จีนกับบทบาทผู้ไกล่เกลี่ย ในสงครามกลางเมืองพม่า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวทางของจีนต่อสงครามกลางเมืองพม่าถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของตนเอง          

หนึ่งในนั้นคือ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซที่พาดผ่านพม่า จากยะไข่ไปจนถึงตอนเหนือของรัฐฉาน

หากด้วยเหตุผลใดก็ตามที่จะทำให้เกิดการชะงักงันของการทำงานของท่อน้ำมันและก๊าซ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจในจีน             

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผลกระทบของสงครามในพม่าต่อการค้าชายแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประชากรบริเวณดังกล่าว

การค้าชายแดนมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี (กว่า 170,000 ล้านบาท)

และสงครามช่วงหลังที่ฝ่ายต่อต้านสามารถยึดครองที่ตั้งทางทหารของกองทัพพม่าหลายจุด ตรงบริเวณชายแดนตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็ทำให้การค้าชายแดนหยุดชะงักไปอย่างมีนัยสำคัญ

ประการที่สาม จีนต้องการจะปกปักรักษาเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยูในรัฐยะไข่

ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระดับโลก หรือ Belt and  Road Initiative (BRI)

จีนเชื่อว่ารัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านอาจไม่สามารถทำลายอีกฝ่ายหนึ่งอย่างราบคาบได้

นั่นแปลว่าการสู้รบจะยืดเยื้อ

ยิ่งการสู้รบถูกลากยาวไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน

ดังนั้น จีนจึงพยายามจะเล่นบทกาวใจให้มีการเจรจา อย่างน้อยก็ให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อจำกัดความเสียหาย

ปักกิ่งประเมินแล้วว่า แม้ระบอบการปกครองของทหารภายใต้มิน อ่อง หล่าย จะดูอ่อนแอลงไปมาก แต่ก็ยังไม่ถึงกับล่มสลายในระยะอันสั้นนี้

ที่น่าสนใจคือ มุมมองเดียวกันนี้ก็เป็นของสหรัฐฯ  พันธมิตรตะวันตก และเพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างไทย,  อินเดีย, บังกลาเทศ และ สปป.ลาวด้วย

ประเทศเพื่อนบ้านย่อมไม่ต้องการเห็นความไร้เสถียรภาพตรงชายแดน

และไม่อยากเห็นการค้าชายแดนหดตัวลง

ที่สำคัญคือ ไม่ต้องการเห็นภาพผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้ามาเพราะความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น

สาเหตุล่าสุดเพราะกองทัพพม่าประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร

หลายประเทศในภูมิภาคสนับสนุนบทบาทไกล่เกลี่ยของจีนที่ไม่โฉ่งฉ่างนัก

แกนนำของรัฐบาลทหารพม่าออกมาเตือนประชาคมระหว่างประเทศอยู่เสมอว่าอย่าแทรกแซงกิจการภายในของตน

แม้บางครั้งก็ยังชี้นิ้วกล่าวหาว่าอาเซียนพยายามจะก้าวก่ายเรื่องภายใน

แต่พอจีน “เบ่งกล้าม” ขึ้นมาบ้าง มิน อ่อง หล่าย ไม่กล้าหือเพราะจีนถือเป็น “พี่ใหญ่ทางเหนือ” ที่มีทั้งอำนาจและบารมี

อีกทั้งเป็นที่รู้กันว่า จีนกำลังช่วยทั้งฝ่ายต่อต้านโดยเฉพาะกลุ่มโกกั้งและฝ่ายกองทัพ

เพราะปักกิ่งต้องการรักษา "ดุลแห่งอำนาจ" ในพม่าเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อตนเอง

จีนมีความเชื่อว่า จะให้ระบอบทหารเมียนมาล่มสลายไม่ได้เพราะจะทำเกิดความสับสนอลหม่าน ยิ่งจะทำให้วิกฤตที่มีอยู่เลวร้ายลงไปอีก

และในสถานการณ์เช่นนั้น ผลประโยชน์ของจีนก็จะยิ่งถูกกระทบหนักขึ้นอีก

แต่ขณะเดียวกัน จีนก็เห็นว่ากลุ่มต่อต้านเริ่มจะมีอิทธิฤทธิ์มากขึ้น หากไม่คบหาเอาไว้อาจจะไม่ปลอดภัยสำหรับจีน

เพราะจีนรู้ดีว่า อย่างไรเสียกองทัพพม่าก็ไม่สามารถจะปราบปรามกลุ่มต่อต้านติดอาวุธทั้งหลายให้หมดไปได้

ปักกิ่งผลักดันให้มีการหยุดยิง ในขณะที่กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพกำลังเตรียมโจมตีเมืองลาเสี้ยว ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลทหาร

หากมีการหยุดยิงแม้แต่เพียงระยะสั้นๆ ก็จะเป็นการเปิด “พื้นที่หายใจ” สำหรับทหารที่ตกอยู่ในภาวะเพลี่ยงพล้ำ ที่ต้องสูญเสียดินแดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

บางสำนักข่าวบอกว่าจีนกำลังผลักดันให้รัฐบาลพม่าเจรจากับนางอองซาน ซูจี และผู้นำคนอื่นๆ ของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นในการรัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน

และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องหานายทหารมาแทนที่มิน อ่อง หล่าย

ซึ่งน่าจะเป็นนายพลสายกลางที่พอจะพูดจากับกลุ่มต่อต้านอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น

เพราะจีนและหลายฝ่ายเชื่อว่ามิน อ่อง หล่าย อาจจะมีจุดยืนแข็งกร้าวเกินกว่าที่จะช่วยหาทางออกจากวิกฤตที่ยืดเยื้อนี้

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับเปลี่ยนระดับนำของกองทัพในจังหวะนี้

โดยเฉพาะขณะที่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติการปราบปรามแก๊งหลอกลวงที่ชายแดน ซึ่งเป็นหนามยอกอกปักกิ่งอยู่ขณะนี้

ข่าวบางกระแสบอกว่า จีนมีการเชื่อมต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) 7 องค์กรตามชายแดนของตน

ขณะเดียวกันก็เพิ่มการติดต่อกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และ PDF ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธของรัฐบาลคู่ขนาน

ข่าวบอกด้วยว่าปักกิ่งกำลังเชิญ NUG ให้เปิดสำนักงานในจีนเมื่อต้นปีนี้ที่

แน่นอนว่า กองกำลังต่อต้านจะต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาดในการเจรจาเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนกับทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายกองทัพพม่า

ค่อนข้างจะชัดเจนว่า จีนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการภายในของเมียนมามากขึ้น นับตั้งแต่กลับมามีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารอีกครั้งในปลายปีที่แล้ว

การเจรจาที่คุนหมิงซึ่งมีจีนเป็นคนกลาง กำลังส่งผลกระทบต่อการเมืองของพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะตัวละครหลักของสงครามกลางเมืองพม่า จะไม่ยอมให้การสู้รบดำเนินต่อไปอย่างไร้ความหวังที่จะหาทางสงบศึก

แต่เมื่อไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะกำหนดทิศทางที่แน่นอนได้ เราคงจะต้องหวังว่าประเทศไทยจะทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งหลายที่จะแสวงหาสูตรที่จะตอบโจทย์ของทุกฝ่ายได้

นั่นคือการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

ซึ่งเป็นงาน “ยากแสนยาก” เพราะความซับซ้อนของปัญหา

แต่เพราะมันยาก เราจึงต้องยิ่งทุ่มเทสรรพกำลังมากขึ้น!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร