนี้ไม่ใช่ระเบิดขวด แต่เป็นเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตอนผู้ชุมนุมกำลังจะกลับโดยแยกย้ายกันเดินออกไปทุกทิศ

ผู้ที่ประสบเหตุปะทะกับตำรวจนั้นคือผู้ที่เดินกลับจากวังไปทางถนนราชวิถี

ผมมาทราบทีหลังว่าที่เกิดปะทะกันขึ้น เพราะตำรวจได้รับคำสั่งว่าให้ปิดทางไม่ให้ประชาชนผ่านทางนั้น

ผู้ที่สั่งไม่ให้ประชาชนกลับบ้านจนเป็นเหตุให้ปะทะกันขึ้นคือ พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร ขณะนั้นท่านเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ผู้รับคำสั่งคือ พ.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น  (ยศในเวลานั้น) ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต่อมาท่านได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

พอเกิดการตีกันขึ้นก็เกิดข่าวปากต่อปากแจ้งว่าตำรวจฆ่านิสิตนักศึกษาที่หน้าวัง เท่านั้นเองการจลาจลก็กระจายออกไปทั่วกรุงเทพฯ นี่คือที่มาของมหาวิปโยคที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖...

ครับ...นี่คือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรเสพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ง่ายๆ แค่เลิกโกง

อาจถึงขั้นเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลกันเลยทีเดียวครับ... หากพรรคเพื่อไทย จะเอาให้ได้ กับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ด้วยการจับยัดเข้าสภาฯ ก็สามารถยึดอำนาจกองทัพได้สำเร็จครับ

หรืออยากฟังเพลงมาร์ช

เขาว่าเป็นร่างกฎหมายป้องกันรัฐประหาร ข่าววานนี้ (๖ ธันวาคม) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เผยแพร่การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...)

รัฐบาลถังแตก?

ตกใจกันทั้งประเทศ...! วันอังคาร (๓ ธันวาคม) ที่ผ่านมา "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business กล่าวในหัวข้อ "Financial Policies for Sustainable Economy" แนวทางในการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ๓ ข้อ

รัฐประหาร?

ประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่คนละระบอบ ฉะนั้นเบื้องต้นต้องเข้าใจระบอบการปกครองของเกาหลีใต้ ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้เอาอย่างไทย